‘ดีอี’ เร่งแก้กฎหมายป้องกันภัยออนไลน์

Loading

“ดีอี” โชว์ลดอาชญากรรมออนไลน์ลง 40% เดินหน้าเร่งเสนอแก้กฎหมายเพิ่มโทษตัดวงจรโจร พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นวันสตอปเซอร์วิส

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงดีอี ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยช่วงที่ผ่านมาสามารถลดปัญญาลงได้กว่า 40% แต่จากการศึกษาเคสที่ตกเป็นเหยื่อหลังๆ พบว่า ผู้เสียหายจะมีการคุยกับมิจฉาชีพโดยตรงแล้วโอนเงินทำธุรกรรมออนไลน์ จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้นว่า เทคนิคหรือวิธีการของมิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกลวงมีวิธีการอย่างไรบ้าง จะช่วยเป็นเครื่องมือที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น

“คณะทำงานได้พยายามปิดทุกช่องทาง ทั้งบัญชีม้า ที่เปิดได้ยากขึ้น ซิมผี ที่มีการกวาดล้าง และใช้เอไอจับว่ามีการโทรศัพท์ออกมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน การให้มีการจดแจ้งถือครองซิมที่มากกว่า 5 ซิมการ์ด รวมถึงการตรวจจับผู้ที่ลักลอบขายซิมเถื่อน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเกี่ยวกับการตรวจสอบสินค้าก่อนรับ จากกรณีเก็บเงินปลายทาง”

ในช่วงวันปีใหม่นี้กระทรวงดีอี และรัฐบาลยังมีมาตรการที่จะออกมากำกับดูแลประชาชน เกี่ยวกับลิงก์แอปพลิเคชันดูดเงิน จะทำการเปลี่ยนระบบ

โดยใครที่จะส่งข้อความ SMS ต้องไปขึ้นทะเบียนกับผู้ให้บริการมือถือก่อนว่าใครเป็นผู้ส่ง (Sender Name) และหากเป็นข้อความ SMS ที่ส่งไปแล้วทำให้เกิดความเสียหาย จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย โดยเตรียมที่จะออกมาเป็นกฎหมายให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และธนาคารพาณิชย์ หากมีส่วนปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายกับประชาชนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบชดใช้ด้วย

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า  สำหรับกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขใน พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อให้การแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้จะมีเนื้อหาในเรื่องการเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะกรณีที่มีการระงับหรืออายัดบัญชีม้าที่มีเงินในธนาคาร และการเพิ่มโทษ การซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยถือว่า เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม โดยจะเพิ่มอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี ด้วย โดยขณะนี้ กฎหมายอยู่ในขั้นตอนของ คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง หากไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นๆ ก็จะส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป

สำหรับสถิติยอดแจ้งความออนไลน์สะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 30 พฤศจิกายน 2567 มีจำนวน 739,494 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 77,360,070,295 บาท เฉลี่ยความเสียหายวันละ 77 ล้านบาท ผลการอายัดบัญชี จำนวน 560,412 บัญชี ยอดอายัดได้ จำนวน 8,627,715,890 บาท

ขณะที่ตั้งแต่วันที่  1 – 30  พฤศจิกายน 2567 ผลการแจ้งความออนไลน์ รวม 31,353 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 2,540,251,400 บาท เฉลี่ยวันละ 85 ล้านบาท ผลการอายัดบัญชี จำนวน 16,229 บัญชี ยอดขออายัด จำนวน 1,864,371,518 บาท ยอดอายัดได้ จำนวน 383,933,622 บาท

สำหรับประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้

  1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มูลค่าความเสียหาย 146,876,439 บาท
  2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 526,791,217 บาท
  3. ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 444,379,386 บาท
  4. หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 99,885,464 บาท
  5. หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น มูลค่าความเสียหาย 221,723,880 บาท

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1158037


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210