GC จับมือ OR ต่อยอด โครงการพลาสติก (คืน) สุข ขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

Loading

โครงการพลาสติก (คืน) สุข นับเป็นโครงการต้นแบบที่พิสูจน์ให้เห็นว่าปัญหาขยะพลาสติกในสังคมไทยดีขึ้นได้ ด้วยการนำพลาสติกใช้แล้วกลับสู่ระบบ แล้วสร้างมูลค่าเพิ่มอีกครั้งผ่านกระบวนการรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล จนได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณค่า ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่เพิ่มเติมอย่างได้ผล

และโครงการดีๆ นี้ มาจากการริเริ่มของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ต้องการยกระดับการแก้ปัญหาขยะพลาสติกโดยการสร้าง YOU เทิร์น Platform ตั้งจุดรับ (Drop Point) ตามสถานที่ต่างๆ

มาในปีนี้ มีข่าวดีเกี่ยวกับความคืบหน้าของ โครงการพลาสติก (คืน) สุข กับความร่วมมือระหว่าง GC และบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR (โออาร์) ซึ่งเป็นผู้นำด้านสถานีบริการน้ำมันของไทยและมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ จึงเหมาะที่จะตั้งจุดรับพลาสติกใช้แล้วที่ผ่านการทำความสะอาดมาระดับหนึ่ง โดยเริ่มจากพื้นที่ทดลองในเขตกรุงเทพมหานคร และมีแผนจะขยายสู่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศ

อัปเดตกันก่อน ด้วยแนวทาง Loop Connecting จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเต็มรูปแบบได้อย่างไร

ก่อนจะไปอัปเดตถึง โครงการพลาสติก (คืน) สุข ล่าสุด ขออธิบายแนวคิด Loop Connecting ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ทาง GC ได้หยิบเอามาตั้งต้น เพื่อปูทางสู่รากฐานของ โครงการพลาสติก (คืน) สุข โดยแนวคิดนี้เป็นหนึ่งในหลักการบูรณาการเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 3 ด้าน ที่ประกอบด้วย

Smart Operating การยกระดับการบริหารและดำเนินงานอย่างยั่งยืน

ตามแนวคิด 5Rs ประกอบด้วย

1. การลดการใช้ (Reduce)

2. การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse)

3. การรีไซเคิล (Recycle) หรือกระบวนการมอบชีวิตใหม่ให้กับวัสดุเหลือใช้ทำให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง และอัพไซคลิง (Upcycle) หรือการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของนั้นๆ ผ่านนวัตกรรม และดีไซน์ ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นสวยงาม พร้อมกับมูลค่าที่สูงขึ้นอีกด้วย

4. การปฏิเสธการใช้สารที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Refuse)

5 การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน (Renewable) เข้ามาช่วยตอบโจทย์ในการบริหารจัดการขยะให้น้อยลงและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะไม่กลายเป็นขยะ

Responsible Caring การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เป็นการผนวกเอาแนวคิดการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-design) ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงการเลือกหรือลดการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิตตลอดวัฏจักรผลิตภัณฑ์ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ควรได้รับการรับรอง Carbon Footprint เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและสังคม

Loop Connecting (Ecosystem) การเชื่อมโยงทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

สร้างแนวร่วมกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางความคิดต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มาร่วมกันทำโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างคนที่มีความเชื่อคล้ายกันและขยายผลออกไป เพื่อสร้างการเชื่อมต่อธุรกิจแบบครบวงจร ให้สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นวงจรนิเวศไม่จบสิ้น

พร้อมกันนี้ได้จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Customer Solution Center: CSC) เพื่อร่วมมือกับลูกค้าในการออกแบบ และเพิ่มมูลค่าของสินค้าจากขยะพลาสติกให้สามารถต่อยอดทางธุรกิจได้ ตลอดจนเสริมสร้างมุมมองใหม่ในการเลือกใช้พลาสติกให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรต่อโลก สำหรับส่งมอบให้กับผู้บริโภคผ่านโครงการและนิทรรศการต่างๆ ด้วย

โดยกระบวนการ Loop Connecting เริ่มจากเครื่องต้นแบบที่ใช้กันภายในบริษัทฯ ซึ่งมีพนักงาน GC ให้ความสนใจและนำขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วมาร่วมกิจกรรมประมาณ 10,000 ขวด ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน ต่อยอดไอเดียสู่รถ YOU เทิร์น ซึ่งกลายเป็นระบบขนส่งที่สำคัญของโครงการ ช่วยตอบโจทย์ในการอำนวยความสะดวกในการขนส่งขวดพลาสติกใช้แล้วไปยังคลังเก็บหรือโรงงานรีไซเคิล ก่อนนำส่งให้พันธมิตร เพื่อเข้าสู่กระบวนการอัพไซคลิงและผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่อไป

