อุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีกถือเป็นธุรกิจหลักของประเทศไทย โดยเฉพาะ “ไก่” ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งและเนื้อไก่แปรรูป ปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาท และมีสัดส่วนมากกว่า 95% ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์
ปัจจุบันทั่วโลกยังนิยมบริโภคโปรตีนจากเนื้อไก่สูงกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ภาคการผลิตรวมถึงเกษตรกร จึงมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการการเลี้ยงไก่ในฟาร์ม ในรูปแบบของ “สมาร์ท ฟาร์ม” Smart Farm หรือโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต แก้ไขปัญหา เพิ่มความสะดวกสบาย ประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ดีระบบ Smart Farm ที่ใช้กันในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์ ไอโอที (IoT) ในการตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมของโรงเรือนหรือควบคุมการให้อาหารและน้ำ แต่ยังมีอีกหนึ่งโจทย์ปัญหาสำคัญจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ นั่นก็คือ “การประเมินประสิทธิผลของการเลี้ยง” ที่ต้องอาศัยการชั่งน้ำหนักเพื่อวัดการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงอายุของการเลี้ยง ซึ่งปัจจุบันยังต้องใช้แรงงานคนในการสุ่มชั่งและจดบันทึกก่อนจะนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้สิ้นเปลืองทั้งเวลาและแรงงาน รวมถึงมีโอกาสในการกรอกข้อมูลผิดพลาด และยังเป็นการรบกวนสัตว์อีกด้วย
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.จิรศักดิ์ วงศ์เอกบุตร จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จึงพัฒนาโครงการ “แพลตฟอร์มระบบประเมินน้ำหนักออนไลน์อัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีก” ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการประเมินน้ำหนักสัตว์ปีกให้กับเกษตรกรทั้งรายย่อย และรายใหญ่ในอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีก โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ การแปลงข้อมูล การส่งข้อมูลขึ้นระบบคลาวด์ และการนำข้อมูลมาแสดงผลทางคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ
โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย “หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)” แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม ร่วมกับ บริษัท แม็ก เทค คอนโทรล จำกัด ในปีงบประมาณ 2565
รศ.ดร.จิรศักดิ์ หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำงานร่วมกับเกษตรกร ในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อดูข้อมูลต่างๆ ในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น สภาพแวดล้อมในโรงเรือน และปริมาณการให้อาหาร แต่ยังขาดเรื่องการประเมินน้ำหนักสัตว์ ที่ปัจจุบันยังใช้การสุ่มจับชั่งด้วยมือ และจดบันทึกที่อาจคลาดเคลื่อนได้ง่าย ทั้งนี้ในแต่ละรอบการเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น ไก่ จะใช้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์ ต้องมีการชั่งทุกสัปดาห์รวม 5 ครั้ง โดยจะสุ่มชั่ง 100 ตัวอย่างต่อโรงเรือน ซึ่งหากจะชั่งให้ครบ 1 โรงเรือนใน 1 ชั่วโมง จะต้องใช้แรงงานถึง 3 คนในการจับชั่งโดยในฟาร์มขนาดเล็กจะมีไม่ต่ำกว่า 20 โรงเรือน ดังนั้นจึงใช้เวลาค่อนข้างมากและสิ้นเปลืองแรงงาน ขณะเดียวกันการจับสัตว์ขึ้นชั่งบ่อยๆ จะมีผลต่อคุณภาพของสัตว์ ซึ่งอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือเกิดความเครียด หยุดไม่เข้ามากินอาหารได้
