พาไปดูโมเดลแก้จน สร้างอาชีพยั่งยืน @ อ.วังชิ้น จ.แพร่ กับ ‘โครงการพลังชุมชน SCG’ ยกระดับผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้เป็น ‘นวัตกรชุมชน’ ได้จริง

Loading

จังหวัดแพร่ นอกจากจะมีจุดเด่นเป็นเมืองในภาคเหนือของไทย ที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรม ประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนจากทุกสารทิศให้เดินทางมายังเมืองงามแห่งนี้ อย่าง พระธาตุช่อแฮ หรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ -ธรณีวิทยา อย่าง แพะเมืองผี แล้ว ที่ อำเภอวังชิ้น ยังมีต้นแบบของ “ชุมชนเข้มแข็ง” ที่สร้างรากฐานของ “เศรษฐกิจชุมชน” ที่เข้มแข็งได้ด้วยการยกระดับผู้ประกอบการท้องถิ่นให้เป็น “นวัตกรชุมชน”

ด้วยกลไกสำคัญและความช่วยเหลือจาก โครงการพลังชุมชน SCG ที่เข้ามาร่วมจัดหลักสูตร Mini MBA ให้กับผู้ประกอบการในอำเภอวังชิ้นรวมถึงอำเภอใกล้เคียง จนในวันนี้ ที่นี่ได้พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่พร้อมขยายผลความสำเร็จต่อไปยังพื้นที่อื่นได้อย่างน่าชื่นชม

ในโอกาสที่ได้ไปเยี่ยมเยือนต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง ที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ ทางโครงการพลังชุมชน SCG ได้จัดวงเสวนาในสวนท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบาย “เอกเขนก เสกชีวา มาวังชิ้น” โดยเชิญตัวอย่างของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างธุรกิจของตนเอง มาถ่ายทอดประสบการณ์ดีๆ นี้ เพื่อส่งต่อ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจต่อไป

แชร์ความสำเร็จของ นวัตกรชุมชน “ผลิตภัณฑ์จากกล้วยหอมทอง” ของคนวังชิ้น จ.แพร่” เพราะไม่หยุดคิดและเรียนรู้ ความสำเร็จจึงเกิดขึ้น”

โอบบุญ แย้มศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี ได้เกริ่นในฐานะพิธีกรของวงเสวนานี้ว่า

“เอสซีจี มีความตั้งใจในการร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ของไทยอย่างได้ผล ด้วยการพัฒนาอาชีพ ผ่านโครงการพลังชุมชนและหลักสูตร Mini MBA สำหรับชุมชน ที่ประยุกต์เอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (รู้) สร้างอาชีพด้วยความรู้คู่คุณธรรม ส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาพึ่งพาตนเองได้อย่าง พร้อมปรับเปลี่ยนกระบวนความคิด การแปรรูปผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งต่อแรงบันดาลใจให้ชุมชนรอบข้าง แบ่งปันช่วยเหลือ พัฒนาชุมชนของตนเอง”

“โดยในวันนี้เราได้พาทุกท่านมาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ หนึ่งในชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยการหยิบเอาของดีชุมชนที่มีความหลากหลาย และรวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย ยกระดับให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยในวันนี้กำลังขยายไปสู่การจัดการท่องเที่ยวท้องถิ่นเชิงสุขภาพขึ้นในพื้นที่แล้ว”

จากนั้น เวทีเสวนาได้เริ่มจากการพูดคุยกับ “ผู้ประกอบการชุมชน” ที่เข้าร่วมโครงการพลังชุมชน SCG และผ่านการอบรมใน หลักสูตร Mini MBA จนในวันนี้ได้ยกระดับเป็น นวัตกรชุมชน ที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ เพื่อส่งต่อความสำเร็จสู่ชุมชนต่างๆ ทั่วไทย

ภัทชา ตนะทิพย์ หรือ แม่ภัทชา เจ้าของศูนย์นวัตกรรมกล้วยหอมทอง อ.วังชิ้น จ.แพร่ เล่าให้ฟังย่อว่า