GC จับมือ OR ต่อยอด โครงการพลาสติก (คืน) สุข ขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC อธิบายเพิ่มเติมถึงภารกิจในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นในสังคมไทยได้จริงอย่างยั่งยืนว่า

“GC ให้ความสำคัญกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้การดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ Smart Operating ในส่วนโรงงานหรือกระบวนการผลิต Responsible Caring ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และสุดท้าย คือ Loop Connecting หรือการสร้างแนวร่วมด้วยการเฟ้นหาพันธมิตรที่มีแนวคิดและต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนเข้ามาทำงานด้วยกัน เพื่อเชื่อมโยงให้ครบทั้งกระบวนการ”

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC

“ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองแนวคิด Loop Connecting อย่างตรงจุด จึงได้สร้าง “YOU เทิร์น Platform” ที่มีทั้งจุดรับขยะ (Drop Point)  จุดรับขยะระบบดิจิตอลที่สามารถสะสมคะแนนเพื่อแลกของรางวัลได้ (Digital Drop Point) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ร่วมกันกับ Digital Drop Point (Mobile Application) เพื่อรองรับการขยายตัวของแพลตฟอร์มดิจิตอลในอนาคต โดยมุ่งหวังให้เกิดการคัดแยกพลาสติกใช้แล้วตั้งแต่ต้นทาง การขนส่งเข้าโรงงานแปรรูปเพื่อนำไปรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล”

“ส่วนการขยายความร่วมมือกับทาง OR ในครั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณ OR ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ โดยการสร้างจุดรับขยะอย่างเป็นระบบ ขยายผล “YOU เทิร์น Platform” โดยใช้จุดแข็งของการเป็นสถานีบริการน้ำมันอันดับหนึ่งของไทยที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ มาเป็นจุดตั้ง “ถังพลาสติก (คืน) สุข” ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงกับ “YOU เทิร์น Platform” ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในที่สุด”

จับมือพันธมิตรหลัก ช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพ การแยกขยะ ให้กระจายไปในวงกว้างยิ่งขึ้น

ด้าน จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR เปิดเผยว่า

“ที่ผ่านมา OR มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างสถานีบริการน้ำมัน คู่ค้า และคนในชุมชน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและคนในชุมชนในแต่ละพื้นที่ โดยที่ผ่านมา สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคมชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง”

จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR

“โดยได้ริเริ่มโครงการแยก แลก ยิ้ม มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station เห็นความสำคัญของการแยกขยะ และสามารถสร้างประโยชน์ให้ชุมชนในพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ OR ยังได้นำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดเป็นโครงการขวดแลกยิ้ม ทดลองติดตั้งตู้รับคืนขวดพลาสติก PET ที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station มาตั้งแต่ปี 2561แล้ว”

“มาถึงตอนนี้ การได้ร่วมมือกับ GC จัดตั้ง โครงการพลาสติก (คืน) สุข ถือเป็นการต่อยอดการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมการแยกขยะของ OR ไปอีกขั้น ให้สามารถนำขยะพลาสติกที่แยกได้ไปผ่านกระบวนการให้สามารถกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้จุดแข็งในเรื่องเครือข่ายที่ครอบคลุม และอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้สะดวกมาเป็นจุดเชื่อมให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมกับโครงการพลาสติก(คืน)สุขได้มากที่สุด”

“อย่างไรก็ดี เราวางแผนไว้ง่าหากการดำเนินการทดลองวางจุดรับขยะหรือ Drop Point ในเฟสแรก ได้แก่ ชั้น 1 อาคาร EnCo A ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ชั้น 1 อาคาร ปตท.สำนักงานใหญ่ และที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาประชาอุทิศ – ลาดพร้าว ได้รับการตอบรับที่น่าพอใจ OR ก็พร้อมที่จะขยายการวางจุดรับที่สถานีบริการ PTT Station อื่นๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร จนถึงทั่วประเทศต่อไป”

“นอกจากนั้น OR ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่จะสามารถเชื่อมโยงการนำสินค้าที่ผลิตจากพลาสติกที่ทุกคนช่วยกันแยกมาใช้ดำเนินธุรกิจ รวมทั้งสามารถนำมาจำหน่าย หรือทำกิจกรรมผ่านช่องทางต่างๆ ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ของ OR ได้อีกด้วย จึงอยากขอเชิญชวนผู้บริโภคทุกท่านให้ความสำคัญกับการแยกขยะ เพื่อช่วยรักษาโลกของเรา รวมพลัง ร่วมสร้าง เพื่อทุกวันที่ดีขึ้นไปด้วยกัน”

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/01/26/loop-connecting-build-circular-economy/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210