ในนิยามของ Unesco (ยูเนสโก) เมืองสร้างสรรค์ (Creative City) คือ เมืองที่มีการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ ทั้งในเชิงสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ วรรณกรรม ดนตรี ศิลปะ และการออกแบบ โดยตั้งแต่ในปี ค.ศ. 2004 จนถึงปัจจุบัน มีการสร้างเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โดย UNESCO (UNESCO Creative Cities Network, UCCN) ขึ้น ซึ่งเป็นการรวบรวมเมืองสร้างสรรค์จากทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกันเป็นเครือข่าย เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาในด้านสังคมและวัฒนธรรม
ทั้งยังเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่ให้ผู้มาเยี่ยมเยียนได้รู้จักเมืองผ่านหลายมุมมองมากขึ้น รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเมือง พร้อมเปิดรับประสบการณ์แปลกใหม่ของแต่ละเมืองที่ต่างก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปอีกด้วย
ในวันนี้ จึงมีเมืองทั่วโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก ให้เป็น เมืองสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ล่าสุด “ยูเนสโก” ได้ประกาศขึ้นทะเบียน 5 จังหวัดของไทย “เพชรบุรี – สุโขทัย – กรุงเทพฯ – ภูเก็ต – เชียงใหม่” เป็น เมืองสร้างสรรค์ ด้านอาหาร หัตถกรรมพื้นบ้าน และการออกแบบ สะท้อนเอกลักษณ์ที่มีศักยภาพของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย
เปิดหน้าต่าง ทำความรู้จัก 5 เมืองสร้างสรรค์ ระดับโลก
ก่อนจะไปรับรู้ศักยภาพของ 5 จังหวัด เมืองสร้างสรรค์ ของไทย ขอแนะนำเมืองสร้างสรรค์ระดับโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก ยูเนสโกในด้านการออกแบบ ซึ่งแต่ละเมืองเป็น Dream Destination ของนักเดินทางทั่วโลก ที่ต่างมุ่งมั่นทำให้งานออกแบบและงานสร้างสรรค์เชิงสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของคนในเมือง รวมทั้งเป็นบ้านที่อบอุ่นเพื่อเปิดรับผู้คนจากทั่วโลกอีกด้วย
เบอร์ลิน (Berlin)
เบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศเยอรมัน เป็นศูนย์กลางด้านการออกแบบของยุโรปที่เปิดโอกาสให้ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นได้รังสรรค์ผลงานออกแบบที่ร่วมสมัยและแบบดั้งเดิมเชิงวัฒนธรรม ที่พัฒนาสังคมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ยังมีการสนับสนุนจากภาครัฐที่จัดตั้งโครงการ The Projekt Zukunft เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านงานสร้างสรรค์ต่างๆ
งานออกแบบสมัยใหม่ยังสามารถกลมกลืนไปกับตึกเก่าและอนุสรณ์สถานอายุหลายร้อยปีหลายแห่งในเมืองได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่เปิดกว้างให้กับงานสร้างสรรค์อย่างเต็มที่จนเป็นที่ยอมรับของคนจากทั่วโลก มีการจัดงานเทรดแฟร์ งานเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลภาพถ่ายหรือแฟชั่น และสร้างแพลตฟอร์มด้านงานออกแบบพร้อมแลกเปลี่ยนด้านงานออกแบบจากต่างประเทศ
บูดาเปสต์ (Budapest)
บูดาเปสต์ เมืองหลวงของประเทศฮังการี เป็นเมืองที่สตาร์ทอัพในด้านงานออกแบบต่างให้ความสนใจ ส่งเสริมให้เศรษฐกิจของงานสร้างสรรค์เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยงานออกแบบมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน มีการจัดงานและกิจกรรมที่น่าสนใจอย่าง Design Week Budapest และ Ajándék Terminál fair ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ หรือโปรเจกต์ “Your place, your success!” และ “I’ll be right back” ที่พัฒนาพื้นที่แถบชานเมืองในด้านอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ไม่ให้การพัฒนากระจุกอยู่แค่เพียงในตัวเมืองอย่างเดียว และยังสนับสนุนให้มีการทำงานวิจัยมากมายด้านเชิงวัฒนธรรมเพื่อนำมาต่อยอดด้านงานดีไซน์ด้วย
เม็กซิโกซิตี้ (Mexico city)
เม็กซิโกซิตี้เป็นหนึ่งในเมืองที่เป็นศูนย์กลางของงานอาร์ทและงานสร้างสรรค์ออกแบบของโลก โดยได้รับรางวัล Official World Design Capital ในปี 2018 เป็นเครื่องการันตี เป็นเมืองหลวงที่จัดงานเฟสติวัลมากมาย ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมเยียนเมืองนี้ ทั้งงานเฟสติวัลด้านดีไซน์อย่าง Abierto Mexicano de Diseño, Design Week Mexico และ City Mextrópoli ภาครัฐยังมีการจัดตั้ง Lab for the City เพื่อแก้ไขปัญหาของเมืองและสังคมโดยเฉพาะ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเมืองในแบบที่พวกเขาต้องการ พร้อมนำงานสร้างสรรค์เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วย
โซล (Seoul)
โซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ ประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในทุกด้าน รวมทั้งด้านการออกแบบด้วย โดยงานออกแบบในแบบฉบับของโซลมักจะมีความเกี่ยวข้องในด้านเทคโนโลยี ทั้งอุปกรณ์สำหรับใช้ในบ้านแบบดิจิทัล อุปกรณ์สำหรับรถยนต์ และยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐยังส่งเสริมด้านเทโนโลยีด้วยการเชื่อมโยงเข้ากับบริษัทด้านการออกแบบหลายแห่ง เพื่อพัฒนาไอเดียด้านการออกแบบ