“เมื่อก่อนเป็นเกษตรกรปลูกกล้วยขายนี่ล่ะค่ะ แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งกล้วยราคาถูกมาก ไม่ประสบความสำเร็จ จึงคิดว่าคงถึงเวลาที่เราต้องปรับตัว ทดลองสูตรใหม่ จนมาได้รู้จักกับโครงการพลังชุมชน ได้มีโอกาสไปเรียนรู้การแปรรูปกล้วยเพื่อเพิ่มมูลค่า จนมาเป็นผลิตภัณฑ์แรก “กล้วยหอมทองรสคาราเมล””

“จากนั้นก็ทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น “กล้วยบดผสมธัญพืชสำเร็จรูป” ที่ใช้กล้วยหอมที่เพาะปลูกท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของสายน้ำแร่ทองคำ อ.วังชิ้น จ.แพร่ นำมาบดกับธัญพืชและผักหลายชนิด โดยผลิตภัณฑ์นี้เราไม่ใส่สารกันบูด วัตถุแต่งกลิ่น เมื่อนำไปรับประทานแค่เติมน้ำร้อน คนให้เข้ากัน ก็กินได้ทันที ถ้าจะเพิ่มคุณค่าทางอาหาร ก็ใส่เนื้อสัตว์ ผัก ไข่ เพิ่มได้ มาในวันนี้เราได้ผลิตทุกผลิตภัณฑ์จากการปรับเอาความรู้ที่ได้รับจากการโครงการพลังชุมชนในการแปรรูปอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งได้ถ่ายทอดไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในหลายชุมชนแล้ว”

และ แม่ภัทชา ได้เล่าถึงอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ทำขึ้นในแบรนด์เซสเต้ เป็น “กล้วยหอมทองซีเรียล” โดยเริ่มจากการนำกล้วยหอมทองใหญ่พันธุ์ดีที่ปลูกในดินดีและใส่ปุ๋ยชีวภาพ จึงไม่มีสารพิษตกค้าง ทำให้กล้อมหอมทองยังคงคุณค่าทางอาหารครบถ้วน เช่น ซูโครส ฟรุกโตส และกลูโคส จากนั้นนำมาผ่านกรรมวิธีสลัดน้ำมัน ปรุงรสด้วยคาราเมล อบด้วยอุณหภูมิ 125 องศา 2 ครั้ง จนได้กล้วยหอมทองที่กรอบพิเศษและหอมอร่อย

ไม่เพียงเท่านั้น ในกล้วยหอมทองซีเรียลยังมีการนำ กระบก หรือ มะมื่น ที่ได้ชื่อว่าเป็นอัลมอนด์เมืองไทย จากป่าอันอุดมสมบูรณ์ ที่ออกผลตามธรรมชาติ และร่วงลงมาสู่พื้นดินมาผ่าแล้วนำไปคั่ว จากนั้นแกะเปลือกสีน้ำตาลออกก็จะได้เมล็ดกระบกสีขาว ที่มีรสชาติ หอม หวาน มัน อร่อย เพิ่มรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับ “กล้วยหอมทองซีเรียล” แบรนด์เซสเต้ด้วย

อย่างไรก็ดี แม่ภัทชา ยังได้แชร์บนเวทีถึงปัญหาที่ค้นพบในระหว่างการสร้างแบรนด์ ซึ่งนับเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นส่วนใหญ่มักเจอเช่นกัน นั่นคือการพัฒนา แพคเกจจิง หรือ บรรจุภัณฑ์ ให้สวยงาม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ซึ่ง แม่ภัทชา ก็นำปัญหานี้ไปปรึกษาอาจารย์จากโครงการพลังชุมชนและได้รับความช่วยเหลือ คำแนะนำ มา ทำให้สามารถพัฒนาแพคเกจจิงให้ตอบโจทย์ตลาดได้

นอกจากนั้น อีกหนึ่งบทเรียนที่ได้เรียนรู้จาก แม่ภัทชา เจ้าของแบรนด์ เซสเต้ กล้วยหอมทอง คือ การไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้แม่ภัทชา เป็นต้นแบบของ “ผู้ประกอบการท้องถิ่น” ที่ยกระดับสู่ “นวัตกรชุมชน” ได้จริง

