ผลโหวตยกให้สิงคโปร์–นิวยอร์ก–เทลอาวีฟ ขึ้นแท่นฮับเทคโนโลยีชั้นนำในอีกสี่ปีข้างหน้า ตามมาด้วยปักกิ่ง ลอนดอน เซี่ยงไฮ้ โตเกียว เบงกาลูรุ และฮ่องกง เผยโควิด-19 เร่งการเคลื่อนย้ายของแรงงานกลุ่มที่มีทักษะ ทำให้ “ฮับเทคโนโลยี” ขยายตัวสู่พื้นที่อื่นๆของโลก ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์เพียงแห่งเดียว
จากการสำรวจล่าสุดของเคพีเอ็มจี บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านสอบบัญชี หัวข้อ KPMG Technology Industry Survey ซึ่งได้สอบถามผู้นำในแวดวงไอทีเทคโนโลยีมากกว่า 800 ราย โดยขอให้ผู้นำเหล่านั้นจัดอันดับเมืองต่างๆ ทั่วโลกนอกเหนือจากซิลิคอนวัลเลย์ ที่พวกเขาเชื่อว่าจะเจริญรุ่งเรืองในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีในอีกสี่ปีข้างหน้า ซึ่งเมืองที่ติดอันดับท็อป 10 ในการสำรวจ ล้วนมีระบบนิเวศด้านไอทีที่แข็งแกร่งอยู่ก่อนแล้ว พอเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกเขาก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น
โดย 10 เมืองที่คาดว่าจะเป็นฮับเทคโนโลยีนวัตกรรมชั้นนำในอีกสี่ปีข้างหน้า นอกเหนือจากซิลิคอนวัลเลย์ และซานฟรานซิสโก ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว เมืองที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ประจำปี 2564 ได้แก่ 1.สิงคโปร์ 2.นิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา) 3.เทลอาวีฟ (อิสราเอล) 4.ปักกิ่ง (จีน) 5.ลอนดอน (อังกฤษ) 6.เซี่ยงไฮ้ (จีน) 7.โตเกียว (ญี่ปุ่น) 8.เบงคาลูรุ (อินเดีย) 9.ฮ่องกง 10.ออสติน และซีแอตเทิล (สหรัฐอเมริกา)
ดาเรน ยอง หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม เคพีเอ็มจี เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า 6 ใน 10 เมืองที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สะท้อนให้เห็นว่าเอเชียเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมทั่วโลก และฮับนวัตกรรมชั้นนำมากกว่า 50% อยู่ในภูมิภาคนี้
ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าซิลิคอนวัลเลย์จะเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองที่มีอำนาจในด้านเทคโนโลยีระดับโลก แต่ผู้นำ 1 ใน 3 เชื่อมั่นว่าซิลิคอนวัลเลย์จะไม่สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำด้านนวัตกรรมไว้ได้ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม 39% ของบรรดาผู้นำ เชื่อว่าเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีหรือ “ฮับ” (HuB) เช่น ลอนดอน สิงคโปร์ และเทลอาวีฟ จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดให้แรงงานกลุ่มที่มีทักษะ (Talent) รวมตัวและทำงานร่วมกันในชุมชนที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ขณะที่ 22% เชื่อว่าฮับน่าจะไม่สำคัญอีกต่อไป
อเล็กซ์ ฮอลท์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมของเคพีเอ็มจี กล่าวว่า การรักษาพนักงานที่ความสามารถระดับสูงเอาไว้ถือเป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นและสำคัญ ในภาวะเช่นนี้นายจ้างต้องจัดระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งหมายถึงการทำงานแบบผสมผสานระหว่างที่ทำงานและที่บ้าน โดยกำหนดให้เป็นนโยบายถาวร แม้หลังวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง และเมื่อแรงงานมีการกระจายตัว ศูนย์กลางแห่งใหม่ๆของแรงงานที่มีทักษะสูงก็จะปรากฏขึ้น “เมื่อสำนักงานหลายแห่งและพื้นที่ในตัวเมืองอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ พนักงานเปลี่ยนไปทำงานทางไกล โดยบางคนออกจากเมืองใหญ่ เพื่อหาพื้นที่ที่กว้างขวางขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง”
อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัย KPMG CEO Outlook pulse survey ประจำปี 2564 พบว่าผู้นำด้านเทคโนโลยี 78% ไม่มีแผนลดขนาดการใช้พื้นที่สำนักงาน และมีประมาณ 1 ใน 4 หรือ 26% ที่คาดว่าจะจ้างแรงงานที่มีทักษะทำงานทางไกลเป็นส่วนใหญ่ในอนาคต
แหล่งข้อมูล