ประเทศไทย ทุบสถิติใหม่ ทำอันดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ‘ดัชนีนวัตกรรมโลก’ ปี 2024

Loading

ประเทศไทย ทุบสถิติใหม่ ทำอันดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ‘ดัชนีนวัตกรรมโลก’ ปี 2024 คว้าอันดับ 41 และเป็นที่ 3 ใน ASEAN

การจัดทำ ดัชนีนวัตกรรมโลก ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ถือเป็นตัวชี้วัดความสามารถทางด้านนวัตกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาของแต่ละประเทศกว่า 132 ประเทศทั่วโลก

โดยในปีนี้ผลการจัดอันดับ ดัชนีนวัตกรรมโลก 2024 ปรากฎว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 41 ของโลกจากทั้งหมด 133 ประเทศ (ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า) และยังคงอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นรองประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย

โดยภาพรวมความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศไทย มีพัฒนาการขยับอันดับทั้งปัจจัยทางเข้านวัตกรรม (Innovation input sub-index) และผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) สะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนนวัตกรรมที่มาถูกทาง

ขณะเดียวกัน ปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมที่ไทยมีความโดดเด่นที่สุดคือกลุ่มปัจจัยด้านระบบธุรกิจ โดยเฉพาะตัวชี้วัดสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ (GERD financed by business, %) ยังคงเป็นปัจจัยที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นเป็นอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันมาเป็นปีที่ 5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ในส่วนองค์ประกอบตัวชี้วัดที่ต้องเร่งพัฒนา คือปัจจัยด้านการส่งออกบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่อการค้ารวม (ICT services exports, % total trade) สัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่อ GDP (Expenditure on education, % GDP) โดยมีปัจจัยอัตราของคุณครูในโรงเรียน (Pupil–teacher ratio, secondary) ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่ในตัวชี้วัดด้าน Human capital and research ที่ประเทศไทยต้องแก้ไขอย่างจริงจัง และอีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาคโรงงานอุตสาหกรรมคือ สัดส่วนการใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ (Low-carbon energy use, %) เพราะจะเห็นว่า Climate Tech ในอนาคตกำลังมีบทบาทอย่างมาก

ดังนั้น จากจุดที่เป็นความท้าทายทั้งหมดจะเห็นว่า หลายส่วนต้องเพิ่มการทำงานจากฝั่งภาครัฐ ในบทบาทของการเป็นผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม ซึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในด้านนี้ คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA จึงได้เชื่อมโยงความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมไปด้วยกัน

ประเด็นการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา สกสว. มองว่าต้องเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับภาคเอกชนในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้นักวิจัยเข้าใจภาคของตลาด ทั้งยังมองไปถึงความสำคัญในการพัฒนาภาคการศึกษา ทั้งด้านกำลังคนและในเชิงพื้นที่ โดยต้องสร้างการรับรู้ ส่งสัญญาณให้ภาคส่วนต่างๆ เชื่อมั่นในศักยภาพของนวัตกรรมไทยที่พัฒนาขึ้น

ประเด็นการเร่งให้เกิดการขยายตลาดของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ และการทำแพลตฟอร์ม กระทรวงพาณิชย์ จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างความร่วมมือกับเอกชน สร้างความรู้เกี่ยวกับการบริหาร และยังสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก Data ที่มาจากการจดสิทธิบัตรทั่วโลก เพื่อคาดการณ์อนาคตถึงแนวโน้มตลาด นอกจากนั้นยังรวมถึงอีกเทรนด์ที่สำคัญ คือการผลักดันให้เกิดการทำธุรกิจในหลัก ESG ในลักษณะที่ไม่ใช่แค่รายใหญ่เท่านั้น แต่รายเล็กก็ต้องขานรับด้วย

ประเด็นหลักสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรม โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เห็นสิ่งจำเป็นตั้งแต่การสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญ และส่งเสริมให้เกิดการจดสิทธิบัตร ซึ่งที่ผ่านมามีกระบวนการอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น การใช้ AI เข้ามาช่วยเพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำ รวมถึงช่วยตอบคำถามเบื้องต้นต่างๆ นอกจากนี้ ยังมี Fast Track ทั้งในเรื่องเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรต่างๆ โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ การแพทย์และสาธารณสุข และอาหารแห่งอนาคต รวมถึงการปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับระบบสิทธิบัตรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศมากขึ้น

นอกจากนั้นยังมี ปัจจัยด้านผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative outputs) ซึ่งมีตัวชี้วัดจำนวนภาพยนตร์ขนาดยาวปานกลางระดับชาติที่ผลิตในประเทศโดยเฉลี่ยต่อประชากรในช่วงอายุ 15-69 ปี (National feature films/mn pop. 15-69) ที่อันดับมีการขยับขึ้น โดยภาพรวมแม้จะยังไม่สูงมากแต่ก็เป็นสิ่งที่ประเทศมีศักยภาพ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงมองว่าถึงเวลาเร่งเครื่องอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft Power และส่งเสริมการทำงานระหว่างนักออกแบบและนักธุรกิจ ต่อยอดให้เกิดการนำสินทรัพย์ทางนวัตกรรมมาผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ นำอารมณ์ร่วมทางความรู้สึกที่เป็นจุดเด่นในการเล่าเรื่องมาประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีจุดขาย

และส่วนสุดท้ายการจะเดินหน้าระบบนวัตกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ต้องมีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานระดับนานาชาติ เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือให้เกิดการกำหนดทิศทางและวางแผนเชิงนโยบายอย่างตรงจุด รวมไปถึงการเร่งสร้างวิสาหกิจรุ่นใหม่ที่จะสามารถเติบโตไปเป็นยูนิคอร์นได้สำเร็จ

และด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลักดันผู้ประกอบไทยสู่ตลาดสากล NIA ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับสากลผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับหน่วยงานระดับประเทศในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกา เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งในการสนับสนุนองค์ความรู้ เงินทุน และสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมศักยภาพของทั้งสตาร์ทอัพไทยและสตาร์ทอัพต่างชาติ

นอกจากนั้น ยังเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจสู่ตลาดสากลให้กับผู้ประกอบการไทยผ่านโปรแกรม “Investment Link” ที่ผู้ประกอบการจะได้เข้าร่วมงานแสดงผลงานนวัตกรรมระดับโลก เพื่อขยายตลาดและแสดงศักยภาพของนวัตกรรมไทยสู่สากล และยังมี “Global Startup Hub” ซึ่งเป็น Community ที่จะช่วยอำนวยความสะดวก ให้กับสตาร์ทอัพต่างชาติ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา กิจกรรมขยายเครือข่ายความร่วมมือ เชื่อมโยงกับนักลงทุนหรือบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ รวมถึงมาตรการส่งเสริมเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่าง Capital Gain Tax และการรับรอง Smart Visa

พร้อมกับการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ Business Matching, Business Networking และเวที Pitching เพื่อให้สตาร์ทอัพได้พบปะกับนักลงทุน รวมถึงมีโปรแกรม Landing Pad ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายตลาดในประเทศเครือข่ายที่เรามีความร่วมมือ เช่น Vienna Startup Package, The Scaleup Impact! Thailand – Sweden Global Startup Acceleration Program

โดย NIA มั่นใจว่าการเพิ่มกลไก Global นี้ นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดสู่ตลาดสากลแล้วยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรมอีกด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/11/06/innovation-world-index-2024-thailand/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210