“เมื่อผลิตภัณฑ์ กล้อมหอมทองรสคาราเมลได้วางขาย ก็ได้รับฟีดแบกกลับมาว่ากล้วยยังอมน้ำมัน เราก็เลยมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไม่อมน้ำมัน ก็คิดถึงวิธีการสลัดน้ำมันโดยใช้เครื่องสลัดน้ำมัน แต่ก็พบว่าเครื่องชนิดนี้มีราคาแพง และพอมาคิดกลไกการทำงานน่าจะเหมือน “เครื่องซักผ้า” เลยไปทดลองซื้อตัวปั่นที่มีสองหัวและเอากล้วยหอมที่ยังร้อนมาเข้าเครื่องปั่นที่ทดลองทำขึ้น เพื่อไม่ให้มันกรอบ ปั่นแล้วแตก จากการทดลองนี้ก็พบว่าสลัดแค่ครึ่งนาที กล้วยที่ได้ก็จะแห้งไม่อมน้ำมันแล้ว”

“และแน่นอนว่า แพคเกจจิง มีความสำคัญมาก บางครั้งสินค้าของเราอร่อย ใครได้ชิมก็ชอบ แต่ถ้าแพคเกจจิงไม่สวย ก็ทำให้ไม่มีคนซื้อได้เหมือนกัน ก็ต้องขอบคุณทางเอสซีจี โครงการพลังชุมชน ด้วย ที่มาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ให้เรา”

ตัวอย่างผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่เรียนรู้ศาสตร์พระราชา หยิบเอาพืชเศรษฐกิจ ปลดล็อคการทำธุรกิจในพื้นที่ สู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ต่อมา สินชัย พุกจินดา เจ้าของโฮมสเตย์หมอนไม้ไออุ่น ได้มาแชร์มุมมองในฐานะ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โดยกล่าวว่า

“เพราะได้มาเรียนรู้กับโครงการพลังชุมชน จึงได้ศึกษาเรื่อง “ศาสตร์พระราชา” ที่มาปรับใช้กับกิจการของเราอย่างได้ผล ซึ่งตอนแรกผมทำเกี่ยวกับธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ จนกระทั่งในตอนหลังได้เปิดที่พักเป็นโฮมสเตย์ และใช้ที่ดินมรดกของคุณพ่อมาเป็นพื้นที่ปลูกผักปลอดภัย ร้านอาหาร และร้านกาแฟในที่เดียวกันด้วย”

“สำหรับผม แม่ภัทชา ยังเป็นบุคคลต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและลงมือทำ หลังจากได้เข้าอบรมในโครงการพลังชุมชน จึงเกิดความคิดว่า ชุมชนเรามีของดีที่เป็นเอกลักษณ์และพัฒนาเป็นอาชีพได้ นั่นคือทิวทัศน์ที่สวยงาม อากาศดี น่าท่องเที่ยว จึงใช้ทักษะการเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ไม้สักมาออกแบบโฮมสเตย์ “หมอนไม้ไออุ่น” จุดเด่นคือนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสเครื่องเรือนไม้สักที่ทำจากมือด้วยหัวใจ ให้บริการอาหารเครื่องดื่ม ชมทิวทัศน์ที่สวยงามท่ามกลางภูเขา ส่งผลให้ที่นี่กลายเป็น “จุดเช็คอิน” ที่นักเดินทางต้องแวะเวียนมา”

“นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านนำสินค้าของฝากของที่ระลึกมาจำหน่าย อนาคตจะดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อยกระดับให้ อ.วังชิ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ช่วยสร้างงาน อาชีพ และยังทำให้คนท้องถิ่นภูมิใจในบ้านเกิดด้วย”

ด้าน ธมนภัทร สมภาร เจ้าของกิจการ “โกโก้ครบวงจร” อดีตพยาบาลวิชาชีพ ที่ลาออกจากราชการมาประกอบธุรกิจ

