เอไอ : ทำไมคนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์จึงชื่นชอบปัญญาประดิษฐ์ ที่อาจทำให้พวกเขาตกงานได้

Loading

“เมื่อคุณเริ่มเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มันทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองเก่ง เหมือนอยู่ใน [ภาพยนตร์] เมทริกซ์” จานีน ลุก วิศวกรซอฟต์แวร์วัย 26 ปี ที่ทำงานในกรุงลอนดอนกล่าว

เธอเกิดในฮ่องกง และเริ่มทำงานด้านการตลาดเรือยอชต์ทางใต้ของฝรั่งเศส แต่รู้สึกว่าเป็นงาน “ที่จำเจและฉาบฉวย”

เธอจึงเริ่มเรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเองหลังเลิกงาน จากนั้นก็เข้าค่ายฝึกอบรมการฝึกเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นาน 15 สัปดาห์

ในวันสุดท้ายของการเข้าค่าย เธอสมัครงานที่ Avast บริษัทซอฟต์แวร์ด้านความมั่นคงไซเบอร์

อีก 1 สัปดาห์ต่อมา เธอก็เริ่มทำงานที่นั่น

“เวลาผ่านไป 2 ปีครึ่ง ฉันคิดว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดเท่าที่ฉันเคยทำมา” เธอเล่า

ตอนที่เธอเริ่มทำงานที่บริษัทแห่งนี้ เธอเป็นนักพัฒนาหญิงคนแรกที่เข้ามาสร้างทีมของตัวเอง ตอนนี้เธอใช้เวลาว่างในการส่งเสริมให้ผู้หญิงคนอื่น ๆ ผู้คนที่มีสีผิวหลากหลาย และคนหลากหลายทางเพศลองพยายามเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

สำหรับโปรแกรมเมอร์อย่างเธอ เธอบอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจที่สุดในช่วงไม่นานนี้คือ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence–AI) หรือ เอไอ เป็นเครื่องมือในการช่วยเขียนโปรแกรมเพิ่มมากขึ้น

ในเดือน มิ.ย. GitHub แพลตฟอร์มในการใช้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ในนครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ โดยมีผู้ใช้งาน 56 ล้านคน ได้เปิดตัวเครื่องมือเอไอตัวใหม่ที่ชื่อว่า โคไพล็อต (Copilot)

เมื่อคุณเริ่มเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้นิดหน่อย เอไอตัวนี้จะแนะนำคุณในการเขียนจนเสร็จ

“แอปพลิเคชันที่คิดคำนวณเองได้ที่มหัศจรรย์ที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเห็น” ไมก์ ครีเกอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งอินสตาแกรมซึ่งรู้สึกตื่นเต้นกับโคไพล็อตกล่าว

เครื่องมือนี้ใช้เอไอที่มีชื่อว่า GPT-3 ซึ่ง OpenAI ห้องปฏิบัติการเอไอในนครซานฟรานซิสโกที่อีลอน มัสก์ ร่วมก่อตั้ง เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว

เจกอช ยากักซี ผู้ก่อตั้ง Codility ซึ่งสร้างแบบทดสอบการจ้างงานยอดนิยมที่ตั้งอยู่ในกรุงวอร์ซอของโปแลนด์ อธิบายว่า เครื่อง GPT (ซึ่งย่อมาจาก generative pre-training) “ทำเรื่องที่ง่ายแต่ทำได้จำนวนมาก อย่างการคาดการณ์ตัวอักษรตัวต่อไป”

เขากล่าวว่า OpenAI ฝึกใช้ AI ในงานเกี่ยวกับตัวอักษรที่มีอยู่แล้วในโลกออนไลน์อย่างหนังสือ วิกิพีเดีย และเว็บเพจนับแสนแห่ง ซึ่งสามารถเขียนออกมา “ได้อย่างถูกต้องแม่นยำระดับหนึ่ง แต่ใช้งานได้กับทุกภาษาของมนุษย์”

นายยากักซีกล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่น่าขนลุกคือ มันไม่ได้ถูกสอนเกี่ยวกับกฎของภาษาใดโดยเฉพาะ”

