ถึงเวลาต้องปรับตัว เรียนรู้ที่จะอยู่กับ AI ให้ได้

Loading

บนโลกที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และมีบทบาทที่ออกจะล้ำเส้นในการเป็นผู้ช่วยของมนุษย์ มุ่งสู่การเป็นภัยคุกคามมากกว่า อย่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่นับวันยิ่งมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโลกได้มากขึ้น จนเราเริ่มคาดเดาไม่ได้แล้วว่าอนาคตต่อจากนี้มันจะพัฒนาไปในทิศทางไหนอีก แต่ที่แน่ ๆ ชีวิตของคนเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะบทบาทของ AI ต่อตลาดแรงงานทั่วโลก มีตำแหน่งงานจำนวนไม่น้อยถูกแทนที่โดย AI เรียบร้อยแล้ว

ที่ผ่านมา เราไม่สามารถปฏิเสธ AI ได้อย่างเต็มปาก เพราะส่วนหนึ่งมันก็อำนวยความสะดวกสบายให้กับเราได้มากจริง ๆ บางอย่างที่ AI ทำได้ มนุษย์ทำไม่ได้ด้วยซ้ำ และดูเหมือนว่าเราจะถูกใจประโยชน์ของ AI ข้อนี้ดี เราเลยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสังคมที่มี AI เป็นส่วนหนึ่งในสักทาง ทว่าเรื่องของการออกแบบและใช้เทคโนโลยี AI ในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญกับแง่มุมทางจริยธรรมมากขึ้น จะใช้ AI อย่างไรเพื่อไม่ให้มันสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวโลก ในฐานะมนุษย์ธรรมดาตัวเล็ก ๆ คงต่อต้านที่จะไม่ให้ AI ถูกนำมาใช้งานในตลาดแรงงานไม่ได้ ในท้ายที่สุด AI ก็จะถูกนำมาใช้งานในด้านต่าง ๆ อยู่ดี

AI ค่อย ๆ รุกคืบชีวิตของมนุษย์

หลาย ๆ คนคงน่าจะรับรู้ได้เองแล้วว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่ AI ทำได้แทบจะทุกอย่างที่มนุษย์ทำได้ ตั้งแต่แค่หาข้อมูลมาตอบคำถามดินฟ้าอากาศ การเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เขียนบทความ สร้างสรรค์บทกวี สร้างผลงานศิลปะ เป็นศิลปิน เป็นอินฟลูเอนเซอร์ สั่งให้ทำอะไรก็ทำได้อย่างอัตโนมัติ บ้างก็เริ่มเรียนรู้ความผิดพลาดในการทำงานของตัวเองได้แล้วด้วย ความสามารถของ AI เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากกว่าที่เคยทำได้ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ใช่มนุษย์อยู่ดี AI ไม่อาจมีความเป็นมนุษย์เหนือกว่าตัวมนุษย์ได้อยู่แล้ว

ศักยภาพของ AI ที่ทำได้แทบจะทุกอย่าง ความสามารถของมันจึงกลายเป็นที่ฮือฮามากเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงว่าสมควรแค่ไหนในการนำ AI มาใช้งานด้านนี้ทั้งที่มันไม่ใช่มนุษย์ แถมยังละเมิดลิดรอนสิทธิบางอย่างของมนุษย์ด้วย เช่น ประเด็นที่ศิลปินต่างชาติออกมาแบนผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นจาก AI ประเด็นงานเขียนหลายอย่างที่ AI สร้างขึ้นได้ หรือแม้กระทั่งศิลปินที่เป็น AI เสมือนจริง ทำให้เห็นว่ามนุษย์จำนวนไม่น้อยกำลังค่อย ๆ ถูก AI กลืนกินอย่างช้า ๆ ในด้านอาชีพการงาน

ไม่นานมานี้ เรามีอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ที่กลายเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน นักพัฒนาหลายชาติ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ รวมถึงไทย ต่างก็สร้างอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงของตัวเองขึ้นมาและเริ่มมีการใช้งานจริงในวงการ ของไทยมี Ai Ailynn เป็น AI Influencers คนแรก

หรือการที่กลุ่มศิลปินต่างชาติออกมาประกาศแบนงานศิลปะจาก AI ในเว็บไซต์ Artstation ด้วยการโพสต์ภาพ “NO TO AI GENERATED IMAGES (ไม่เอาภาพที่สร้างโดย AI)” เพื่อต่อต้านภาพศิลปะจาก AI เนื่องจากงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดย AI หลายชิ้นลดทอนคุณค่าของงานศิลปะมนุษย์ และบั่นทอนทั้งเวลาและทักษะในการทำงานของมนุษย์ อย่างไรก็ดี AI กับวงการศิลปะก็เคยมีเรื่องอื้อฉาว จากประเด็นที่ศิลปินชื่อว่า Jason Allen ใช้ภาพที่วาดขึ้นโดย AI ส่งเข้าประกวดจนชนะรางวัลที่ 1 มาก่อน (ผลงานที่มีชื่อภาพว่า Theatre d’Opera Spatial)

