สหรัฐออกกฎเข้ม ห้ามจด ‘ลิขสิทธิ์’ ภาพวาดที่มาจากเอไอ

Loading

สำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐ (USCO) ออกกฎ ห้ามศิลปินหรือผู้ใช้งาน ‘จดลิขสิทธิ์’ ภาพวาดที่สร้างขึ้นด้วยเอไอทั้งหมด

ปัจจุบันมีภาพวาดที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเครื่องมือ Generated AI เป็นจำนวนมาก โดยเอไอสร้างภาพได้ส่งผลกระทบเชิงบวกและลบที่ตามมา หนึ่งในนั้นคือ “ลิขสิทธิ์” เมื่อผู้ใช้งานสร้างสรรค์ภาพวาดด้วยเอไอ สังคมตีคำถามไปกลับว่า “ภาพวาดเหล่านั้น ลิขสิทธิ์เป็นของใคร?”

ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ หรือ USCO ได้ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่า รูปภาพใด ๆ ที่สร้างขึ้นด้วยการส่งข้อความ (Prompt) ไปยังเครื่องมือเอไอต่าง ๆ เช่น Midjourney หรือ Stable Diffusion จะไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ภายในประเทศได้ เนื่องจากเทคโนโลยีเอไอได้รับการสั่งงานผ่าน Prompt ให้ผลิตทั้งงานเขียน รูปภาพ หรืองานเพลง จะถือว่าเป็นงานที่เกิดจากเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ไม่ได้เกิดจากผู้สร้างที่เป็นมนุษย์

ซึ่งลิขสิทธิ์ดังกล่าว จะคุ้มครองเฉพาะเนื้อหาที่เป็นผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เท่านั้น ไม่เพียงแต่ผลงานรูปภาพ แต่ผลงานอื่น ๆ ที่เกิดจากเอไอก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์และการขึ้นทะเบียนผลงานเช่นเดียวกัน

ทาง USCO มองว่าผลงานที่ถูกสร้างโดยเอไอ เป็นผลงานที่ถูกผลิตซ้ำในทางกลไกหรือ Mechanical Reproduction เพราะเอไอได้ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้วจากระบบนิเวศลายเส้นมาประมวลผลให้เกิดขึ้นเป็นรูปใหม่ หรือบางกรณีก็มีความใกล้เคียงกับรูปเดิมของศิลปินที่เป็นมนุษย์ ทำให้เกิดปัญหาคัดลอกผลงานที่ตามมา

อย่างไรก็ตามทาง USCO ยังเปิดกว้างในเรื่องการใช้เอไอเข้ามาช่วยในส่วนต่าง ๆ ของผลงาน ซึ่งจะมีสอบถามเป็นรายกรณี

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของของศิลปินชื่อ Kris Kashtanova เปิดเผยผ่านบัญชีอินสตราแกรมส่วนตัวว่า ผลงานหนังสือนิยายประกอบภาพที่มีภาพที่สร้างจากเอไอของเขาได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในสหรัฐฯ ในวันที่ 15 กันยายน 2565

หนังสือนิยายมีชื่อว่า Zarya of the Dawn ซึ่ง Kashtanova สร้างภาพประกอบโดยใช้ Midjourney โดยได้ยื่นต่อสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ว่าใช้เอไอเพื่อช่วยสร้างภาพประกอบ (ไม่ได้สร้างภาพทั้งหมดด้วยเอไอ) เขาเขียนเรื่องราวและสร้างสรรค์การจัดวางรูปแบบหนังสือด้วยตนเอง

แน่นอนว่าหากองค์ประกอบแบบดั้งเดิมของผลงานนั้นถูกสร้างโดยเอไอก็จะถือว่าเป็นผลงานที่ไม่ได้สร้างโดยมนุษย์ และทางสำนักงานก็จะไม่ลงทะเบียนผลงานให้

พร้อมกันนี้ทาง USCO ก็มีกำหนดเป็นเจ้าภาพอภิปรายเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เพิ่มเติม และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเอไอในหัวข้อต่าง ๆ ภายในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2566 นี้

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1059588


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210