นครยะลา ยกระดับสู่สมาร์ท ซิตี้ เมืองน่าอยู่ยั่งยืน ด้วย Digital Data Platform

Loading

นครยะลา ใต้สุดแดนสยาม ขับเคลื่อนการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ วางเป้าหมายเป็นเมืองน่าอยู่ยั่งยืนด้วยระบบบริหารข้อมูลอัจฉริยะ ตอบสนองการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่และผู้เยี่ยมเยือนให้ได้รับความสะดวกสบาย และปลอดภัย

“ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” นั่นคือเสน่ห์ดั้งเดิมที่อยู่คู่จังหวัดยะลามาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบันนี้ เมืองใต้สุดแดนสยามกำลังพลิกโฉมไปสู่โลกยุคใหม่ที่มีความทันสมัยภายใต้การบริหารจัดการของหลายองคาพยพ เพื่อพัฒนาเมืองยะลาให้เป็น “สมาร์ทซิตี้” (Smart City) ภายใต้เป้าหมาย “นครยะลา เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” เต็มรูปแบบ ตอบสนองการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่และผู้เยี่ยมเยือนให้ได้รับความสะดวกสบาย และปลอดภัย

การพัฒนาจังหวัดยะลา ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มต้นการพัฒนาจากศูนย์กลาง นั่นคือ “เทศบาลนครยะลา” ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งเริ่มต้นการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2564 ภายหลังรัฐบาลได้ประกาศให้เทศบาลนครเมืองยะลา เป็นหนึ่งในเมืองสมาร์ทซิตี้ ของประเทศไทยในระยะแรก เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม และมีความเหมาะสมในการยกระดับให้เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขอย่างยั่งยืน

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองยะลาไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันขอบเขตของเทศบาลนครยะลา มีชุมชนต่าง ๆ ภายใต้การดูแลกว่า 43 ชุมชน ครอบคลุมประชากร 60,291 คน (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566) ซึ่งการยกระดับเมืองยะลาไปสู่เมืองน่าอยู่ทันสมัย ได้นำเอาเทคโนโลยีหลายอย่างมาใช้เพื่อช่วยในด้านการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการบริการ ทั้งการบริการสาธารณสุข และสวัสดิการของบุคคล

สำหรับการทำงานในช่วงที่ผ่านมา เทศบาลนครยะลาได้เริ่มต้นการยกระดับการพัฒนาเมืองครอบคลุมด้านสำคัญ 4 ด้านหลัก ประกอบไปด้วย

1. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) โดยมุ่งยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิต ด้วยการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (Free WiFi) ครอบคลุมทุกมุมเมืองระบบกล้องวงจรปิด ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมือง (Urban Safety) ระบบเสาไฟอัจฉริยะ (Smart pole) บนฐานของการใช้นวัตกรรม loT (Internet of Things) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ หรือส่งข้อมูลระหว่างกันด้วยอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ

2. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) มุ่งใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม โดยพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม การบริหารจัดการเทศบาลนครยะลา เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมต่อกับประชาชนไม่ว่าจะเป็นการรับเรื่องร้องเรียน การสื่อสารกับประชาชน การทำประชามติ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการรองรับภัยพิบัติ หรือโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกกลุ่มวัยอย่างทั่วถึง

3. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) โดยมุ่งพัฒนาจุดเด่นของเมืองยะลาด้านการเป็นเมืองสีเขียว ผังเมืองสวย มีมาตรฐานสากล และเมืองแห่งความสะอาดให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น มีการตรวจวัดและรายงานคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อากาศ ฯลฯ จัดให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า หล่อเลี้ยงเมืองด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม

4. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) โดยนครยะลามุ่งใช้ต้นทุนอัตลักษณ์ในพื้นที่ และการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่รองรับการขยายตัวของธุรกิจดิจิทัล และเสริมมูลค่าให้กับการตลาดการค้าการลงทุน และตลาดแรงงานในพื้นที่ ด้วยการพัฒนาระบบ E-commerce ธุรกิจการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เพิ่มโอกาสในการขาย และสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้อย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนสร้างระบบนิเวศเพื่อดึงดูดบริษัทจัดตั้งใหม่ (Startup) เข้ามาในเมือง

นายพงษ์ศักดิ์ ยอมรับว่า นอกเหนือจากการพัฒนาทั้ง 4 ด้านที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะแล้ว สิ่งที่เทศบาลนครยะลา กำลังเตรียมเดินหน้าพัฒนาต่อไปนั่นคือการสร้างระบบการจัดการข้อมูลพื้นที่ หรือ Digital Data Platform ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลสำคัญของเมืองทั้งหมดเข้ามาไว้ในจุดเดียว ทั้งข้อมูลประชากร ข้อมูลสวัสดิการ ข้อมูลที่อยู่อาศัย และข้อมูลแผนที่ เช่น การนำเทคโนโลยีโดรนบินสำรวจข้อมูลพื้นที่เพื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งข้อมูลครัวเรือนพื้นที่ทำกินไปบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างถูกต้องและตรงจุด

“เมื่อข้อมูลที่จัดเก็บลงไปใน Digital Data Platform มีความพร้อมแล้วเชื่อว่าจะง่ายต่อการบริหารจัดการทรัพย์สินในอนาคตเพื่อให้การจัดสรรงบประมาณและนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง เช่นเดียวกันข้อมูลด้านการบริการประชาชนหรือการนำสวัสดิการต่างๆ เข้ามารวมไว้ในระบบและในอนาคตจะดึงข้อมูลเชื่อมต่อกับระบบการจัดการภัยพิบัติ หากเกิดภัยพิบัติขึ้นจะได้รู้ตำแหน่งการเคลื่อนย้ายของคนในพื้นที่เพื่อพิจารณาคนที่ต้องการจะย้ายก่อนอยู่ตรงไหนตั้งแต่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กทารก หรือผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เทศบาลกำลังดำเนินการอยู่” นายกเทศมนตรีนครยะลา ระบุ

นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวด้วยว่า ในอนาคตข้างหน้าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเมืองถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะจะทำให้การบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ง่ายขึ้นและส่งตรงไปถึงมือประชาชนได้ในทันทีซึ่งการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้นั้น ที่ผ่านมาเทศบาลนครยะลามีโอกาสเข้าไปร่วมชมงาน Thailand Smart City ซึ่งจัดโดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และได้นำองค์ความรู้ รวมไปถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบต่าง ๆ มาปรับใช้กับเมืองได้ โดยในปี 2566 นี้ เทศบาลนครยะลา จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูงานเพื่อนำมาปรับใช้ในพื้นที่ต่อไป เพราะส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง นั่นคือการแข่งขันกันระหว่างเมืองในการดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดยะลาเอง ณ ขณะนี้มีความพร้อมเป็นเมืองที่เปิดขึ้นมารองรับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ภายหลังจากความไม่สงบได้คลี่คลายลงแล้ว

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/technology/technology/581501


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210