แต่ดราม่าในครั้งนี้จะแตกต่างออกไป เพราะงานศิลปะจาก AI ในเว็บไซต์ Artstation ไม่ได้สร้างขึ้นจากการป้อนคำสั่งวาดผ่านคีย์เวิร์ด แบบที่ Ai Midjourney ทำ แต่เป็นการขโมยผลงานศิลปะของศิลปินทั่วโลกแบบที่ไม่ระบุแหล่งที่มา นำมาวิเคราะห์ ดัดแปลงนิด ๆ หน่อย ๆ จนได้ผลงานใหม่ออกมา แล้วถือครองสิทธิในภาพนั้น ๆ ทั้งที่ภาพศิลปะจาก AI นี้ไม่ใช่ภาพต้นฉบับ และไม่ใช่ผลงานที่ใครเป็นเจ้าของและเผยแพร่ได้ เนื่องจากภาพของ AI ถูกสร้างขึ้นโดยการนำผลงานมนุษย์ที่มีอยู่มาปรับเป็นภาพใหม่อีกที

ล่าสุดวงการไอดอลมีสะเทือน เมื่อ T-Town Digital Studio ได้เปิดตัว “VAVA (วาวา)” ศิลปินที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี AI เสมือนมนุษย์จริงคนแรกของไทย (The 1st T-POP Realistic Virtual Artist) มีทักษะการร้องเพลงและการเต้นอันโดดเด่น แถมยังน่ารักสดใส มีความเป็นธรรมชาติ มีภาพลักษณ์และนิสัยคล้ายมนุษย์มากที่สุดเท่าที่เคยมีในประเทศไทย เหมือนจริงถึงขนาดที่ไม่ค่อยจะมีใครเชื่อว่าเป็น AI แต่ถ้าเข้าไปติดตามในโซเชียลมีเดียที่เป็นทางการของ VAVA จะพบข้อมูลว่าเป็น “Realistic Virtual Artist” จริง ๆ

หรือประเด็นที่ AI สามารถเขียนบทความได้จาก ChatGPT แชตบอตที่สามารถค้นหาคำตอบและตอบคำถามได้แทบทุกอย่าง นอกจากนี้มันยังเขียนบทความ เนื้อเพลง เขียนโค้ด ทำสคริปต์ เขียนสูตรทำอาหาร ได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที อีกทั้งยังพูดคุยและแสดงอารมณ์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ สำหรับการเขียนบทความ ซึ่งปกติเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งความคิด ความสร้างสรรค์ รวมถึงความซับซ้อนทางด้านจิตใจมนุษย์ แต่ ChatGPT กลับสร้างบทความหนึ่งชิ้นได้ภายในเวลา 5-6 นาที แค่กำหนดหัวข้อให้มันเท่านั้น ต่างจากมนุษย์ที่กว่าจะเค้นความคิดออกมาได้

พัฒนาสิ่งที่ AI ไม่มีและทำแทนไม่ได้

ต่อให้ AI เป็นเทคโนโลยีสุดฉลาดและน่าทึ่งแค่ไหน แต่มันก็มีบางอย่างที่ไม่ว่าอย่างไรมนุษย์ก็ได้เปรียบกว่า นั่นก็คือ AI ไม่มีจิตวิญญาณ อย่างที่เราเห็นกัน AI ทำงานที่ยากและซับซ้อนได้ แต่มันก็ทำตามคำสั่งจากโปรแกรมที่ถูกตั้งค่าไว้ ผลงานที่ออกมาเลยแข็ง ๆ ทื่อ ๆ แบบที่ไม่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณหรือความรู้สึกร่วมใด ๆ ออกมา ตรงนี้นี่เองที่ AI ไม่มีและยังไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้ และไม่คุ้มค่าที่จะพัฒนาขึ้นมา

ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ทำมันมีความซับซ้อนทางจิตใจมากกว่าแค่ความเป็นเหตุเป็นผลแบบที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำ มนุษย์มีตรรกะ แต่มนุษย์ก็มีความรู้สึก มีอารมณ์ ดังนั้น ผลผลิตทุกสิ่งอย่างที่ออกมาจากมนุษย์จึงมักจะมีจิตวิญญาณถ่ายทอดออกมาด้วยเสมอ

