อังกฤษบังคับใช้กฎหมาย ‘ป้องกันรีวิวปลอม’ และเก็บค่าธรรมเนียมแฝง

Loading

การรีวิวสินค้าและบริการจากผู้ซื้อในแพลตฟอร์มออนไลน์ คือหนึ่งในสิ่งที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการของเราเองว่าจะเสียเงินให้กับสิ่งเหล่านี้หรือไม่

ไม่เว้นแม้กระทั่งในสหราชอาณาจักรที่พบข้อมูลว่า ผู้บริโภคร้อยละ 90 ใช้รีวิวประกอบการตัดสินใจและมีส่วนทำให้เกิดการใช้จ่ายในตลาดออนไลน์ในปี 2023 สูงถึง 217 พันล้านปอนด์ ตามรายงานของกระทรวงธุรกิจและการค้า

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ผู้บริโภคต้องพบเจอคือการรีวิวสินค้า/บริการที่ถูกปลอมแปลงขึ้นในแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้า/บริการต่างๆ ถึงขนาดที่มีอุตสาหกรรมเล็กๆ ที่คอยรับจ้างรีวิวสินค้าในเชิงบวก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

โดยรายงานของกระทรวงธุรกิจและการค้าในเดือนเมษายน 2023 พบว่าการรีวิวอย่างน้อย 1 ใน 10 รายการบนแพลตฟอร์ม E-commerce มีแนวโน้มที่จะเป็นรีวิวปลอม

ในปี 2023 จึงได้มีการเสนอร่างกฎหมายตลาดดิจิทัล การแข่งขัน และผู้บริโภค (Digital Markets, Competition and Consumers Act) ต่อรัฐสภาสหราชอาณาจักร ซึ่งรัฐสภาได้ผ่านกฎหมายในปี 2024 และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2025 โดยที่เจ้าของเว็บไซต์ ธุรกิจ และแพลตฟอร์มออนไลน์จะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการควบคุมรีวิวปลอมที่ถูกเผยแพร่ในแพลตฟอร์มของตนเอง

เว็บไซต์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรยังระบุว่า กฎหมายดังกล่าวจะป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคประสบปัญหา เช่น การไปยังร้านอาหารที่มีรีวิว 5 ดาว แต่กลับได้รับอาหารคุณภาพ 1 ดาว หรือสั่งสินค้าออนไลน์จากร้านที่คะแนนรีวิวดีมาก แต่กลับไม่มีสินค้ามาส่ง หรือเมื่อได้สินค้าแล้ว แต่ไม่ตรงปก นอกจากป้องกันปัญหารีวิวปลอมแล้ว กฎหมายดังกล่าวยังป้องกันเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมแฝง ที่มักจะต้องถูกบังคับจ่ายก่อนจะสามารถชำระเงินซื้อสินค้า/บริการได้ หรือที่ถูกรวมเข้ามาภายหลังเมื่อตัดสินใจชำระเงิน

รายงานของกระทรวงธุรกิจและการค้าเมื่อเดือนกันยายน 2023 พบว่า ผู้ให้บริการในภาคบันเทิงร้อยละ 45 มีการคิดค่าธรรมเนียมแอบแฝงที่บังคับจ่ายอย่างน้อยหนึ่งรายการ ส่วนในภาคท่องเที่ยวและบริการโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 21 และในภาคค้าปลีก (ไม่รวมค่าส่งสินค้า) อยู่ที่ร้อยละ 3 และในทุกปี ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาลถึง 2.2 พันล้านปอนด์สำหรับค่าธรรมเนียมเหล่านี้ตามรายงานในเว็บไซต์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร

กฎหมายดังกล่าวจึงระบุให้ค่าธรรมเนียมบังคับต่างๆ เช่น ค่าดำเนินการ หรือค่าจองตั๋ว จะต้องรวมอยู่ในราคาหลักตั้งแต่แรก และไม่สามารถเพิ่มเข้ามาในตอนหลังระหว่างขั้นตอนการชำระเงิน เพื่อหลอกให้ผู้บริโภคจ่ายแพงกว่าที่คิดไว้ในตอนแรก

อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่นี้จะครอบคลุมเฉพาะค่าธรรมเนียมที่ถูกบังคับเก็บเท่านั้น ส่วนค่าธรรมเนียมเสริมที่ผู้บริโภคเลือกเองได้ เช่น การอัปเกรดที่นั่งหรือกระเป๋าเดินทางเวลาจองตั๋วเครื่องบิน จะไม่ถูกรวมอยู่ในข้อบังคับนี้

จัสติน แมดเดอร์ส (Justin Madders) รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านสิทธิแรงงาน การแข่งขัน และตลาด กล่าวว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจมากขึ้น เพราะมีกฎหมายคุ้มครองจากรีวิวปลอมและการแทรกค่าธรรมเนียมเพิ่มโดยไม่บอกล่วงหน้า

“การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริโภคมีอำนาจและสามารถควบคุมการใช้จ่ายเงินสดที่หามาด้วยความยากลำบากได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยสร้างพื้นที่การแข่งขันที่เท่าเทียม โดยขัดขวางผู้กระทำผิดที่บ่อนทำลายธุรกิจที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และนี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อการเปลี่ยนแปลงของเรา”

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1233901204964880&set=a.811136580574680


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210