และยังมีการจัดตั้งศูนย์ด้านการออกแบบ Dongdaemun Design Plaza (DDP) ซึ่งเป็นผลงานออกแบบของ Zaha Hadid กลางย่านเก่าแก่ของโซล ประกอบไปด้วยพิพิธภัณฑ์งานออกแบบ หอศิลปะ แล็ปทดลองด้านการออกแบบ หอสมุดด้านงานออกแบบ และอื่นๆ อีกมากมายที่จัดเตรียมไว้ให้สำหรับการศึกษาด้านงานออกแบบโดยเฉพาะ
สิงคโปร์ (Singapore)
สิงคโปร์ เมืองเล็กๆ ที่สุดแสนจะทันสมัยในระดับสากลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองที่การออกแบบมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด ทั้งยังออกแบบโดยคำนึงถึงการดำเนินชีวิตของคนในเมือง ทั้งการอยู่อาศัย สุขภาพของคนเมือง การศึกษา ระบบขนส่งและการเดินทาง ภาครัฐยังให้ความสำคัญถึงขั้นจัดตั้งสภา Design Singapore ภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมขั้นมาโดยเฉพาะ
ร่วมยินดีกับข่าวดี เมื่อ ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน 5 “เพชรบุรี สุโขทัย กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่” เป็น 5 เมืองสร้างสรรค์ใน 3 ด้าน
มาถึงข่าวดีล่าสุดที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เมื่อ 5 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ สุโขทัย และเพชรบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านอาหาร หัตถกรรมพื้นบ้าน และการออกแบบจากเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) สะท้อนการทำงานของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
โดยเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ต่อยอดมาจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) หรือ ยูเนสโก โดยเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ผ่านนโยบายระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับนานาชาติที่เชื่อมโยงกับเมืองต่างๆ กว่า 300 เมืองทั่วโลก เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
ขณะที่เมืองสมาชิกจะต้องตรวจสอบความก้าวหน้าและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามเกณฑ์ของโครงการทุก 4 ปี โดยแบ่งออกเป็น 7 สาขา ได้แก่ หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts & Folk Art) การออกแบบ (Design) ภาพยนตร์ (Film) อาหาร (Gastronomy) วรรณกรรม (Literature) สื่อศิลปะ (Media Arts) และดนตรี (Music) ซึ่งปัจจุบันยูเนสโกขึ้นทะเบียน 5 จังหวัดของไทย เป็นเมืองสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ ดังนี้
จ.ภูเก็ต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เมื่อปี 2558 โดยภูเก็ตมีวัฒนธรรมการทำอาหารแบบดั้งเดิมและเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ส่งผ่านระหว่างรุ่น สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจท้องถิ่นจากอาหารได้กว่า 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี
จ.เชียงใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี 2560 โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ยังคงสืบสานและสนับสนุนอุตสาหกรรมงานฝีมือ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมายาวนาน ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเงิน ไม้แกะสลัก การปักไหม และเครื่องเขิน โดยปัจจุบันเชียงใหม่เป็นแหล่งจ้างงานหลักของอุตสาหกรรมงานฝีมือของผู้ประกอบการถึง 159 แห่ง
กรุงเทพมหานคร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ เมื่อปี 2562 โดยกรุงเทพฯ มีความหลากหลายของประชากร มีการผสมผสานระหว่างสุนทรียภาพแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ ทำให้เกิดวิวัฒนาการการออกแบบของเมือง ผ่านช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ และชุมชนการผลิตเชิงสร้างสรรค์มีอยู่ทั่วเมือง
จ.สุโขทัย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี 2562 โดยสุโขทัยมีมรดกทางศิลปะและหัตถกรรมดั้งเดิมอันยาวนาน และเป็นศูนย์กลางการผลิตช่างฝีมือซึ่งมีกว่า 1,300 คน ที่ทำงานในชุมชน เช่น ผ้าทอ เครื่องประดับทองและเงิน เซรามิก และเครื่องสังคโลก โดยงานฝีมือดังกล่าวสะท้อนถึงภูมิปัญญาโบราณ และการยกระดับเศรษฐกิจของสุโขทัย
จ.เพชรบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เมื่อปี 2564 โดยเพชรบุรีมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ และระบบนิเวศ ขึ้นชื่อเรื่องวัตถุดิบคุณภาพสูง มีสูตรอาหารดั้งเดิมของชุมชน และการผสมผสานประเพณีเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทำให้อาหารท้องถิ่นได้รับการดัดแปลงให้แพร่หลายมากขึ้นในระดับชาติและระดับโลก
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2023/06/05/5-creative-city-thailand-unesco-2023/