รมต. กระทรวงเศรษฐกิจและสภาพอากาศของ “เยอรมนี” เสนอ “แผนกลยุทธ์การจัดการคาร์บอน” หนึ่งในนั้นคือการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ทะเลนอกชายฝั่ง
“เยอรมนี” หนึ่งในประเทศยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2045 รัฐบาลจึงกำลังเร่งหาวิธีสร้างแหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน รวมถึงวิธีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมหนัก เช่น ปูนซีเมนต์ เป็นต้น
โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและสภาพอากาศเสนอ “กลยุทธ์การจัดการคาร์บอน” หนึ่งในนั้นคือการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ทะเลนอกชายฝั่ง ยกเว้นบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล และอาจมีการจัดกับก๊าซคาร์บอนไว้ใต้ดิน (บนบก) ด้วยหากรัฐบาลเยอรมันให้การอนุมัติ
ฮาเบค ระบุว่า ในช่วงปี 2000 เคยคัดค้านการกักเก็บคาร์บอนมาก่อน เนื่องจากในตอนนั้นเทคโนโลยียังต้องพัฒนาเพิ่มเติม แต่ในตอนนี้เขาคิดว่าเทคโนโลยีมีความสมบูรณ์ปลอดภัยแล้ว อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้จริงแล้ว ไม่ใช่แค่โครงการวิจัยเท่านั้น
เมื่อปีที่แล้วประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เดนมาร์ก” เปิดตัวโครงการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลไว้ใต้ทะเลเหนือเช่นกัน
“ตอนนี้เวลาหมดลงแล้ว ในยุค 2000 คุณอาจพูดว่า ‘มารอดูกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร’ แต่ในตอนนี้เราเห็นว่าเรายังไม่มีวิธีแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และในพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality)” ฮาเบคกล่าวในการแถลงข่าวในกรุงเบอร์ลิน
“เรากำลังมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หมายความว่าเราไม่ได้อยู่ในยุคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างสบายใจ เรารอไม่ได้อีกแล้ว เราต้องใช้ทุกเทคโนโลยีที่เรามี”
ทั้งนี้ ระดับอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส ถือเป็นเกณฑ์สำคัญในข้อตกลงปารีสปี 2015 ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ หรือ COP ครั้งที่ 21 เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ตามข้อมูลในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายฉบับ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส สามารถลดความเสียหายร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้
ฮาเบคกล่าวว่าแผนโครงการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ทะเลจะใช้เวลาเตรียมความพร้อมไม่กี่ปี ก็จะสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ และจะสามารถใช้ร่วมกับโครงการที่คล้ายกันของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ทั้งเดนมาร์กแล้ว นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านกล่าวว่าวิธีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่ฮาเบคเสนอนั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในวงกว้าง และยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่าทางเลือกอื่น เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม หรือแม้แต่ลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงาน
ขณะที่คาร์สเตน สมิด ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของกรีนพีชเยอรมนีกล่าวในแถลงการณ์ว่า “โครงการนี้มีราคาแพง ไม่ยั่งยืน และทำให้คนรุ่นอนาคตต้องแบกรับภาระหนี้สินระยะยาวเพิ่มเติม”
แหล่งข้อมูล