เมื่อโลกขานรับพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ถึงเวลาขับเคลื่อน “พลังงานลม” อย่างจริงจัง

Loading

พลังงานหมุนเวียนกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการที่ฟาร์มกังหันลมได้รับการพัฒนาทั่วโลก  คาดว่าจำนวนฟาร์มกังหันลมจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจาก “พลังงานลม” เป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถใช้ได้โดยไม่มีวันหมดสิ้น และเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ใช่ในการใช้พลังงานสีเขียวของมนุษย์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตลาดพลังงานลมมีเสถียรภาพและเปลี่ยนไปสู่ระบบที่อิงตามตลาด พลังงานลมกลายเป็นแหล่งพลังงานที่มีราคาแข่งขันได้ในตลาดส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยปี 2019 ต้นทุนเฉลี่ยในการติดตั้งฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งอยู่ที่ 3,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ (ราว 113,520 บาท) จากเดิมในปี 2018 และ 2017 ที่ต้นทุนดังกล่าวอยู่ที่ 4,245 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ (ราว 126,805 บาท) และ 4,683 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ (ราว 139,888 บาท) ตามลำดับ ขณะเดียวกันยังมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานลมเพิ่มจาก 72.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,165 พันล้านบาท) ในปี 2009 เป็น 142.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,262 พันล้านบาท) ในปี 2019 อีกทั้งอุตสาหกรรมพลังงานลมยังทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีด้วย โดยนับจากปี 2009 ที่มีงานจ้างงานด้านนี้ทั่วโลกเพียง 500,000 ตำแหน่ง แต่ในปี 2019 มีมากถึง 1,165,000 เลยทีเดียว

ขณะที่ประสิทธิภาพด้านต้นทุนที่ดีขึ้นของแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ กอปรกับนวัตกรรมในระบบจัดเก็บข้อมูล และการจัดการระบบกริดที่ดีขึ้น ได้ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนทุกอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคตอันใกล้นี้

โดยพลังงานสะอาดราคาถูกยังคงขับเคลื่อนรัฐบาลทั่วโลกให้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า ความคืบหน้าของระบบพลังงานหมุนเวียนกำลังเพิ่มขึ้นโดยเชื้อเพลิงในรูปแบบดั้งเดิม เช่น ถ่านหินและน้ำมันจะลดน้อยถอยลง ข้อมูลใหม่จากผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนแสดงให้เห็นว่าการติดตั้งฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลกและคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไปโดยเฉพาะในอีก 2 ปีข้างหน้า

จากข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ เช่น จีน เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ต่างก็เห็นการเพิ่มของฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อเอ่ยถึงพลังงานลม จีนเป็นผู้นำในด้านนี้อย่างชัดเจน โดยจีนเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในแง่ของกำลังการผลิตพลังงานลมที่ติดตั้งใหม่และความจุลมสะสม คาดการณ์ว่าจีนจะเพิ่มพลังงานอีก 2.8 กิกะวัตต์จากฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งในช่วง 3 ปีข้างหน้านับจากนี้ ส่วนโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในเยอรมนีและสหราชอาณาจักรก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีข้างหน้าเช่นกัน ในขณะที่การคาดการณ์ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งของประเทศอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเชิงบวกที่ชัดเจนในช่วงหลายปีข้างหน้า อาทิ ตลาดพลังงานลมในสหรัฐอเมริกาจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากโครงการต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไป จากความต้องการใช้พลังงานลมของบริษัทต่างๆ

นอกจากนี้ การติดตั้งฟาร์มกังหันลมและโครงการพัฒนาพลังงานลมยังคงดำเนินไปได้สวยในตลาดเกิดใหม่ ชี้ให้เห็นว่าพลังงานลมยังคงเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งความจริงในขณะนี้ ศักยภาพพลังงานลมของโลกนั้นมากกว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของโลกเสียอีก ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกามีการประเมินว่าศักยภาพพลังงานลมในสหรัฐอเมริกาสูงกว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศถึง 10 เท่า

ขณะที่สภาพลังงานลมโลก (Global Wind Energy Council: GWEC) คาดการณ์กำลังการผลิตพลังงานลมทั่วโลกตั้งแต่ปี 2019-2024 (ในหน่วยกิกะวัตต์) ว่าจะมีปริมาณตามลำดับดังนี้ คือ 60.4, 76.1, 71.6, 67.7, 66.2 และ 73.4

ทั้งนี้ กังหันลมมี 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ประเภทแกนนอน เช่น กังหันลมแบบดั้งเดิมที่ใช้สำหรับสูบน้ำ และประเภทแกนตั้งซึ่งมีลักษณะคล้ายเครื่องตีไข่ กังหันสมัยใหม่ส่วนใหญ่ใช้กังหันประเภทแกนนอน ปัจจุบันกังหันลมมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ผลิตพยายามเพิ่มศักยภาพของลม เมื่อไม่ถึงทศวรรษที่ผ่านมากังหันลมบนบกส่วนใหญ่มีขนาดไม่ถึง 2 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามขนาดกังหันลมได้ปรับอย่างรวดเร็ว ทำให้ในขณะนี้ประมาณ 90% ของกังหันลมมีขนาดมากกว่า 2 เมกะวัตต์ ขณะที่ขนาดใบพัดและพิกัดกำลังของกังหันลมมีแนวโน้มที่จะแตกต่างกันไปตามผู้ผลิตแต่ละราย อย่างไรก็ตาม บริษัทส่วนใหญ่มีเป้าหมายที่จะนำส่วนประกอบต่างๆ กลับมาใช้ใหม่เพื่อลดต้นทุน และลดระยะเวลาในการพัฒนา และทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการพลังงานลมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่องได้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีไม่กี่ประเทศในโลก ที่สนับสนุนให้มีการนำพลังงานลมเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าของตน ที่เด่นๆ ก็คือ เดนมาร์ก ซึ่งมี Wind energy penetration 48% รองลงมาคือ ไอร์แลนด์ 33% โปรตุเกส 27% เยอรมนี 26% สหราชอาณาจักร 22% สหรัฐอเมริกา 7%

สำหรับประเทศไทย พลังงานทดแทนถือเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งพลังงานลมถือเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพ โดยลมที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทยคือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เกิดขึ้นและพัดในทิศทางที่แน่นอน เป็นระยะเวลานานตลอดทั้งฤดูกาล และเป็นประจำทุกปี ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ลมดังกล่าวพัดผ่านจะอยู่บริเวณที่ราบสูงตอนกลางของประเทศและริมชายฝั่งทะเล มีความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 5-7 เมตรต่อวินาที

เนื่องจากทุกวันนี้เทคโนโลยีกังหันลมผลิตไฟฟ้าได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับศักยภาพลมในประเทศไทย อีกทั้งยังมีนโยบายการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย สามารถพัฒนาและสร้างธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้เป็นผลสำเร็จ ปัจจุบันจากการรายงานของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนระบุว่าประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วจำนวน 27 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่นครราชสีมา (12 แห่ง) รองลงมาคือนครศรีธรรมราช (8 แห่ง) ชัยภูมิ (3 แห่ง) ภูเก็ต เพชรบุรี สมุทรสาคร และเพชรบูรณ์ จังหวัดละ 1 แห่ง

ที่มา :

Number of winds farms expected to increase dramatically over next 2 years

ข้อมูลโรงไฟฟ้าพลังงานลม กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/01/29/wind-farms-growth-rapidly-renewable-energy/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210