แต่ผลที่ได้คือข้อความที่เขียนฟังดูเข้าทีมีเหตุผล

ต่อมา ผู้คนได้ขอให้นำมันมาใช้ในการเขียนรูปแบบที่หลากหลาย ยกตัวอย่าง หนังสือแฮร์รี พอตเตอร์ เล่มใหม่ แต่เขียนในรูปแบบของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ หรือ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์

แซม ออลต์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ OpenAI ทวีตข้อความว่า สุดท้ายแล้ว การโฆษณา GPT-3 “มากเกินไปมาก” และจำเป็นต้องมีการเตือนผู้คนว่า เอไอ “บางครั้งก็ทำเรื่องผิดพลาดโง่ ๆ” ได้

แต่กระนั้น GitHub ซึ่งไมโครซอฟท์ที่เป็นเจ้าของได้ซื้อลิขสิทธิ์ในการใช้งาน GPT-3 ไว้แต่เพียงผู้เดียวในเดือน ก.ย. ก็ตัดสินใจที่จะสร้างแบบจำลองที่คล้ายคลึงกันอีกแบบหนึ่งขึ้นมา แต่ครั้งนี้ มีการนำเอไอมาใช้งานเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์แทน

GitHub เป็นที่ตั้งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีที่เก็บซอฟต์แวร์สาธารณะอย่างน้อย 28 ล้านแห่ง ดังนั้นทางบริษัทจึงป้อนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สาธารณะที่เหมาะสมให้กับโคไพล็อต

จานีน ลุก ซึ่งได้เคยลองใช้เอไอตัวนี้ให้แก้ปัญหาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ยาก ผลที่ได้คือ โคไพล็อตสามารถ “เสนอวิธีแก้ปัญหาได้ค่อนข้างดี แม้ว่าบางครั้งจำเป็นต้องมีการกระตุ้นมันบ้าง”

ในฐานะโปรแกรมเมอร์ซึ่งไม่ได้มองว่าเครื่องมือนี้มีความเสี่ยงต่องานที่เธอทำ เธอชอบแนวคิดการให้เอไอช่วยเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ “ในส่วนที่น่าเบื่อ” อย่างการตรวจสอบส่วนที่ซับซ้อนที่ใช้สูตรปกติซึ่งเธอต้อง “ตรวจสอบ 4 รอบ” เสมอ

ไดอานา มัสคาเนลล์ โปรแกรมเมอร์อาวุโสที่อยู่ในเวอร์มอนต์ซึ่งทำงานที่ เรด แฮ็ต (Red Hat) บริษัทซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการป้อนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนโดยโปรแกรมเมอร์มืออาชีพให้แก่เอไอ มันช่วยคนเขียนโปรแกรมด้วยการนำทักษะและประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ของเพื่อนร่วมงานมาใช้

มีเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวมของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่าง Stack Exchange ซึ่งโปรแกรมเมอร์สามารถตั้งคำถามและขอคำแนะนำต่าง ๆ ได้อยู่แล้ว บางทีนี่อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องพิเศษอะไร

เธอตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้าคุณลองนึกว่า คุณได้รับการตอบสนองทันทีขณะที่กำลังพิมพ์อยู่ มันยอดเยี่ยมมาก คุณมีทีมงานหลายคนที่คอยป้อนรหัสคำสั่งนี้ให้แก่คุณ” ราวกับว่ามีเอไอรวบรวมข้อมูลนี้

แต่โปรแกรมเมอร์มืออาชีพหลายคนยังคงมีความกังวลบางอย่างเกี่ยวกับเอไอรุ่นใหม่ที่วางจำหน่าย

อย่างหนึ่งคือการตรวจจับข้อผิดพลาด นายยากักซี กล่าวว่า ในด้านวิศวรรมซอฟต์แวร์ “คุณโชคดีมากที่เห็นขยะได้ชัดเจน แต่สิ่งนี้สามารถสร้างขยะที่คลุมเครือได้”

ข้อผิดพลาดที่ละเอียดอ่อนในการเขียนโปรแกรมอาจทำให้เกิดความเสียหายมหาศาลและเป็นเรื่องที่ตรวจพบได้ยาก