ส่วนตัว โดยมีความสนใจที่จะปลูกโกโก้เพราะสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ดูแลสุขภาพคนได้ทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และโกโก้ก็รับประทานได้ทุกเวลา มีประโยชน์ต่อร่างกายตั้งแต่อวัยวะภายในไปจนถึงภายนอก สมอง หลอดเลือดหัวใจ ไปจนถึงอารมณ์ และอีกปัจจัยที่ทำให้ปลูกโกโก้เพราะลูกสาวทำเบเกอรี่ด้วย”

“แต่ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้บางส่วนก็ประสบปัญหาเรื่องการแปรรูปโกโก้เป็นผลิตภัณฑ์ แต่ตัวเองมีความคิดว่า แล้วทำไมต่างประเทศถึงยังส่งผลิตภัณฑ์จากโกโก้มาขายให้เราได้ ทำไมประเทศไทยไม่มีการผลิตโกโก้ เพื่อขายในประเทศไทยเราเอง คิดได้แบบนี้เลยศึกษา เรียนรู้ เรื่องการแปรรูปโกโก้รวมกับทั้งทางมหาวิทยาลัย และได้พลังเสริมที่ดีจากโครงการพลังชุมชน ที่ทำให้เราได้รู้จักเครือข่ายผู้ประกอบการชุมชน ที่เป็นการรวมพลังผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และอาจารย์ของโครงการนี้ ยังปลูกฝังแนวคิดให้เราไม่หยุดพัฒนาตนเอง ทำให้ธุรกิจเราเดินต่อได้”

“มาในวันนี้ปลูกโกโก้มา 5 ปี ก็พัฒนามาสู่การปลูกโกโก้อินทรีย์ด้วย และในวันนี้เรามีโรงผลิตขนาดเล็ก ทำช็อกโกแล็ต ทำโกโก้ผง ทำเบเกอรี่ และผ่านมาตรฐาน อย. แล้ว วันนี้ดิฉันภูมิใจค่ะ ที่ธุรกิจโกโก้ของเราได้ส่งผ่านกำลังใจให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ และพวกเขาได้เปลี่ยนใจจากการทำตามกระแสการโค่นต้นโกโก้ทิ้ง มาทำโกโก้อย่างจริงจังอีกครั้งและสร้างรายได้เพื่อมาเลี้ยงครอบครัวของตนเองได้”

รู้จัก Loco Pack แบรนด์นวัตกรรมแพคเกจจิง ตัวช่วยของ SME ท้องถิ่น ออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าให้สินค้า โดนใจผู้บริโภค

มาถึงอีกหนึ่งธุรกิจ Loco Pack ของเอสซีจี ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การช่วยแบรนด์สินค้าท้องถิ่นให้เข้าถึงการพัฒนาแพคเกจจิง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอย่างได้ผล โดย ณิชยา อนันตวงษ์ หนึ่งในทีมสตาร์ทอัพที่เป็นนักออกแบบซึ่งเป็นนักเรียนทุนของเอสซีจี จาก Loco Pack

“ต้องยอมรับว่าปัญหาการเข้าถึงแหล่งผลิตแพคเกจจิงที่สวยงาม เหมาะกับผลิตภัณฑ์และช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าของผู้ประกอบการท้องถิ่นเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เราทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไข เนื่องจากการผลิตแพคเกจจิงโดยทั่วไปจำเป็นต้องผลิตทีละมากๆ เพื่อให้ได้ราคาถูกลง แต่ผู้ประกอบการท้องถิ่นอาจไม่มีเงินทุนในส่วนนี้มากนัก ด้วยเหตุนี้เอง ทาง Loco Pack จึงอยากเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้”

“โดย Loco Pack ได้คิดค้นเทคโนโลยีขึ้นมา โดยทำเป็น อัลกอริทึ่ม เชื่อมระหว่างผู้ประกอบการที่มีความต้องการแพคเกจจิงจำนวนไม่มาก แล้วส่งไปยังโรงงานผู้ผลิตที่ยังช่องว่าง ยังสามารถผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการตรงนี้ได้ ก็เป็นการนำ Demand และ Supply มาเจอกัน”

