ฟังกูรูเรื่องน้ำฟันธง ‘น้ำท่วม ปี 64’ จะไม่ซ้ำรอยปี 54 พร้อมแนะทุกเรื่องที่ต้องรู้ รับมือ ‘อุทกภัย’ ฉบับอัปเดต

Loading

เชื่อว่าในตอนนี้ นอกเหนือจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ยังคงน่าเป็นห่วงแล้ว ภาพข่าวที่ปรากฎในทุกสื่อเกี่ยวกับ ภัยพิบัติ ‘น้ำท่วม ปี 64’ ก็กำลังสร้างความกังวลใจให้ชาวไทยทั้งประเทศไม่แพ้กัน เพราะภาพจำและความเลวร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อครั้ง ‘น้ำท่วม ปี 54’ ยังคงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน จนสร้างความกังวลใจว่า อุทกภัย ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้จะซ้ำรอยมหาอุทกภัย ปี 54 หรือไม่

เพื่อคลายข้อสงสัยและความกังวลของประชาชนชาวไทย แฟนเพจ มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้เผยแพร่บทความวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในปี 64 เทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 54 โดยได้รวบรวมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านการจัดการ อุทกภัย ในประเทศไทย มาย้ำความมั่นใจว่า ‘น้ำท่วม ปี 64’ จะไม่ซ้ำรอย ‘น้ำท่วม ปี 54’ แน่นอน พร้อมแชร์วิธีการรับมือมวลน้ำรอบด้านแบบไม่ประมาทให้ด้วย

ฟังคำยืนยันจาก มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ‘น้ำท่วม ปี 64’ จะไม่ซ้ำรอยปี 54 แน่นอน

เหตุการณ์น้ำท่วม ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้เกิดกระแสว่า จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ ซ้ำรอยปี 54 เกิดความวิตกกังวลในวงกว้าง

มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในฐานะองค์เผยแพร่ข้อมูลความคิดเห็น เพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลล่วงเพื่อนำไปเป็นแนวทางการเตรียมการและบริหารความเสี่ยงล่วงหน้าในฐานะ “สภาเตือนภัย”

เริ่มต้นจาก ปราโมทย์ ไม้กลัด รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ที่ให้ความเห็นว่า

“ทั้งข้อมูลปริมาณฝน ปริมาณน้ำกักเก็บ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ในขณะนี้มีน้อยหากเปรียบเทียบกับในห้วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 54 จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดน้ำท่วมในกทม. ครั้งใหญ่เช่นปี 54”

ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าขณะนี้แม้จะมีกรณีน้ำท่วมเกิดขึ้นในหลายจังหวัด แต่โอกาสน้ำท่วมกทม.เหมือนปี 54 มีโอกาสเป็นไปได้น้อย เว้นแต่จะมีน้ำระบายไม่ทันทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน”

ด้าน ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. มองว่า

“ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ในปี 2554 เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ มีน้ำเต็มความจุ 22,000 ล้าน.ลบ.ม. แต่ขณะมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณครึ่งเดียว หากมีพายุเข้ามาทั้ง 2 เขื่อนยังดักน้ำได้อีกมาก แม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังอยู่ในระดับต่ำ และมีการสร้างคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น คิดว่าปีนี้ จะไม่เกิดน้ำท่วมกทม. เหมือนปี 54 แน่นอน”

ดร.ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ฟันธงและยืนยันด้วยข้อมูลทางสถิติเพื่อตอบคำถามเป็ฯคนสุดท้ายว่า น้ำจะท่วมเหมือนปี 2554 ไหม?

“ปี 54 กราฟน้ำท่วมมีฐานกว้างมากจึงทำให้มีน้ำเติมเข้าทุ่งเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมากและนาน จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่ ในขณะที่ปีนี้อีกไม่นาน (คาดว่า 1-3 สัปดาห์) อัตราการไหลที่นครสวรรค์จะคงที่และเริ่มลดลงเนื่องจากฝนจะลดลงในช่วงอาทิตย์ข้างหน้าทำให้มีน้ำเติมลงมาน้อยกว่าเดิมนั่นเอง”

“สำหรับน้ำที่ไหลลงมาตอนนี้ เกือบ 2,500 ลบ.ม./วินาที ในวันนี้ ส่วนใหญ่จะระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายน้ำ และทุกคนรู้ว่าคอขวดการไหลอยู่ที่อยุธยาซึ่งรับน้ำได้ประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที หลายคนจะบอกว่าน้ำลงมา 2,500 อยุธยารับได้ 1,200 อย่างนี้ท่วมแน่ๆ แต่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น”