จากปัญหาดังกล่าวทีมวิจัย จึงพัฒนา “เครื่องชั่งน้ำหนักออนไลน์” ขึ้น เพื่อใช้เสมือนเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในการเลี้ยงที่ติดตั้งในโรงเรือนตลอดเวลา และเป็นจุดเปลี่ยนของรูปแบบการประเมินน้ำหนัก จากเดิมที่ใช้การสุ่มจับชั่ง มาเป็นการให้ไก่ในโรงเรือนสามารถขึ้นเครื่องชั่งได้เองตามธรรมชาติ และขึ้นชั่งได้เองตลอดเวลา โดยตัวอุปกรณ์ มีการออกแบบให้เป็นเครื่องชั่งดิจิทัล ที่ทำงานเหมือนกับที่ใช้กันอยู่ทั่วไป แต่มีการติดตั้งระบบ IoT เพิ่มเติม เพื่อที่จะแปลงข้อมูลน้ำหนักรายตัวของไก่ที่ขึ้นเหยียบ และส่งข้อมูลขึ้นระบบคลาวด์แบบเรียลไทม์ เกษตรกรสามารถดูข้อมูล และนำไปวิเคราะห์ ประเมินการเจริญเติบโต และวิเคราะห์คุณภาพของอาหารได้อย่างรวดเร็ว
“ระบบดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายทั้งเครื่องชั่ง (Hardware) และแอพพลิเคชั่น (Software) โดยในส่วนของเครื่องชั่ง เพียงแค่เสียบปลั๊ก และกดปุ่มเปิดเครื่อง เครื่องชั่งก็สามารถทำงานได้ ส่วนแอพพลิเคชั่น แสดงผลออนไลน์ได้แบบเรียลไทม์ ได้ข้อมูลน้ำหนักของสัตว์ที่ถูกต้องแม่นยำ เห็นอัตราการเจริญเติบโต เมื่อนำไปรวมกับข้อมูลอื่นๆ ที่อยู่ในระบบ Smart Farm เช่น สภาพแวดล้อมในโรงเรือน ปริมาณการให้น้ำและอาหาร หรือจำนวนสัตว์ จะช่วยทำให้สามารถบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ทั้งนี้ระบบดังกล่าวผ่านการทดสอบใช้งานจริงใน 3 ฟาร์มต้นแบบ คือ 1.ฟาร์มนครชัยศรี (ฟาร์มเป็ดเนื้อ) สังกัด บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แผนกเป็ดเนื้อ 2. ฟาร์มไก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ สังกัดภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ 3. ฟาร์มไก่ คุณวารุณี ฟาร์มไก่ประกันราคาในเครือของ CPF จังหวัดปราจีนบุรี
ปัจจุบันทีมวิจัยได้พัฒนาระบบประเมินน้ำหนักออนไลน์อัจฉริยะ ฯ ต้นแบบแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย โดยทีมวิจัยได้มีการออกแบบและพัฒนาเครื่องชั่งดิจิทัล ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้อยู่ในเวอร์ชั่น 3 ที่พร้อมให้ผู้ประกอบการนำขยายผลเชิงพาณิชย์ ส่วนด้านซอฟต์แวร์ ได้มีการปรับปรุงต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงในฟาร์ม ซึ่งอนาคตทีมวิจัยมีแผนที่จะมีการนำเทคโนโลยีเอไอ และระบบกล้อง มาใช้กับการประเมินน้ำหนักอีกด้วย
อย่างไรก็ดี สำหรับการดำเนินการในอนาคต รศ.ดร.จิรศักดิ์ บอกว่า จะเป็นการสร้าง “แพลตฟอร์มระบบอัจฉริยะสำหรับบริหารจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีก” ที่เกษตรกรสามารถดูข้อมูลต่างๆ ของการเลี้ยงสัตว์ปีกได้แบบออนไลน์เรียลไทม์ และครบวงจร ตั้งแต่ข้อมูลในฟาร์ม ซึ่งทีมวิจัยนอกจากจะพัฒนาระบบชั่งน้ำหนักออนไลน์ ทำให้ทราบน้ำหนักที่หน้าฟาร์มแล้ว แล้วยังมีการพัฒนาระบบควบคุมการจ่ายอาหาร ซึ่งเป็นต้นทุนในการเลี้ยง
ส่วนระบบการขนส่ง นับว่ามีความสำคัญโดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีอากาศร้อน จะทำให้สัตว์ปีกที่จะไปสู่โรงงานชำแหละและแปรรูปผลิตภัณฑ์ เกิดการสูญเสียน้ำหนักระหว่างการขนส่งประมาณ 5-7% ทีมวิจัยได้พัฒนาระบบบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในรถขนส่ง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. แผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในปี 2564 เพื่อช่วยลดการสูญเสียดังกล่าว พร้อมทั้งส่งข้อมูลการขนส่ง ไปยังโรงงานฯ ทำให้สามารถบริหารจัดการการขนส่งหน้าโรงงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ขณะเดียวกันทางโรงงานฯ จะได้รับข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลวัตถุดิบ การประเมินคุณภาพ และข้อมูลการขนส่ง ทำให้สามารถวิเคราะห์ และวางแผนการในการบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรียกได้ว่าเป็นการสร้างแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่เป็น “Ecosystem” ของอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของทีมวิจัย และตอบรับเป้าหมายสำคัญของผู้ให้การสนับสนุนทุนอย่าง บพข. เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย
แหล่งข้อมูล