มีงานศึกษาของ Carl Benedikt Frey และ Michael A. Osborne ซึ่งเป็นนักวิจัยจาก Oxford University ผลการศึกษาระบุว่าต่อให้เทคโนโลยีจะฉลาดล้ำโลกแค่ไหน แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ทำให้ยังมีงานที่ต้องอาศัยทักษะอยู่ 3 ประเภทที่ยังไม่สามารถพัฒนาให้ AI มาทำงานแทนคนได้ในเวลาอันใกล้ ได้แก่ งานที่ใช้ความละเอียดประสาทสัมผัสและการมองเห็น (Hand) งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Head) และงานที่ใช้ความฉลาดทางสังคม (Heart) เราจึงควรมุ่งเน้นพัฒนาในส่วนที่ AI ไม่มีและยังทำแทนเราไม่ได้ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เรามีประสบการณ์และประสาทสัมผัสที่จะช่วยให้เราหยั่งรู้ในสิ่งต่าง ๆ ที่เหนือกว่า AI ได้

หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ มนุษย์จะยังคงได้เปรียบตรงที่สามารถสั่งสมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและพัฒนาตนเองได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะในส่วนงานที่ไม่คุ้มค่าที่จะพัฒนา AI ให้มาแทนที่คน ในยุคที่เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเพื่อนร่วมงานเป็นเทคโนโลยี เราก็ควรจะทำหน้าที่ของตนเองให้ดี ในขณะเดียวกันก็กอบโกยประโยชน์จาก AI ให้ได้มากที่สุด พยายามทุ่นแรงตัวเองลง เอาส่วนนี้ให้เทคโนโลยีทำ แล้วหันไปอัปเกรดตัวเองกับงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะด้านในขั้นที่สูงขึ้น รวมถึงการตัดสินใจที่ซับซ้อน

ฉลาดที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

เรามาถึงจุดที่มนุษย์ธรรมดาทั่วไปที่มีอยู่ครึ่งค่อนโลกไม่มีโอกาสจะเอาชนะ AI ได้อีกต่อไปแล้ว ด้วยความที่ AI มันล้ำหน้ามนุษย์ทั่ว ๆ ไปไปเยอะมาก ฟังดูอาจสิ้นหวัง แต่เราก็ไม่สามารถมองดู AI เฉิดฉายอยู่เฉย ๆ จนตัวเราเดือดร้อนได้เหมือนกัน จะหวั่นวิตกก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน สุดท้ายแล้วโลกก็มี AI อยู่ดี ดังนั้น วิธีพื้นฐานที่สุด คือเราควรจะอยู่ร่วมกับ AI ให้ได้มากกว่า และเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับ AI ฉลาดที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสุดล้ำ ส่วนไหนที่ AI สามารถทำงานได้ดีกว่า ก็อาศัยข้อได้เปรียบตรงนั้นมาช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น

เพราะเราสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นตัวช่วยและเป็นส่วนเสริมในสิ่งที่เราขาด เช่น AI ในยุคนี้ช่วยเราหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น ช่วยลดเวลาในการทำงาน ช่วยอำนวยความสะดวกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาลงมือเอง เป็นต้น ในขณะเดียวกัน AI เองก็ยังต้องมีมนุษย์หรือคนคอยดูแลความเสถียรอยู่เหมือนกัน ข้อเท็จจริงก็คือ ถึง AI จะฉลาด แต่ AI ก็เกิดขึ้นมาจากสติปัญญาของคนอยู่ดี มนุษย์ต้องควบคุมไม่ให้ AI ก่อความเสียหาย และปล่อยให้ AI คอยช่วยงานมนุษย์ตามหน้าที่ที่มันถนัด มนุษย์จะได้มีเวลาไปพัฒนาตัวเองหรือทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและการทำงานมากขึ้น

บางทีเราอาจต้องปรับมุมมองใหม่ จากการที่มองเทคโนโลยีเป็นศัตรูหรือมองว่ามันน่ากลัว ลองมองว่าจะให้มันเป็นมิตรต่อเราอย่างไรดี เราจะใช้ประโยชน์จากความสามารถของมันได้อย่างไรบ้าง ท่าทีในการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีจะช่วยกำหนดชีวิตในสายงานของเราได้ มองอย่างเป็นกลาง น่าจะเป็นหนทางที่ช่วยให้เรามีโอกาสรอดได้มากที่สุดแล้วในช่วงเวลาแบบนี้

พร้อมที่จะปรับตัว

มันคงมีประโยชน์น้อยมาก ๆ หากจะต่อต้านไม่ให้มีการใช้งานเทคโนโลยี AI ด้วยความกังวลเรื่องที่ AI จะเป็นภัยคุกคามของมนุษย์มากกว่าผู้ช่วย ในขณะเดียวกับที่พวกนักพัฒนาทั้งหลายผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าการใช้ AI มันควรจะถูกควบคุมอย่างมีแบบแผน แต่ต้องไม่ใช่การต่อต้านเพราะกลัวตัวเองจะเดือดร้อนเนื่องจากถูก AI แย่งงาน