“แม่น้ำเจ้าพระยาท้ายเขื่อนชัยนาท จะมีคลองลพบุรีและคลองบางแก้วรับน้ำออกทางฝั่งซ้าย และมีคลองโผงเผงและคลองบางบาลรับน้ำออกทางฝั่งขวา รวมความสามารถ 818 ลบ.ม./วินาที แต่ด้วยสภาพพื้นที่ลุ่มต่ำแถวๆ บางบาล ทำให้มีน้ำท่วมขังเปรียบเสมือนแก้มลิงธรรมชาติก่อนที่จะไหลลงมาที่อยุธยา และน้ำจากคลองต่างๆ เหล่านี้รวมกับแม่น้ำป่าสักจะไหลลงมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านใต้ของอยุธยา ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บางไทรลงมา จะสามารถรับน้ำได้ถึง 3,500 ลบ.ม./วินาที”

“ดังนั้น น้ำที่ลงมาในปีนี้จนถึงวันนี้ จึงไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด และถ้ามีฝนตกลงมาอีกในเดือนหน้า ก็จะคาดหมายได้ว่าน่าจะลงมาในบริเวณทุ่งเจ้าพระยาตอนกลางและตอนล่าง ซึ่งน้ำที่เกิดจากน้ำฝนบริเวณนี้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นบางพื้นที่ในส่วนที่มีฝนตกหนักมาก แต่จากสภาพพื้นที่ที่ราบมาก น้ำจะไม่ไหลบ่าอย่างรุนแรง และจะค่อยๆ ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหากับพื้นที่ตอนล่างเท่าใด”

“โดยสรุป พื้นที่กรุงเทพและใกล้เคียง ยังไม่น่าต้องห่วงว่าน้ำจะท่วมจากฝนที่ตกในรอบนี้ แต่ถ้าจะลุ้นว่าท่วมไหม ก็อาจจะมีจากฝนที่ตกหนักเฉพาะจุดในพื้นที่ตัวเองมากกว่า”

หากเอาความคิดเห็นทั้งหมดมาสรุปเป็นความเป็นมติ “สภาเตือนภัย ” ก็คงลงความเห็นว่า ปีนี้จะไม่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เหมือนปี 54 อย่างแน่นอน

อัปเดตกลไกป้องกันน้ำท่วม ที่มาย้ำความมั่นใจในสถานการณ์ ‘น้ำท่วม ปี 64’

นอกจากนั้น ยังมีความรู้ที่ได้จากงานเสวนาออนไลน์ ที่จัดขึ้นโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ที่ได้ดึงผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วน ร่วมให้ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับ “แนวโน้มสถานการณ์น้ำของประเทศไทยประจำปี 2564” รวมไปถึงความเสี่ยงของสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ น้ำแล้ง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ผ่านผลงานวิจัยและนวัตกรรมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้วิเคราะห์สถานการณ์ น้ำท่วม 64 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ไว้ในเวทีนี้ว่า

“น้ำท่วมกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะมาจาก 2 แหล่งด้วยกัน โดยมาจากด้านภาคเหนือและน้ำจากฝน เพราะฉะนั้นจะเป็นสาเหตุสำคัญ ซึ่งอาจจะมีน้ำทะเลหนุนบ้างเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามน้ำจาก 2 แหล่งที่ส่งผลกระทบต่อการน้ำท่วมนั้นมีวิธีระบาย 2 ด้านด้วยกัน ป้องกัน เบี่ยงไปทิศทางอื่น เพื่อไม่ผ่านเข้าเมือง เนื่องจากกทม. คือพื้นที่ทิ้งน้ำประมาณ  1.7 แสนตารางกิโลเมตร ทางด้านเหนือทั้งหมด”

“ฉะนั้นจะมี 2 ทาง คือป้องกันไม่ให้เกิดการไหลของน้ำในปริมาณที่มาก หรือ การระบายออกให้เร็วขึ้น ส่วนปัญหาจะท่วมหรือไม่นั้นคำตอบคือจะท่วมก็ต่อเมื่อการที่เราพัฒนาการซ่อมแซมเพิ่มเติมระบบต่างๆ”

“ดังนั้น กรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องย้ายหนีน้ำท่วม “เจ้าพระยาเดลต้า” มีคำตอบ โดยจะอยู่พื้นที่ 12 ลุ่มน้ำตอนล่าง พื้นที่ริมน้ำ 1.2 ล้านไร่ (เพราะปลูก 1 ล้านไร่) รองรับน้ำได้ในปัจจุบัน 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุม กรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ลพบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม โดยมีเป้าหมายเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ปลอดน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นแหล่งพัฒนาเศรษฐกิจเกษตร อุตสาหกรรม และพาณิชย์เมือง”

กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นที่นี่ คือ การเปิดทางน้ำสายหลักเพิ่มขึ้นเพื่อลด Load ลำน้ำเดิม ระบบชลประทานย่อย คลองส่งน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำในฤดูแล้ง ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแบบยั่งยืน ให้ SLR จาก Climate Change มีผลกระทบน้อยที่สุด และDike ชายฝั่งแนวหัวกอไก่”