“จากการทำงานร่วมกับ SME ไทย เราพบว่า ในแบรนด์ของสินค้าท้องถิ่นมีหลากหลายแบรนด์ที่มีความเข้มแข็ง มีสินค้าคุณภาพที่ดี แต่ยังขากการส่งเสริมให้เขาเข้าถึงแหล่งผลิตแพคเกจจิงที่ดี ซึ่งจุดนี้เองที่ทาง Loco Pack ได้มาเติมเต็มความต้องการทั้งของผู้ประกอบการท้องถิ่นและโรงงานผู้ผลิตแพคเกจจิงเอง ที่ก็อยากได้รับงานตรงนี้อย่างต่อเนื่องด้วย ที่สุดแล้วผู้ประกอบการท้องถิ่น แบรนด์ SME ต่างๆ ก็จะเข้าถึงแพคเกจจิงที่สวยงาม ราคาไม่แรง จับต้องได้จริง”

“ทั้งนี้ ในตอนนี้ Loco Pack ให้บริการผลิตได้ทั้ง กล่องพลาสติก กล่องกระดาษ ทั้งกล่องกระดาษแข็ง กล่องกระดาษลูกฟูก กล่องขนส่งสินค้า ฯลฯ ที่ตอบสนองทั้งผู้ประกอบการสินค้าที่เป็นอาหาร เครื่องสำอาง และเทคโนโลยีที่เราใช้จะไม่ใช่เทคโนโลยีเดิมที่ทางโรงงานผลิตใช้กันอยู่ในระดับอุตสาหกรรม ทำให้การผลิตแค่ 1,000 ชิ้น ก็สามารถสั่งผลิตได้แล้ว นอกจากนั้น Loco Pack ยังให้คำปรึกษาในเรื่องของการออกแบบได้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้น โดยทาง Loco Pack จะให้คำปรึกษาและความมั่นใจในเรื่องการเลือกโรงงานผู้ผลิตให้ด้วย”

โครงการ พลังชุมชน SCG ลมใต้ปีกเคียงข้างผู้ประกอบการท้องถิ่นทั่วไทย

ด้าน อาจารย์พีระพงษ์ กลิ่นละออ อาจารย์ผู้สอนโครงการพลังชุมชน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงหลักการทำงานของโครงการพลังชุมชน SCG ว่า

“โครงการ “พลังชุมชน” เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยเอสซีจี มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพชุมชนให้พึ่งพาตนเอง เติบโตอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เสริมความรู้คู่คุณธรรม ส่งเสริมการนำภูมิปัญญาและวัตถุดิบท้องถิ่นมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างอัตลักษณ์แบรนด์สินค้า สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบ่งปัน จนเกิดเป็นครอบครัวพลังชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นต่อไป”

“นอกจากนั้น การดำเนินการของ โครงการพลังชุมชน ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าของไทย โดยในการทำงานร่วมกับชุมชนแต่ละชุมชนทั่วไทย เราเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับ “ความเป็นธรรมชาติ” ที่เป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวของผู้ประกอบการในชุมชน เราจะไม่เอากรอบใดๆ ไปกำหนดหรือสอนเขา แต่จะสนับสนุนให้เขาได้ระเบิดจากภายใน ด้วยกลไกที่เราเสริมให้เกิดผลลัพธ์ที่ง่าย รวดเร็ว และไปอย่างยั่งยืน โดยทางโครงการฯจะเน้นการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชน”

“ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้ จึงเป็นเรื่องที่เราประมวลเอาความคิด ความรู้ และการลงมือทำ ให้ทุกชุมชนได้รู้ เปลี่ยน และปรับ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนที่แผ่ขยายไปยังชุมชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึงและยั่งยืน”

อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในชุมชนทุกมิติ ที่เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนและบุคคลทุกวัยในชุมชนนี้เอง ที่สร้างคุณภาพชีวิตและชุมชนน่าอยู่ให้เกิดขึ้นได้จริง

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/02/05/stop-poverty-model-in-wangchin-phrae/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210