“แผน AI แห่งชาติ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งวางรากฐานไว้ก่อนยุค Generative AI จะเฟื่องฟู แต่การมาถึงของเทคโนโลยีอย่าง ChatGPT ได้พลิกเกม ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ ทั้งการปรับแผน AI ชาติให้ทันโลก เพื่อเตรียม ความพร้อมด้าน AI ให้กับประเทศ รับมือภาวะขาดแคลนบุคลากรทักษะสูง การหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมและการกำกับดูแล รวมถึงโจทย์ใหญ่เรื่องสร้างหรือซื้อเทคโนโลยี เมื่อการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบระยะยาว”
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้เคยกล่าวไว้ถึงความสำคัญของการเตรียม ความพร้อมด้าน AI ให้กับประเทศ บนเวที สัมมนา “Decoding Thailand’s AI Future Strategy for Competitive Edge” ในงาน ประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 (NAC2025)
จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการหยิบเอาประเด็นเรื่อง ความพร้อมด้าน AI มาถกกันอีกครั้ง โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
โดยในครั้งนี้ ได้รับสนับสนุนจาก UNESCO และสหภาพยุโรป ให้จัดประชุมเพื่อรับรองรายงานการประเมินความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ของประเทศไทย (Readiness Assessment Methodology: RAM) ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมเพื่อร่วมกันทบทวนรายงาน และหารือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนา AI ของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
UNESCO RAM ก้าวสำคัญในการพัฒนา AI ระดับโลก
AI เป็นเทคโนโลยีที่แพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค AI ยูเนสโกได้พัฒนาคำแนะนำว่าด้วยจริยธรรมของ AI โดยใช้ใน 194 ประเทศเมื่อปี 2021 ต่อมาในปี 2023 ยูเนสโกได้พัฒนาและเผยแพร่ระเบียบวิธีการประเมินความพร้อม (Readiness Assessment Methodology: RAM) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้แต่ละประเทศประเมินสถานะความพร้อมด้าน AI และวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่ยุติธรรม ยั่งยืน และครอบคลุม ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินโครงการดังกล่าวในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565–2570 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 และมีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ” (National AI committee) ในเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน
หลังจากประเทศไทยได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติมาครบ 2 ปี จึงเข้าสู่การประเมินความพร้อมตามกรอบยูเนสโก RAM ในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และทันท่วงทีต่อการระบุสถานะปัจจุบันของระบบนิเวศAI ในประเทศไทยอย่างครอบคลุม และออกแบบการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้ระบบนิเวศดังกล่าวมีความพร้อมมากขึ้น โดยมีการร่วมมือ และเป็นเจ้าของร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด พร้อมทั้งกำหนดทิศทางไปสู่การใช้ AI ที่ถูกต้องตามจริยธรรม
ในโอกาสนี้ ดร.ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ได้มากล่าวเปิดงานและย้ำถึงความสำคัญของ RAM ในการเป็น “กระจกสะท้อน” ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถมองเห็นสถานะความพร้อมและโอกาสในการพัฒนา AI อย่างเป็นระบบและมีจริยธรรม พร้อมระบุด้วยว่า
“RAM ถือเป็นกลไกสำคัญที่ยูเนสโกพัฒนาขึ้นเพื่อประเมินระดับความพร้อมของประเทศสมาชิกในการพัฒนา และใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างรับผิดชอบ รวมทั้งคำนึงถึงหลักจริยธรรม โดยมุ่งเน้นให้ประเทศต่างๆ สามารถกำหนดแนวทางและนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ขณะที่ Mr. Phinith Chanthalangsy, Regional Advisor for the Social and Human Sciences ตัวแทนจากยูเนสโก ได้กล่าวถึงบทบาทของ RAM และการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกมีความพร้อมด้าน AI โดยเน้นย้ำถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล
“RAM ไม่ได้เป็นเพียงการประเมินทางเทคนิค แต่ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกทางจริยธรรมในการใช้ AI เพื่อให้เทคโนโลยีนี้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปลอดภัยและเป็นธรรม”
สำหรับการประเมิน RAM นั้นครอบคลุม 5 มิติ ประกอบด้วย
- มิติสังคมและวัฒนธรรม หรือการเข้าถึง AI อย่างเท่าเทียมและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
- มิติการศึกษาและวิทยาศาสตร์ หรือการพัฒนาทักษะและความรู้ด้าน AI ในทุกระดับ
- มิติทางเศรษฐกิจ หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
- มิติโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี หรือความพร้อมด้านดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเติบโตของ AI
- มิติกฎหมายและการกำกับดูแล หรือการสร้างกรอบในการส่งเสริมการใช้งาน AI อย่างปลอดภัยและเป็นธรรม
ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการประเมินความพร้อมด้าน AI ภายใต้กรอบ RAM โดยการประชุมครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมกันทบทวนและพิจารณารายงานที่ได้จัดทำขึ้น เพื่อให้สามารถสะท้อนสถานะความพร้อมของประเทศได้อย่างแท้จริง
ประเมิน ความพร้อมด้าน AI ประเทศไทย กับความก้าวหน้าภายใต้ RAM
ด้าน ดร. สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงผลการประเมินในครั้งนี้ว่า
“การประเมินภายใต้กรอบ RAM ทำให้ประเทศไทยสามารถระบุจุดแข็งทางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและเทคโนโลยีที่มีอยู่ รวมถึงความท้าทายเชิงนโยบายที่ยังต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการประเมินนี้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและตอบสนองต่อการพัฒนา AI อย่างตรงจุด เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับสากล”
“จากการประเมินในครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้ครอบคลุม การลงทุนในงานวิจัยที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม และพัฒนาทักษะบุคลากรที่พร้อมรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล และการมีสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้การพัฒนา AI ในประเทศไทยไม่เพียงแค่มีประสิทธิภาพ แต่ยังสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก”
สำหรับผลการประเมินและการทบทวนจากการประชุมครั้งนี้จะถูกนำเสนอในเวทีระดับโลก “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับยูเนสโกในเดือนมิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพมหานคร
โดยเวทีนี้จะรวบรวมผู้นำโลก ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และผู้กำหนดนโยบายจากประเทศสมาชิกของยูเนสโก เพื่อหารือความท้าทาย และโอกาสในการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรม พร้อมเร่งผลักดันให้นำนโยบายด้านจริยธรรม AI ของยูเนสโกไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในด้าน AI แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ในการพัฒนา และการใช้งาน AI อย่างยั่งยืนและปลอดภัย อันเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการผลักดัน AI อย่างมีจริยธรรมและยั่งยืนบนเวทีโลก
แชร์ 5 กลยุทธ์ ขับเคลื่อนประเทศไทย สู่ศูนย์กลาง AI และเทคโนโลยีแห่งภูมิภาค โดย สภาดิจิทัลฯ
และล่าสุด สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) ได้เสนอ 5 กลยุทธ์ ขับเคลื่อนประเทศสู่ศูนย์กลาง AI และเทคโนโลยีแห่งภูมิภาค สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศไทย ครั้งที่ 1/2568 โดยมี ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลฯ ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ และ ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลฯ ร่วมนำเสนอ
โดย 5 แนวทางยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของภูมิภาค มีดังนี้
- ส่งเสริมการใช้งาน AI อย่างเต็มศักยภาพ มุ่งผลักดันการประยุกต์ใช้ AI ในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่อนาคต
- พัฒนา AI ของชาติ (Sovereign AI) ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (Affordability) โดยการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน AI อย่างเป็นระบบ เช่น GPU (Graphics Processing Unit) และ Open Source Model เพื่อยกระดับความสามารถในการพัฒนา เทคโนโลยี AI ภายในประเทศอย่างเป็นระบบ และเปิดกว้างให้ประชาชนและทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงเครื่องมือ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากกรณี Deepseek ซึ่งสามารถพัฒนา Open Source AI ระดับสูงที่นำไปต่อยอดในหลากหลายอุตสาหกรรม
- ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และจริยธรรมในการใช้งาน AI (Ethical AI) เน้นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ด้วยการพัฒนากรอบกฎหมายและข้อบังคับที่ทันสมัย เพื่อป้องกันการใช้ AI ในทางที่ผิด เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ การปลอมแปลงข้อมูล และการคุกคามความเป็นส่วนตัว พร้อมส่งเสริมการพัฒนา “AI อย่างมีจริยธรรม” และยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางข้อมูล
- ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้พัฒนา AI โดยเสนอแนวทางดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกโดยให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนให้เข้ามาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในประเทศไทย พร้อมประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถของ AI Talents และระบบการศึกษาของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก
- เพิ่มเป้าหมายการลงทุนด้าน AI ของภาครัฐ (Government Spending) โดยเสนอให้พิจารณาตั้งเป้าหมาย อย่างน้อย 0.05% ถึง 0.1% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ของภูมิภาค ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2025/05/17/ai-readiness-assessment-methodology-thailand-2025/