Swap&Go เป็นบริษัทใหม่ก่อตั้งขึ้นภายใต้เครือ ปตท. เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการสวอพแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น
โดย Swap&Go มีเป้าหมายเริ่มต้นในการให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพร้อมสถานีสำหรับเปลี่ยนแบตเตอรี่ แก่ผู้ให้บริการด้านการขนส่ง และเดลิเวอรี่ต่างๆ ภายในพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร
Swap&Go นั้นถือกำเนิดขึ้นมาจาก PTT ExpresSo (Express Solution) ทีมนวัตกรรมของเครือ ปตท. ที่มีแนวคิดในการพัฒนาระบบการขนส่งสำหรับอนาคต จนได้มีการถือกำเนิดขึ้นมาเป็น Swap&Go โดยมีวิสัยทัศน์สำคัญคือ “การขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมรถไฟฟ้ามากขึ้น ด้วยเครือข่ายแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ที่ใหญ่ที่สุด”
ในระยะแรกของการให้บริการนั้น ทาง Swap&Go นั้นจะมีจุดสถานีให้บริการสวอพแบตเตอรี่ราว 21 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งครอบคลุมระยะทางพื้นฐานของตัวรถทีทาง Swap&Go สามารถวิ่งได้ต่อการสวอพแบต 1 ครั้ง
โดยแต่ละจุดนั้นจะมีตู้ให้บริการสวอพแบตเตอรี่แบบอัตโนมัติให้บริการที่เชื่อมโยงกับระบบที่มีการออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถจองแบตเตอรี่ และตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดผ่านระบบ IoT ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ
สำหรับรถที่ทางรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ทาง Swap&Go ให้บริการเช่านั้น จะเป็น มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่น Moling B-Swap ที่ใช้มอเตอร์ขนาด 1200 วัตต์ ของ Bosch แบรนด์มอเตอร์จากประเทศเยอรมัน มาพร้อมกับแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้ขนาด 60V10Ah จำนวน 2 ลูก สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 55 กิโลเมตร/ชั่วโมง และวิ่งได้ระยะทางไกลสุด 70 กิโลเมตร (ที่ความเร็ว 55 กิโลเมตร/ชั่วโมง)
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาทาง Swap&Go ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทในเครือ ปตท. อย่าง GPSC เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่ G-cell สุดยอดผลงานด้านแบตเตอรี่แบบ Semi-Solid State แบบแรกของไทย เพื่อพัฒนา G-Cell สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบสลับแบตเตอรี่ได้ ซึ่งทางโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ GPSC นั้นมีแผนจะเริ่มการผลิตแบตเตอรี่แบบ G-Cell ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 นี้
จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเครือ ปตท. ผู้นำด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของไทย กำลังเป็น 1 ในผู้ช่วยนำทางให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมรถไฟฟ้าที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน และ Swap&Go ก็ถือเป็นผู้เล่นสำคัญอีก 1 รายในตลาดของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบสลับแบตเตอรี่ได้ รายที่ 2 ต่อจาก Winnonie ที่ทางเครือบางจาก(BCP) ได้มีการปล่อยออกมาก่อนหน้านี้
ทาง TDR เชื่อว่าการที่มีการเพิ่มขึ้นของผู้เล่นของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการพยายามเปลี่ยนแปลงระบบการขนส่งของประเทศให้ก้าวไปสู่ยุคของยานยนต์พลังงานสะอาด และยิ่งเมื่อผู้นำอุตสาหกรรมปิโตรเลียมลงมาในตลาดนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นพร้อมแล้วสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของยานยนต์พลังงานสะอาดต่อไปในอนาคต
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/ThaiDevReport/photos/a.1289629471179341/2147784375363842/