ดังนั้น ใครที่ยังโลกสวยอยู่ว่าสายงานของตนเองจะไม่โดน AI แย่งงาน หรืองานที่ตัวเองทำอยู่ไม่มีใครทำหน้าที่ตรงนี้แทนฉันได้ คงต้องกลับมาหาความรู้เรื่อง AI กันใหม่ ว่าทุกวันนี้มันล้ำสมัยจนก้าวข้ามอะไรไปบ้างแล้ว AI ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ มันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด

ในยุคที่ตลาดแรงงานกำลังถูกเทคโนโลยีเข้ามาปั่นป่วน มีหลายสายงานที่เริ่มถูกเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน เพราะฉะนั้น AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัว นับวัน AI ยิ่งมีศักยภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ และเรื่องของ AI ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะรู้กันอยู่แค่ในกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูง ๆ อีกต่อไปแล้วด้วย อย่าลืมว่าคนกลุ่มแรก ๆ ที่มีโอกาสจะถูก AI แย่งงาน คือกลุ่มแรงงานฝ่ายผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่างหาก ไม่ใช่ระดับผู้บริหาร หากคนกลุ่มนี้ไม่รู้แนวโน้มของ AI ในอนาคตอันใกล้ ก็จะจวนตัวเวลาที่ต้องเตรียมแผนสำรอง หรือถ้าหากประเมินตนเองรอบด้านแล้วรู้ดีว่ายังไงก็สู้ AI ไม่ได้ ก็อาจจะมองหาลู่ทางใหม่ไม่ทันการด้วย จึงควรต้องรู้จักและมีแผนเผื่อไว้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด

เรื่องของ “ทักษะ” คือหนทางรอด

เป้าหมายของ AI คือการทำงานเลียนแบบมนุษย์ แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่า AI คือทักษะต่าง ๆ ที่มนุษย์มี เพราะสมองและศักยภาพของมนุษย์ไม่มีขีดจำกัดเหมือนกับเทคโนโลยีที่ถูกเขียนขึ้น ดังนั้น เพื่อให้อยู่รอดในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทต่อโลกการทำงานมากขนาดที่ทำเอาหลายคนรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ เมื่อได้เห็นสิ่งที่ AI ทำได้ มนุษย์จึงต้องหันไปจริงกับการพัฒนาและเพิ่มทักษะต่าง ๆ ให้ตนเอง

ทักษะการทำงานที่มนุษย์ควรพัฒนาเพื่อให้ตนเองยังเป็นผู้รอดในสงครามที่คู่ต่อสู้มีทั้งมนุษย์ด้วยกันและเทคโนโลยีอย่าง AI หลัก ๆ คือ ทักษะด้านการสื่อสารหรือการประสานงานกับผู้อื่น ทั้งกับคนในองค์กรและนอกองค์กร การสื่อสารที่ชัดเจน ตรงประเด็น รัดกุม และมีคุณภาพ คือสิ่งที่มนุษย์สามารถจัดสรรได้ดีกว่าหุ่นยนต์

ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าปัจจุบัน AI จะสามารถทำงานด้านการสร้างสรรค์ได้ แต่เทคโนโลยีก็ถูกตั้งโปรแกรมไว้ให้ได้ผลลัพธ์แบบเดิม ๆ ที่ไม่ได้ฉีกไปจากกันเท่าไรนัก ในขณะที่มนุษย์สามารถออกนอกกรอบได้มากกว่าและคิดไปได้เรื่อย ๆ อย่างไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ และจินตนาการ

ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และการวางแผน มนุษย์ไม่ได้มีสมองไว้เพื่อสั่งงานให้ร่างกายทำงานเท่านั้น แต่มนุษย์ยังมีสมองไว้เพื่อคิดวิเคราะห์และวางแผนด้วย มนุษย์จะใช้ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ และจินตนาการที่ตนเองมีอย่างไม่จำกัด เพราะสามารถหามาเติมได้เรื่อย ๆ เป็นวัตถุดิบ คิดบิด คิดแตกต่าง คิดนอกกรอบ ต่างจากเทคโนโลยีที่จะทำงานตามโปรแกรมที่ตั้งค่าไว้มากกว่า ดังนั้น มนุษย์จึงสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาที่ยากและมีความซับซ้อนได้ดีกว่า AI เพราะจิตใจและความคิดของมนุษย์นั้นยังมีความลึกลับและซับซ้อนเกินกว่า AI จะหยั่งถึงได้

แหล่งข้อมูล

https://www.sanook.com/hitech/1571363/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210