ในยุคที่ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในสื่อกระแสหลักมากขึ้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังดู ฟัง หรือพูดคุยกับมนุษย์จริงๆ หรือเป็นเพียงเสียงและภาพที่สร้างขึ้นจากอัลกอริทึม?
ล่าสุด สถานีวิทยุ CADA ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของ Australian Radio Network (ARN) ได้ออกอากาศรายการ ‘Workdays with Thy’ ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ โดยมีพิธีกรชื่อ ‘Thy’ ทำหน้าที่แนะนำเพลงเป็นเวลา 4 ชั่วโมงต่อวัน สถานีโปรโมตเธอในฐานะผู้คัดสรรเพลงฮิตมาให้ผู้ฟัง แต่ไม่เคยเปิดเผยเลยว่าเสียงนี้มาจาก AI
อย่างไรก็ตาม ผู้ฟังเริ่มสงสัยเกี่ยวกับตัวตนของ ‘Thy’ เนื่องจากไม่มีนามสกุล ไม่มีประวัติส่วนตัว และไม่มีตัวตนบนโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งนักเขียนชาวซิดนีย์ ‘สเตฟานี คูมบ์ส’ (Stephanie Coombes) เริ่มตั้งคำถามในบล็อกของเธอว่า Thy เป็นใครกันแน่ แล้วชาวเน็ตก็ช่วยกันตามสืบ สุดท้ายทางสถานีจึงออกมายอมรับในที่สุดว่า Thy ไม่ใช่มนุษย์จริงๆ
เธอเป็นเสียงที่สร้างขึ้นจาก AI โดยอิงจากเสียงของพนักงานหญิงเชื้อสายเอเชียในเครือ ARN และพัฒนาร่วมกับบริษัท ElevenLabs “ไม่มีไมค์ ไม่มีสตูดิโอ มีแค่โค้ดกับโทนเสียง” คือคำพูดของ ‘ฟาเยด โทห์เม’ (Fayed Tohme) หัวหน้าโปรเจกต์ของ ARN ที่โพสต์ไว้ใน LinkedIn ก่อนจะถูกลบในภายหลัง
การเปิดเผยดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แม้ว่าในออสเตรเลียจะยังไม่มีกฎหมายบังคับให้สถานีวิทยุเปิดเผยการใช้ AI แต่หลายคนมองว่าสิ่งนี้ทำลายความไว้วางใจของผู้ฟังและกลายเป็นประเด็นถกเถียงเรื่องจริยธรรมและความโปร่งใสในยุคที่ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในสื่อกระแสหลักมากขึ้น
การทดลองใช้ AI ในรายการสดโดยไม่แจ้งผู้ฟังล่วงหน้า ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า “ผู้ฟังควรมีสิทธิ์รู้หรือไม่ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นมาจากมนุษย์หรือเครื่องจักร?” หลายฝ่ายในอุตสาหกรรมวิทยุแสดงความกังวลว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพยายามลดบทบาทมนุษย์ในวงการบันเทิง และเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสื่อ
‘เทเรซา ลิม’ (Teresa Lim) รองประธานสมาคมนักพากย์เสียงแห่งออสเตรเลีย แสดงความกังวลว่า การใช้ AI แทนที่ผู้ดำเนินรายการจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนทำงานเฉพาะทางที่มีจำนวนจำกัดอยู่แล้ว อาจเป็นการลดโอกาสของผู้ที่มีความสามารถในอุตสาหกรรมนี้
แม้ว่า ARN จะระบุว่าการทดลองนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาศักยภาพของ AI ในการออกอากาศ แต่เหตุการณ์นี้ก็ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกำหนดแนวทางและกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ AI ในแวดวงสื่อสารมวลชน เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของผู้ฟังและความโปร่งใสในการนำเสนอข้อมูล เพราะท้ายที่สุด พลังแห่งบุคลิกจริงๆ ของมนุษย์ต่างหากที่ควรจะเป็นหัวใจของการสร้างคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และน่าติดตาม
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1257813985906935&set=a.811136570574681