(26 ม.ค.64) เวลา 13.30 น. นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อผลักดันเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ครั้งที่ 1/2564 โดยมีคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครและหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักพัฒนาสังคม สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สมาคมอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย และสำนักงานเขตพระนคร ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ในที่ประชุมเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 1805/2563 ลงวันที่ 31 ส.ค.63 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อผลักดันเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อสร้างกรอบและต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิดเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นกรรมการที่ปรึกษา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งราชการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เป็นประธานกรรมการ รองปลัดกรุงเทพมหานคร สั่งราชการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เป็นรองประธานกรรมการ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาภรณ์ เกียรติสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย นายเกรียงไกร เกิดศิริ รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รองศาสตราจารย์ ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนะ จีระพิวัฒน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สญชัย ลบแย้ม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้อำนวยการเขตพระนคร เป็นกรรมการ รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ที่ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการกองสารสนเทศภูมิศาสตร์ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อผลักดันเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ระหว่าง มหาวิทยาลัยศิลปากรกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อผลักดันเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) กับมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 63 โดย นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธี ซึ่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ลงนามในฐานะผู้มีอำนาจลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ โดยมี รองศาสตราจารย์ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนางอณุสรา ชื่นทรวง รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ลงนามเป็นพยานบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เพื่อผลักดันเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากรกับกรุงเทพมหานคร มีระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ลงนามร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างกรอบและต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยนำพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มาเป็นพื้นที่ศึกษา และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างกรุงเทพมหานครและมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งประชาชนและหน่วยงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งกรุงเทพมหานครและมหาวิทยาลัยศิลปากร มีความร่วมมือระหว่างกันในการสนับสนุนข้อมูลและการแลกเปลี่ยนข้อมูล การอำนวยการและประสานงานกับผู้เกี่ยวข้อง และการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกรุงเทพมหานครในพื้นที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
ส่วนแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) สาระสำคัญของแผนแม่บทฯ มีเป้าหมายการพัฒนาสู่การเป็นมหานครอัจฉริยะ (Smart City) และการเป็นองค์กรดิจิทัล โดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเชื่อมโยงกับมิติหลักตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ทั้ง 7 ด้าน คือ Smart Governance, Smart People, Smart Environment, Smart Mobility, Smart Economy , Smart Living และ Smart Energy และกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาไว้ 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและทัศนคติของบุคลากรและประชาชน (Human Capital) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการ (Digital Standard) ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลให้สามารถรองรับการมุ่งสู่มหานครดิจิทัล (Agile and Responsive Infrastructure) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างบริการที่บูรณาการกระบวนการทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (Business Process As a Services) ยุทธศาสตร์ที่ 5 การปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อตอบสนองนโยบายอย่างทันท่วงที(Digital Organization) ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนานวัตกรรมเชิงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Innovation for Digital Economy) และยุทธศาสตร์ที่ 7 สร้างกลไกการบริหารการขับเคลื่อนอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล (Digital Entrepreneur)
โดยแผนแม่บทฯ ได้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1.ระยะสั้น พ.ศ.2561-2562 (Clearing House) เป็นการเน้นการเตรียมความพร้อมและการบูรณาการด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล มาตรฐานกระบวนการทำงาน การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการปรับปรุง กฎ ระเบียบต่างๆ 2.ระยะกลาง พ.ศ.2563-2564 (High Performance) มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การบูรณาการระบบสารสนเทศดิจิทัล และการบูรณาการด้านการเชื่อมโยงข้อมูลสู่หน่วยงานภายนอก เพื่อการบริการประชาชน (e-Service) 3.ระยะยาว พ.ศ.2565 (SMART BMA) มุ่งเน้นการพัฒนาและผลักดันองค์กรไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือมหานครอัจฉริยะ กรอบแนวคิดกระบวนการทำงานการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกรุงเทพมหานคร จะนำไปสู่ “Smart City” เพื่อประโยชน์ในการให้บริการ การบริหารจัดการ และการตัดสินใจของผู้บริหาร ซึ่งเป็นรากฐานในการกำหนดนโยบาย วางแผน และดำเนินการตามพันธกิจของกรุงเทพมหานคร โดยเน้นการให้บริการข้อมูลสารสนเทศตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ครบวงจร มีการดำเนินแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ด้วยการสนับสนุนการบริหารจัดการองค์กรที่ดี โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่ทำให้การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน นำหลักเกณฑ์สถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) มาเป็นแนวทางการทำแผนการพัฒนาฯ พิจารณาถึงการใช้ทรัพยากรและมาตรฐาน (Standard) ที่เป็นสากลร่วมกัน มีความปลอดภัย (Security) ของเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาใช้งานรวมถึงป้องกันความเสี่ยงจากภัยคุกคามที่มีต่อข้อมูลขององค์กร การออกแบบและให้บริการประชาชน (Service) ที่ตรงตามความต้องการและมีประโยชน์สูงสุด สามารถใช้งานง่าย ระบบตอบสนองได้หลายอุปกรณ์พร้อมกันแบบเป็นปัจจุบัน เข้าถึงได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง (Simplify) รวมทั้งสามารถใช้งานบริการและระบบได้อย่างต่อเนื่อง (Sustainable) มีสังคมสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ตามกรอบเมืองอัจฉริยะ (Smart City Framework) ที่เหมาะสม
ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย การพัฒนาและขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองอัจฉริยะ นอกจากหน่วยงานกรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ร่วมกันขับเคลื่อนทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน ) หรือ สนช. ได้กำหนด “ย่านนวัตกรรม” คือการพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมภายในเมืองหรือย่านให้ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมและธุรกิจใหม่มีการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ โดยการพัฒนาเครื่องมือและกลไกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยและ ผู้ดำเนินกิจกรรมภายในย่านให้มีการใช้นวัตกรรม การทำกิจกรรม แบ่งปันทรัพยากร และร่วมกันกำหนดเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้กำหนดพื้นที่นำร่องโครงการย่านนวัตกรรม 8 ย่าน ได้แก่ 1.ย่านนวัตกรรมโยธี 2.ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ 3.ย่านนวัตกรรมคลองสาน 4.ย่านนวัตกรรมบางซื่อ 5.ย่านนวัตกรรมปทุมวัน 6.ย่านนวัตกรรมลาดกระบัง 7.ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท และ 8.ย่านนวัตกรรมปุณญวิถี
นอกจากนี้ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนา “ระบบติดตามโครงการ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์” เพื่อบูรณาการการบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ระบบนี้จะเป็นเครื่องมือในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการ กิจกรรม ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556–2575) ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาสภาพแวดล้อมรอบเกาะรัตนโกสินทร์หลายโครงการ อาทิ 1.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองคูเมืองเดิม คลองหลอดวัดราชนัดดา คลองหลอดวัดราชบพิธ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และส่งเสริมการท่องเที่ยว 2.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง จากสะพานดำรงสถิตถึงบริเวณสะพานโอสถานนท์ 3.งานปรับปรุงภูมิทัศน์ย่านปากคลองตลาด บริเวณถนนจักรเพชร ช่วงสะพานเจริญรัชถึงลานปฐมบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 1 สะพานพระพุทธยอดฟ้า พื้นที่เขตพระนคร 4.โครงการปรับปรุงพื้นที่ถนนไกรสีห์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร 5.โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมทางเดินคลองรอบกรุง (บางลำพู) 6.โครงการพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม และ 7.โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านตลาดน้อยและพื้นที่ต่อเนื่อง
(จิรัฐคม…สปส.รายงาน)
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
www.prbangkok.com/th/board/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQ4NTUxMg==