10 Agenda นวัตกรรมแก้จนคนศรีสะเกษ

Loading

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 27/2566)

ศรีสะเกษเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ พื้นที่กว้างขวาง 8,800 ตร.กม.ประชากร 1.47 ล้านคน

ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) ปี 2564  78,658 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 38 ของประเทศ และลำดับที่ 8 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  โครงสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม เป็นภาคบริการ ร้อยละ 62.6 ภาคการเกษตร ร้อยละ 27.7 และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 9.7

ส่วนรายได้/หัวประชากร   83,332 บาท/คน/ปี เป็นลำดับที่ 57 ของประเทศ จึงถือเป็นจังหวัดค่อนข้างยากจน มีประชาชนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 450,000 คน

ปี 2565 จังหวัดมีครัวเรือนยากจนที่เป็นเป้าหมายตั้งต้นในการจัดการปัญหา รวม 17,239 ครัวเรือน  70,632 คน มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 30,663 คน มีปัญหาที่วิเคราะห์ตามระบบ TPMAP  5 มิติ รวม 20,019 ปัญหา ส่วนใหญ่เป็นปัญหาในมิติด้านการศึกษา ด้านรายได้  และด้านสุขภาพ มีกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน (ตกเกณฑ์ MPI) 1,556 คน 5,105 คน ครัวเรือน 1,807 ปัญหา

ฐานทุนประวัติศาสตร์วัฒนธรรม

จังหวัดมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาความยากจนโดยใช้แนวทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งดึงเอาศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมขึ้นมาใช้ขับเคลื่อน

ศรีสะเกษประกอบด้วย 22 อำเภอ ประชากรประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย ซึ่งพูดภาษาถิ่นต่าง ๆ กัน อาทิ ภาษาลาว , ภาษากูย, ภาษาเยอ และภาษาเขมรถิ่นไทย ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนและนับถือผีมาแต่เดิม

ผืนแผ่นดินที่นี่ มีการตั้งถิ่นฐานมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในยุคเหล็ก ราว 2,500 ปี  พบหลักฐานยืนยัน เช่น แหล่งภาพสลักบริเวณผาเขียน-ผาจันทน์แดง ในเขตอำเภอขุนหาญ ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก อันเป็นเขตพื้นที่สูงทางตอนใต้ของจังหวัดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

มีร่องรอยชุมชนสมัยเหล็กอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ทางตอนเหนือของจังหวัด เช่น กลุ่มชุมชนโบราณในเขตอำเภอราษีไศล ซึ่งปรากฏร่องรอยชุมชนที่มีหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ ที่ได้รับการฝังศพพร้อมกับวัตถุอุทิศ อันเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็กและภาชนะดินเผา ตลอดจนแบบแผนพิธีกรรมฝังศพแบบวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล-ชี หรือที่เรียกว่า”วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้”

กระทั่งมาเกิดพัฒนาการชุมชนที่เข้มข้นในสมัยอาณาจักรขอม ได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมหลายประการไว้ เช่น ปราสาทหินและปรางค์กู่ ครั้นในสมัยอาณาจักรอยุธยาตอนปลาย ได้มีการยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนขึ้นเป็น “เมืองขุขันธ์”

ความพยายามของจังหวัด

ในเชิงการปกครองและการบริหารราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้แบ่งพื้นที่มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลการแก้ปัญหาความยากจน 5 มิติ พุ่งเป้าแก้จน 3 ระดับ คือ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน

ศรีสะเกษได้รับเลือกเป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่องโครงการวิจัยแก้ปัญหาความยากจนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)ของกระทรวง อว.  หน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่นที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ ธุรกิจขนาดจิ๋ว วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคมในระดับพื้นที่

โครงการดังกล่าวดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ มีกองทุน 200 ปีศรีสะเกษ เป็นกลไกสนับสนุนจากภาคประชาสังคม อีกทั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เป็นกลไกขับเคลื่อนหลักตามนโยบายที่สั่งการจากส่วนกลางสู่ภูมิภาค

นอกจากนั้น ศรีสะเกษยังเป็น 1 ใน 6 พื้นที่นำร่องขับเคลื่อนตาม พรบ.พื้นที่นวัตกรรมด้านการศึกษา พ.ศ.2562  กรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนฯเล็งเห็นว่าปัจจัยด้านคุณภาพและระบบการศึกษาของพื้นที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนในระยะยาว

10 วาระการพัฒนาจังหวัด
  1. 365 วันศรีสะเกษขับขี่ปลอดภัย บูรณาการการป้องกันอุบัติเหตุ การแพทย์ฉุกเฉิน การจมน้ำ
  2. ป้องกันยาเสพติด โครงการทูบีนัมเบอร์วัน
  3. นวัตกรรมการศึกษา แซนด์บ็อกซ์พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะ
  4. ผู้ด้อยโอกาส สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ
  5. คนศรีสะเกษสุขภาพดี ไม่มีพยาธิใบไม้ตับ
  6. การเกษตรบูรณาการ  5 กลยุทธพัฒนาข้าว และ พริก
  7. ผ้าทอมือศรีสะเกษ ขับเคลื่อนวาระผ้าทอมือ “ธานีผ้าศรี…แส่ว” จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่มาตรฐานสากล
  8. ท่องเที่ยวดินแดนปราสาทขอม อาทิ อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว วัดมหาพุทธาราม วัดพระธาตุสุพรรณหงส์ น้ำตกวังใหญ่ น้ำตกสำโรงเกียรติ ศรีสะเกษอควาเรียม ปราสาทวัดสระกำแพงใหญ่ ปราสาททับทัน หอคอยศรีลำดวนเฉลิมพระเกียรติ   
  9. จังหวัดสะอาด ขับเคลื่อนกิจกรรมอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกและระบบบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลของ อปท.
  10. ศูนย์บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ภัยแล้งอย่างยั่งยืน ประชาชนสามารถเช็คข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณน้ำหน้าเขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล และอ่างเก็บน้ำทั้ง 16 อ่าง  แบบเรียลไทม์

แหล่งข้อมูล

https://www.csdi.or.th/2023/07/public-report-27-2566/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210