สจล. หนุนเครือข่าย ไทย – เนเธอร์แลนด์ นำนวัตกรรม “เทคโนโลยีอวกาศ” ยกเครื่องการเกษตรยั่งยืนและอาหารมั่นคง เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของทั้งสองประเทศ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ระดมเครือข่ายนักวิชาการนานาชาติจากมหาวิทยาลัย ชุมชนธุรกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานภาครัฐ ผลักดันความร่วมมือในงาน “เนเธอร์แลนด์-ไทย : เทคโนโลยีอวกาศ 2023 เพื่อการเกษตรยั่งยืนและระบบอาหารที่มั่นคง” (The Netherlands – Thailand Space Technology Forum 2023 : Space Technology for Resilient Agriculture and Food System) เพื่อเป้าหมายยกระดับการทำเกษตรและระบบอาหารที่ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว พัฒนาการเกษตรดาวเทียม โดยมี รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. และนายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ร่วมเป็นประธานเปิดงาน ณ ห้อง The Crystal Box เกษรทาวเวอร์ ราชประสงค์
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ระบบการเกษตรและอาหารทั่วโลกอยู่ภายใต้แรงกดดัน เนื่องจากจำนวนประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Climate Change) ความท้าทายของระบบเกษตรกรรมและอาหารของประเทศ ไม่เพียงต้องผลิตอาหารด้วยวิธีที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่จะต้องมุ่งเป้าประกันความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ได้อย่างเพียงพอสำหรับทุกคนด้วย
‘งานเนเธอร์แลนด์-ไทย: เทคโนโลยีอวกาศ 2023 เพื่อการเกษตรยั่งยืนและระบบอาหารที่มั่นคง’ ตอกย้ำความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างไทย-เนเธอร์แลนด์ ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เชิงพื้นที่ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ (Space Technology) และ ‘เกษตรกรรมดาวเทียม’ (Satellite Agriculture) เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของทั้งสองประเทศ
นับเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศ และผู้มีส่วนกำหนดนโยบาย 140 คน ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยโซลูชั่นที่ก้าวล้ำ และกำหนดภูมิทัศน์ใหม่ของ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ และ ‘เกษตรกรรมที่ชาญฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศ’ อาทิ การใช้ข้อมูลและภาพจากดาวเทียมเพื่อการพยากรณ์อากาศ การวิเคราะห์ดิน และการจัดการพืชผลแบบเรียลไทม์ได้ปฏิวัติการเกษตรกรรมสู่ยุคใหม่ เพิ่มขีดความสามารถสร้าง ‘มาตรฐานสากลเกษตรยืดหยุ่นและยั่งยืน’ ในการทำ “เกษตรอัจฉริยะ” ผ่านปัญญาประดิษฐ์ IoT และการวิเคราะห์ข้อมูล โดยสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG2 – ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security), SDG3 – ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ตลอดจน SDG11 – ชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน เราจะร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ ด้วยนวัตกรรมและสร้างแรงบันดาลใจของความร่วมมือไทย – เนเธอร์แลนด์ ในการผลักดันขยายองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นความท้าทายระดับโลก
นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (Remco van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศ” มีความสำคัญมากขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา การวางแผนการเดินทาง พยากรณ์อากาศ และอื่นๆ ข้อมูลเชิงพื้นที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายภาคส่วน เช่น เกษตรกรรม การวางผังเมือง การจัดการทรัพยากร (ป่าไม้ น้ำ แร่ธาตุ) และเพื่อการออกแบบระบบที่จะลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภัยพิบัติ อันเป็นความท้าทายของโลกปัจจุบัน เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น ภัยแล้ง น้ำท่วม การตัดไม้ทำลายป่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลภาวะทางอากาศ ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และต้นกำเนิดและผลที่ตามมามักจะทับซ้อนกันทางภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเราในการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาและการตัดสินใจที่ดีขึ้นเพื่อสังคมและโลกอีกด้วยการประชุมเทคโนโลยีอวกาศเนเธอร์แลนด์ – ไทย 2023 ครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การนำ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ เข้ามามีส่วนในการทำ ‘ระบบการเกษตรและอาหาร’ ที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัวและยั่งยืนมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศจึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้
ดร.นพดล สุกแสงปัญญา ผู้เชี่ยวชาญ วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการวิเคราะห์และติดตามสังเกตการณ์ “ภัยแล้ง” ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่
- ภัยแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยา
- ภัยแล้งเชิงอุทกภัย
- ภัยแล้งเชิงเกษตรกรรม
เพื่อให้หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลและภาพไปใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการภัยแล้งได้ดียิ่งขึ้น โดยใช้องค์ประกอบต่างๆ อาทิ ระดับปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิของหน้าดิน สภาพอากาศความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืช ระบบชลประทาน และความชื้นของดิน เพื่อใช้ในการวางแผนทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ผลักดันเครือข่ายในประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ในการใช้ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ มาช่วยทางด้าน ‘เกษตรแม่นยำ’ และระบบอาหารที่มั่นคงเพียงพอ
หากเกษตรกรสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้จริงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพียงแต่ในปัจจุบันยังขาดการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ใช้ นอกจากนี้ควรออกมาตรการเพื่อความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ เสริมสร้างเกษตรกรที่ไม่ทำลายป่าและไม่ทำการเพาะปลูกมากเกินจนล้นความต้องการของผู้บริโภค
ศาสตราจารย์ ดร. วิคเตอร์ เจตเทน คณะวิทยาศาสตร์สารสนเทศภูมิศาสตร์และการสังเกตการณ์โลก (ITC) มหาวิทยาลัยทเวนเต้ (University of Twente) เนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การวิเคราะห์ความมั่นคงทางอาหารใน ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ (Extreme Climatic Conditions) ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล หรือ Remote Sensing จากดาวเทียม สามารถช่วยระบุปริมาณผลิตผลที่ชัดเจน ปัญหาการผลิตในเวลาและสถานที่ได้อย่างแน่นอน เราสามารถระบุพื้นที่มีปัญหาเพื่อวางแผนรับมือกับจุดอ่อนได้ทันท่วงทีและแม่นยำ ทั้งนี้เราต้องเข้าใจความซับซ้อนของระบบการเกษตร ความยืดหยุ่น ความเป็นจริงและข้อจำกัดของเกษตรกร จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานครั้งนี้ ประกอบด้วยความร่วมมือของ 11 องค์กร ได้แก่
- สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL)
- คณะวิทยาศาสตร์สารสนเทศภูมิศาสตร์และการสังเกตการณ์โลก (ITC) มหาวิทยาลัย Twente
- สำนักงานภูมิภาค FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
- สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ประเทศไทย (GISTDA)
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- กรมป่าไม้ ประเทศไทย
- ศูนย์ภูมิสารสนเทศสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
- คาดาสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เนเธอร์แลนด์
- ปีเตอร์สัน เทคโนโลยี เนเธอร์แลนด์
- ชมรมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
แหล่งข้อมูล