โลกเปลี่ยน คนปรับ เตรียมคนไทยสู่โลกในศตวรรษที่ 21

Loading

เป็นที่ทราบกันว่า โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่ขับเคลื่อนด้วยพลัง “ปัญญามนุษย์” อย่างไรก็ดี ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศต้องเผชิญกับภาวะประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โชคดีที่ประเทศเหล่านี้มีทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพและโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ดีพอรองรับ

ในทางตรงข้าม ประเทศที่กำลังพัฒนา/ที่ยากจนกลับเผชิญประเด็นปัญหาในทางกลับกัน กล่าวคือ มีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก แต่ไม่สามารถสร้างทุนมนุษย์เหล่านี้ให้มีคุณภาพที่ดีพอได้

นับเป็นความโชคร้ายของประเทศไทย ที่ต้องเผชิญทั้งจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น พร้อมๆ กับ คุณภาพของทุนมนุษย์ที่ถดถอยลง

เตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นความท้าทายที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่เราสามารถเตรียมความพร้อมได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมพร้อมด้านสวัสดิการ เช่น การส่งเสริมการออม บำนาญ การดูแลสุขภาพ การมีงานทำ การ Reskilling, Upskilling และ New Skilling ให้แรงงาน การเตรียมความพร้อมทั้งด้านกำลังคน เช่น การเพิ่มกำลังแรงงาน ยกระดับผลิตภาพแรงงาน การบริหารจัดการ Stock & Flow ให้แก่แรงงานทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

ประเทศไทยได้มีการเตรียมรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับหนึ่ง อาทิ การออก พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

อย่างไรก็ดี เรายังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนพอในการเตรียมความพร้อมด้านระบบสวัสดิการ การวางแผนกำลังคนเชิงรุก หรือการฉกฉวยโอกาสจากสังคมผู้สูงอายุ เช่น ด้านการแพทย์ สาธารณสุข ระบบบำนาญ และสวัสดิการทั้งระบบแรงงาน

จาก 7 ข้อบกพร่อง สู่ 7 หลักคิดที่ไม่ถูกต้อง

ควบคู่ไปกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับคุณภาพของทุนมนุษย์ที่ถดถอยลง ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่เรื้อรังและรุนแรง ส่วนหนึ่งมาจาก “ข้อบกพร่อง” ในระบบการศึกษาจากอดีตจวบจนปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 ประการ

1. ยึดตัวผู้สอน มากกว่า ยึดตัวผู้เรียน เป็นศูนย์กลาง

2. เน้นการสอน มากกว่า การเปิดโอกาสให้เรียนรู้

3. เน้นปรุงสำเร็จ มากกว่า เป็นเชื้อให้ไปคิดต่อ

4. เน้นการลอกเลียน มากกว่า ความคิดสร้างสรรค์

5. เน้นท่องจำทฤษฎี มากกว่า ลงมือปฏิบัติ

6. เน้นพึ่งพาคนอื่น มากกว่า พึ่งพาตนเอง

7. เน้นสร้างความเป็นตน มากกว่า สร้างความเป็นคน

“ข้อบกพร่อง 7 ประการ” นี้ได้หล่อหลอมคนไทยให้มี “หลักคิดที่ไม่ถูกต้อง 7 ประการ” ดังนี้

1. เน้นผลประโยชน์พวกพ้อง มากกว่า ผลประโยชน์ส่วนรวม

2. เรียกร้องสิทธิ์ มากกว่า หน้าที่

3. เน้นความถูกใจ มากกว่า ความถูกต้อง

4. เน้นชิงสุกก่อนห่าม มากกว่า อดเปรี้ยวไว้กินหวาน

5. เน้นรูปแบบ มากกว่า เนื้อหาสาระ

6. เน้นปริมาณ มากกว่า คุณภาพ

7. เน้นสายสัมพันธ์ มากกว่า เนื้องาน

ผลพวงที่เกิดขึ้นคือ คนไทยโดยทั่วไปขาดอุปนิสัยใฝ่หาความรู้และความเข้าใจในปัญหาที่มีความซับซ้อน จะรับรู้แต่เรื่องง่ายๆ และไม่เอาจริงเอาจังในเรื่องที่ต้องเอาจริงเอาจัง เมื่อความรู้ความเข้าใจต้องอาศัยทฤษฎีหรือหลักปรัชญา คนไทยส่วนใหญ่กลับมองว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเสียเวลา

ด้วยเหตุนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยจึงมีความเอนเอียงที่จะเชื่อ “ข่าวลือ” มากกว่า “ข้อเท็จจริง” ชอบ “วิจารณ์” มากกว่าชอบ “วิเคราะห์” ใช้ “อารมณ์” มากกว่าใช้ “เหตุผล”

พฤติกรรมดังกล่าวไม่สอดรับกับพลวัตใน โลกศตวรรษที่ 21 ที่ต้องการ “พลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ” (Engaged Citizen) และ “ทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ” (Productive Talents) เพียงพอในการนำพาตนเองและประเทศไปสู่ความเป็นปกติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จาก People for Growth เป็น Growth for People

กระบวนทัศน์การศึกษาแบบเดิมเน้น “การตระเตรียมผู้คนเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ” (People for Growth)

โดยมองคนเพียงแค่ทรัพยากร เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยนำเข้าของการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระบวนทัศน์ดังกล่าวได้สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมให้เพิ่มมากขึ้น

