Taara chip ชิปส่งข้อมูลผ่านแสงขนาดจิ๋ว ที่ช่วยเปิดโลกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยไม่ต้องเดินสายใยแก้วนำแสงให้ยุ่งยากอีกต่อไป
ในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตที่มีการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน เมื่อพูดถึงแนวทางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ง่ายที่สุดคือ การส่งข้อมูลผ่านใยแก้วนำแสง หรือ Fiber Optic ช่วยให้ให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตเสถียรและมีความเร็วสูง แต่อาจใช้งานไม่สะดวกจนเข้าถึงยากในหลายพื้นที่
นี่เป็นเหตุผลในการคิดค้นอุปกรณ์ชนิดใหม่ที่สามารถส่งข้อมูลแสงแบบไร้สาย
ชิปอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เราไม่ต้องพึ่งสายอีกต่อไป
ผลงานนี้เป็นของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google กับการคิดค้น Taara chip ชิปส่งข้อมูลตัวใหม่ที่ได้รับการออกแบบให้สามารถนำส่งข้อมูลแสงได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม ช่วยเปิดโอกาสให้พื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ โดยไม่ต้องพึ่งหรือเดินสายให้ยุ่งยาก
เทคโนโลยีนี้ได้รับการต่อยอดมาจาก Taara Lightbridge อุปกรณ์ที่อาศัยแสงเลเซอร์ในการส่งข้อมูลผ่านอากาศโดยไม่ต้องพึ่งพาใยแก้วนำแสง ตัวอุปกรณ์มีหน้าตาเป็นกล่องทรงกระบอกขนาดใกล้เคียงไฟจราจร อาศัยกระจกและเซ็นเซอร์ในการปรับแต่งทิศทาง เพื่อให้การรับ-ส่งข้อมูลเป็นไปอย่างราบรื่น
ล่าสุดเทคโนโลยีนี้ก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วย Taara chip เปลี่ยนจากอุปกรณ์ขนาดเท่าไฟจราจรให้เหลือเพียงชิปที่มีขนาดประมาณเล็บมือ เปลี่ยนอุปกรณ์เชิงกลที่ติดตั้งมาเป็นซอฟต์แวร์ขั้นสูง ควบคุมการส่งออกแสงผ่านแหล่งกำเนิดขนาดจิ๋วหลายร้อยตัวได้แม่นยำ ช่วยลดขนาดและความซับซ้อนของระบบลงอย่างมาก
ในขั้นตอนทดสอบการใช้งานตัวอุปกรณ์สามารถส่งข้อมูลข้ามแม่น้ำคองโกและถนนในเมืองไนโรบีได้อย่างราบรื่น โดยสามารถส่งผ่านข้อมูลผ่านอากาศในระยะห่าง 1 กิโลเมตร ในระดับความเร็วเฉลี่ย 10 Gbps อย่างราบรื่น และคาดว่าจะสามารถส่งข้อมูลได้สูงสุดถึง 20 กิโลเมตร ในระดับความเร็ว 20 Gbps โดยทางบริษัทคาดว่า Taara chip จะสามารถวางจำหน่ายแก่ผู้บริโภคทั่วไปภายในปี 2026
อนาคตของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งใยแก้วนำแสง
สำหรับหลายท่านอาจรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เทคโนโลยีแปลกใหม่ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลายเจ้าให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม ตั้งแต่ Starlink, Viasat, Amazon Project Kuiper แม้แต่ในประเทศไทยก็ยังมี Thaicom Express Net และ NT ให้บริการเช่นกัน
อย่างไรก็ตามอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมมีข้อจำกัดในหลายด้าน ประการแรกคือความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 1 Gbps เท่านั้น อันดับถัดมาคือค่าความหน่วงค่อนข้างสูงกว่าหลายสิบเท่า ต้นทุนค่าอุปกรณ์ติดตั้งสำหรับใช้งานก็มีราคาสูง อีกทั้งค่าบริการต่อเดือนเทียบกับความเร็วก็สูงกว่าอินเทอร์เน็ตทั่วไปมาก
ในขณะที่ Taara chip มีระดับความเร็วที่สูงกว่า ด้วยระบบส่งข้อมูลผ่านเลเซอร์ทำให้มีอัตราความหน่วงในการรับ-ส่งข้อมูลต่ำหมดปัญหามากวนใจ สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหาแม้จะทำการทดสอบกับเขตพลุกพล่านใจกลางเมือง สัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ยังคงมีความเสถียรเช่นเดิม
อีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญของ Taara chip คือ ต้นทุนในการติดตั้งต่ำ อุปกรณ์เริ่มต้นมีขนาดเล็กจึงแทบไม่ต้องใช้พื้นที่ สามารถติดตั้งให้พร้อมใช้งานในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทั้งยังไม่มีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานหรือการเดินสายแบบใยแก้วนำแสงเดิมพร้อมรองรับการใช้งานได้ในทุกพื้นที่
ด้วยเหตุนี้ Taara chip จึงเป็นตัวเลือกเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลซึ่งขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน พวกเขาไม่ต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตดาวเทียมราคาแพงจากผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่อีกต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้บริการรายย่อยและเครือข่ายท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง
ทางบริษัทกล่าวว่า พวกเขาสามารถเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตมากกว่า Starlink นับนับ 100 เท่า ด้วยต้นทุนที่น้อยกว่า ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ อีกมาก
นอกจากนำไปใช้งานสำหรับให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้ว ทางบริษัทยังคาดหวังว่า Taara chip อาจช่วยพลิกโฉมและกลายเป็นรากฐานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไร้คนขับ ไปจนศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ต่างๆ
แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ Taara chip จะช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้คนทั่วโลก
แหล่งข้อมูล