พ.ร.บ.นวัตกรรมฯ อาวุธขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงลึก

Loading

ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ….. ผ่าน ครม. และรัฐสภารับในหลักการแล้วนั้น เป็นแรงผลักดันให้บรรดาสถาบันอุดมศึกษาในระดับแนวหน้าของไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้กับประเทศ เกิดการเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวสนองรับ พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อนำพาประเทศชาติให้ก้าวทันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างเต็มที่

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ….. มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนิยามของการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการจัดทำบริการ การให้สิทธิ์ผู้รับทุน ซึ่งได้แก่ มหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม และให้ได้รับผลตอบแทนอย่างเต็มที่ ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนการจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งให้แก่นักวิจัย เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล มองโอกาสที่จะเกิดจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า สถาบันฯ ซึ่งมุ่งผลิตงานวิจัยและนวัตกรรม ต้องมีทีมบริหารจัดการงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญามืออาชีพ เพื่อช่วยนักวิจัยวางแผนการใช้ประโยชน์ หรือ มีกลยุทธ์นำผลงานไปใช้เชิงพาณิชย์ เชิงสังคมหรือนโยบายให้รวดเร็วที่สุด ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ เร่งส่งมอบคุณค่าของงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยให้แก่ประเทศ และภาคประชาสังคม

“หากมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้นักวิจัยรู้ว่าการตีพิมพ์ผลงานวิจัย หรือสิทธิบัตรอย่างเดียวไม่เพียงพอ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำผลงานไปใช้ประโยชน์จริงและช่วยสร้างเศรษฐกิจชาติ ซึ่งทุกสถาบันอุดมศึกษามีบทบาทสำคัญในการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้กับประเทศ จึงจำเป็นต้องเร่งสร้าง mindset ที่เปิดประตูสู่ภาคเศรษฐกิจ เพื่อนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์สังคม และสร้างรายได้กลับคืนมา ต่อยอดทำงานวิจัยให้ประเทศชาติพร้อมก้าวไปข้างหน้า”

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์นรัตถพล กล่าวต่อไปว่า ประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญมากในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ….. แต่ยังไม่ค่อยมีผู้ใดกล่าวถึงคือ ในภาวะฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นต้องบรรเทาภัยพิบัติ หรือผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ร่างพ.ร.บ.ได้กำหนดให้รัฐสามารถเข้ามามีบทบาทในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ไปใช้แก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศได้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งสามารถเป็นที่พึ่งในยามยาก ใช้แก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ให้แก่ประเทศได้ โดยรัฐอาจจะเข้ามาช่วยปลดล็อกในเรื่องการนำไปใช้ ให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว และจะมีการให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามสมควรอีกด้วย

“ถ้ามหาวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ บุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์ที่เพียงพอ ก็จะสามารถทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม รวมทั้งใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างเต็มที่ ถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยควรปรับกลยุทธ์ให้เปิดประตูสู่ภาคเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับหลายๆมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง และเพิ่มโอกาสแก่ประเทศในการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล กล่าว

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ

1 กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเฉพาะกับการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ยกเว้นกรณีการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐ การวิจัยและนวัตกรรมซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้ทุนโดยใช้เงินรายได้ของตน การวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติหรือประชาชนชาวไทยโดยรวม หรือจะต้องใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการวิจัยอื่น ซึ่งไม่สมควรให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ และการวิจัยและนวัตกรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

2 กำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมได้ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการบริหารจัดการและการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ การจัดสรรรายได้จากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และกลไกของหน่วยงานภาครัฐในการติดตามและประเมินผลการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม

3 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้รับทุนหรือนักวิจัย ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะต้องใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมและบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม และรายงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ข้อมูลการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยนโยบายและหน่วยงานให้ทุนเพื่อใช้ในการติดตาม ประเมินผล และนำกลับมากำหนดนโยบายและการให้ทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมต่อไปในอนาคต

4 กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้รับทุน หรือนักวิจัยซึ่งเป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่น และกำหนดหน้าที่ของผู้รับโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

5 กำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์จะใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนที่เพียงพอตามพฤติการณ์แห่งกรณี

6 กำหนดให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีในการออกคำสั่ง ให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใดๆ ที่เกิดจากทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของรัฐ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้โดยหลักการแล้วเป็นการให้สิทธิแก่ผู้รับทุน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หรือนักวิจัย ให้ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ ในการนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ติดข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบของหน่วยงานให้ทุน ทั้งนี้กฎหมายฉบับบนี้มีต้นแบบจากสหรัฐอเมริกา และมีตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายประเทศ ทำให้ประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/06/30/driving-economy-through-research-and-innovation/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210