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์การศึกษาเสียใหม่เป็น “การสร้างการเติบโตเพื่อเติมเต็มศักยภาพของประชาชน” (Growth for People) โดยสร้างการเติบโตเพื่อรองรับผู้คนให้มีโอกาสที่เท่าเทียมกัน ในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของตน พร้อมๆ กับการปลูกจิตสำนึกของความรักท้องถิ่น หวงแหนแผ่นดินเกิด เห็นประโยชน์ของชาติเหนือประโยชน์ส่วนตัว ช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปัน บนรากฐานของความเคารพและไว้ใจซึ่งกันและกัน รวมถึงการปลูกฝังจิตใจแห่งความเป็นประชาธิปไตย

กระบวนทัศน์ Growth for People มุ่งสร้างคนไทยให้มีคุณลักษณ์ที่สอดรับกับพลวัต โลกในศตวรรษที่ 21 นั่นคือ เป็นคนไทยที่
  • 1. “เชื่อมั่นในตัวเอง” (A Confident Person) รู้จักแยกแยะว่า อะไรถูกอะไรผิด รู้จักปรับตัว ล้มแล้วรู้จักลุก มีความคิดความอ่าน และการตัดสินใจที่เป็นอิสระ
  • 2. “สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง” (A Self-Directed Person) มีความใฝ่รู้ มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้เพื่อเติมเต็มศักยภาพ และสร้างประโยชน์จากความรู้ที่เกิดขึ้น
  • 3. “ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม” (A Public Contributor) ทำงานเป็นทีม มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักประเมินความเสี่ยง และเรียกหาสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตนเองและส่วนรวม
  • 4. “เป็นพลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ” (An Engaged Citizen) มีจิตสำนึกของความเป็นพลเมือง รู้จักสิทธิและหน้าที่ เสรีภาพและความเสมอภาค มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมและต่อประเทศ

4 X 4 เป้าหมายและกระบวนการเรียนรู้ชุดใหม่

การแปลงกระบวนทัศน์ “People for Growth” สู่การปฏิบัติ เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ชุดใหม่ ประกอบไปด้วย

  • 1. “เรียนรู้อย่างมีความมุ่งมั่นและเป้าหมาย” (Purposeful Learning) เป็นเป้าหมายที่เกิดจากแรงบันดาลใจ ความสนใจ หรือความมุ่งมั่นของแต่ละคน เปิดโอกาสให้แต่ละคนนิยามอนาคต กำหนดเป้าหมายในชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ที่ก้าวข้ามการง่วนอยู่กับการทำเพื่อตนเอง ไปสู่ความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิด Better Self, Better Society & Better World
  • 2. “เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์” (Generative Learning)ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการใช้ความคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการประยุกต์ใช้ มีความยืดหยุ่นทางความคิดและอารมณ์ เปิดมุมมองใหม่ๆ ก้าวข้ามข้อจำกัด ค้นหาแนวทางปลดล็อกข้อจำกัดแบบเดิมๆ เพื่อให้เกิดการรังสรรค์นวัตกรรม
  • 3. “เรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและแบ่งปัน” (Collective Learning) ปลูกฝังให้ผู้คนร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มากกว่าการฉายเดี่ยว การเก่งอยู่คนเดียว รวมถึงการปรับเปลี่ยนสิ่งจูงใจ จากการแข่งขันชิงรางวัล เป็นการได้รับรางวัลจากการทำงานร่วมกัน ฝึกให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะ “สุขก็สุขด้วยกัน ทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน”
  • 4. “เรียนรู้ที่เน้นผลสัมฤทธิ์” (Result-based Learning) เป็นการเรียนรู้ที่สามารถวัดผลหรือเห็นผลที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เน้นการให้ทำโครงการ กิจกรรม และมอบหมายภารกิจ มากกว่าการบรรยายหน้าชั้น โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของงานที่ทุกคนทำงานร่วมกันมากกว่าการทดสอบให้ผ่าน

จาก 4 เป้าหมายการเรียนรู้ จะถูกถอดรหัส ออกมาเป็นกระบวนการเรียนรู้ชุดใหม่ ที่จะตอบโจทย์การใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงานในศตวรรษที่ 21 ประกอบไปด้วย

  • 1. “สำรวจสืบค้น” (Exploring) ฝึกนิสัยให้ผู้คนรักการสำรวจสืบค้น เปิดโอกาสให้ท่องไปในโลกกว้างทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน รู้จักใช้จินตนาการ รังสรรค์ความคิดใหม่ๆ
  • 2. “ทดลองปฏิบัติ” (Experimenting) เพื่อให้เกิดความคิด และค้นหาทางเลือกใหม่ๆ เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้ลองถูกลองผิด เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง สามารถ “Make any Mistakes”
  • 3. “เสริมสร้างประสบการณ์” (Experiencing) เป็นเรื่องของการสร้างเสริมประสบการณ์ฝึกให้มีการตัดสินใจด้วยตนเอง คิดเป็นโครงการเพื่อฝึกการผลักดันความคิดให้เกิดผล เก็บเกี่ยวประสบการณ์ แล้วนำบทเรียนและประสบการณ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่างๆ
  • 4. “แลกเปลี่ยนแบ่งปัน” (Sharing) เป็นการแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ และข้อมูลข่าวสารกับผู้อื่นด้วยการปลูกฝัง “Free Culture” ที่เน้น Free to Take และ Free to Share รวมถึงการทำงานกับผู้อื่นผ่านกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบ Creative Collaboration

ถึงเวลาเตรียมคนไทยเพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 เป็นพลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ เป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพในโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ตอบโจทย์ความสมดุล ทั่วถึง และยั่งยืน ในโลกหลังโควิดได้อย่างแท้จริง

แหล่งข้อมูล
https://www.salika. co/2021/01/17/managing-human-capital-in-the-21st-century/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210