คำตอบในอนาคตที่เป็นไปได้อาจมีการนำเอไอมาใช้ตรวจจับข้อผิดพลาด ยกตัวอย่าง การสังเกตว่า การกดปุ่มบางปุ่มบนเตาไมโครเวฟ “เป็นการป้อนคำสั่งที่ถูกต้องแต่ไม่มีเหตุผล” แต่เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น

นางมัสคาเนลล์เตือนว่า ในระหว่างนี้ “ถ้าคุณไม่มีประสบการณ์ และคุณกำลังพยายามเรียนรู้อยู่ คุณอาจทำอะไรไม่ดีโดยไม่รู้ตัว”

ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับ การเป็นเจ้าของรหัสคำสั่งที่สร้างขึ้นเองโดยอัตโนมัตินี้ ถ้าโคไพล็อต ซึ่งได้รับการฝึกโดยใช้โปรแกรมของคนอื่นสร้างอะไรบางอย่างที่เกือบจะเหมือนกับรหัสคำสั่งที่โปรแกรมเมอร์อีกคนเขียนขึ้นมา แล้วคุณจะใช้มันไหม?

น.ส. ลุกระบุว่า การใช้เครื่องมือเอไอ “อาจละเมิดใบอนุญาตโอเพนซอร์สได้ เพราะมันอาจจะอ้างอะไรบางอย่างจากชุดการฝึก” ซึ่งนั่นอาจจะทำให้คุณเผชิญกับข้อหาขโมยความคิดได้

นายยากักซีกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของ “กฎหมายที่ยังตามไม่ทันเทคโนโลยี”

ในทางทฤษฎี คุณอาจวัดได้ว่า มีรหัสคำสั่งที่มาจากส่วนที่เป็นการฝึกเขียนโปรแกรมมากแค่ไหน ด้วยการให้เอไออีกตัวหนึ่งใช้รหัสคำสั่งเหมือนกันทั้งหมดยกเว้นเฉพาะบางส่วนเอาไว้

นายยากักซีตั้งข้อสังเกตว่า การทำเช่นนี้ “จะเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก”

ในความเป็นจริงแล้ว ในตอนนี้เอไอสามารถเสนอรหัสคำสั่งสั้น ๆ ให้ได้เท่านั้น ยังไม่ได้กลายเป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์อย่างสมบูรณ์แบบ

นายยากักซีกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบว่า รหัสคำสั่งเว็บไซต์จำเป็นต้องมีความยาวขั้นต่ำ 10,000 บรรทัด เพื่อให้สามารถใช้งานได้ดีในระดับหนึ่ง เอไอจึงยังไม่พร้อมที่จะนำมาใช้แทนที่โปรแกรมเมอร์ที่เป็นมนุษย์

หรือจะทำให้เกิด เอไอ ซิงกูลาริตี (AI singularity) ซึ่งเป็นแนวคิดที่จอห์น วอน นอยแมนน์ สร้างสมมุติฐานขึ้นเป็นคนแรกว่า สติปัญญาของคอมพิวเตอร์จะพัฒนาตัวเองขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งแซงหน้าสติปัญญาของมนุษย์

สำหรับคนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่าง น.ส. ลุก “แม้ว่ามันจะช่วยงานได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า งานเธอจะน้อยลง”

การเขียนโปรแกรมจำเป็นต้องมีการตรวจทานอย่างละเอียด และต้องมีการทดสอบทั้งในด้านวิธีการทำงานและความสอดคล้องเข้ากันได้กับรหัสคำสั่งอื่น ๆ

เหตุผลหลักที่เธอสนุกกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ “คือการแก้ปัญหา ถ้าทุกอย่างถูกทำให้คุณหมดแล้ว มันก็หมดสนุก” น.ส. ลุกกล่าว

ถ้าคอมพิวเตอร์คิดมากเกินไป “คุณจะไม่มีความสุขหลังจากแก้ปัญหาได้”

แม้ว่าเธอคิดว่า เครื่องมือการเขียนโปรแกรมด้วยเอไออาจเกิดขึ้น หลังจากมีการเรียนรู้และปรับตัวมากขึ้น “แต่ก็หวังว่า คงจะไม่ใช่ในเร็ววันนี้ ที่ไม่จำเป็นต้องมีเราอีกต่อไป” เธอหัวเราะ

แหล่งข้อมูล

https://www.bbc.com/thai/international-58475068


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210