“อีกทั้ง Integrated dike สำหรับชุมชนและพาณิชย์อุตสาหกรรม ตอนใต้อยุธยาก่อนเข้าปริมณฑล ผันสู่ลำน้ำใหญ่ อีกทั้งแผนเกษตรกรรมใหม่ สอดคล้องปริมาณน้ำที่ไหลผ่านให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งจะเป็นการหนุนให้ชุมชนและเมืองใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อลดภาระของเมืองใหญ่ดั้งเดิม”

ขณะเดียวกันยังชี้ว่า “อย่าหนีกรุงเทพฯ น้ำจะไม่ท่วมหากเอาชนะความถี่ ความเข้มของน้ำได้”

การวิเคราะห์นี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับ ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAMG ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศ ที่ชี้แนวโน้มสถานการณ์น้ำฝนปี 2564

“ยังไม่พบสัญญาณความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่คล้ายกับปี 2554 จากการประมวลวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ ปี 2564 แม้ฝนจะมาเร็ว และคาดการณ์ปริมาณฝนช่วงก่อนมรสุมจะมีฝนตกมาก แต่ยังไม่พบสัญญาณความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่”

“ประกอบกับความสามารถของอ่างเก็บน้ำเขื่อนใหญ่ทั้ง 4 ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังมีน้ำอยู่น้อยสามารถรองรับน้ำได้มากกว่าปี 2554 ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 4 มีน้ำรวมกัน 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อย และมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งเท่านั้น และสภาพพื้นที่รับน้ำก็เปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว”

เช็คลิสต์เรื่องที่ต้องรู้ รับมือ น้ำท่วม ปี 64

แม้กูรูทุกคนจะฟันธงว่า น้ำท่วม ปี 64 จะไม่รุนแรงเหมือนมหาอุทกภัย ปี 54 ทว่า เพื่อความไม่ประมาท เราทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการรับมือกับภัยน้ำท่วมไว้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงตามที่มีพยากรณ์ออกมา โดยสถานการณ์ล่าสุด ณ วันที่ 29 กันยายน 2564 มีการอัปเดตว่า

“กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ออกหนังสือ “ด่วนที่สุด” ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้อำนวยการจังหวัด ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และ นนทบุรี ให้เฝ้าระวังสถานการณ์เตรียมรับมือผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็น 34.56 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ”

โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เผยแพร่วิธีการเตรียมตัวเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการเตรียมสิ่งที่ต้องทำ ของจำเป็นที่ต้องเตรียมไว้ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดไว้

1 กระเป๋ายังชีพฉุกเฉิน : เตรียมให้เพียงพอต่อจำนวนคนในบ้านอย่างน้อย 3 วัน

  • อาหารสำเร็จรูปพร้อมกินได้เลย
  • น้ำดื่ม น้ำสะอาด
  • ยารักษาโรคประจำตัว
  • ชุดปฐมพยาบาล
  • กระดาษชำระ
  • ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง
  • เสื้อผ้าสำรอง เสื้อกันฝน
  • เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สมุดธนาคาร

2 สิ่งที่ต้องทำเมื่อน้ำเข้าบ้านชั้นล่าง

  • ตัดสวิทช์เบรคเกอร์ไฟฟ้าของชั้นนั้น
  • ไม่เดินลุยน้ำใกล้เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือจับวัตถุโลหะที่แช่น้ำ เพื่อป้องกันการถูกไฟดูด

3 ข้อห้ามสำหรับคนมีรถยนต์ส่วนตัว

  • ผู้ขับขี่ไม่ควรขับรถบนถนนที่มีน้ำไหลเชี่ยว เพราะแม้แต่รถบรรทุกขนาดใหญ่ก็ยังสามารถที่จะถูกน้ำพัดไปได้
  • ไม่ควรขับรถไปบนถนนที่มีน้ำท่วมขังหากไม่คุ้นเคย เพราะอาจมองไม่เห็นขอบทางและพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำข้างทางได้

4 เซฟเบอร์ฉุกเฉินสู้ภัยน้ำท่วม

  • ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) สายด่วน โทร. 1111 กด 5
  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สายด่วน โทร. 1784
  • ร่วมด้วยช่วยกัน ประสานความช่วยเหลือ โทร. 1677
  • บริการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นำส่งโรงพยาบาล กู้ชีพ  โทร. 1669
  • ตำรวจทางหลวง กรมทางหลวง สอบถามเส้นทางน้ำท่วม โทร. 1193

5 รู้ไว้ใช้รับมือน้ำท่วม thaiwater.net : เข้าเว็บไซต์ http://www.thaiwater.net/water/wl

  • คลิกเมนู “ติดตามสถานการณ์น้ำ”
  • เลือกเมนูที่ต้องการเช็ก เช่น อ่างเก็บน้ำ ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ ระบบเตือนภัยน้ำท่วมเฉียบพลัน ระบบคาดการณ์น้ำท่วม

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/09/29/fight-flood-2564-suggestion-from-water-management-guru/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210