Smart City หรือเมืองอัจฉริยะถือเป็นคำที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีใน พ.ศ. นี้ ซึ่งถือเป็นกระแสการพัฒนาที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของ IMD หรือ สถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาการบริหาร ซึ่งได้ทำการสำรวจผลลัพธ์ของการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาวิถีชีวิติของประชากร และได้มีการเผยแพร่รายงานอันดับเมืองฉลาดที่สุดของโลกในปี 2563 (Smart City Index 2020) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างไม่ต่ำกว่า 13,000 คน ใน 109 ประเทศทั่วโลก ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2563 พบว่า…
เมืองอัจฉริยะอันดับ 1 – 10 มีรายนามดังต่อไปนี้
- สิงคโปร์ (รั้งอันดับ 1 เป็นสมัยที่ 2 ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว)
- เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์
- ซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- โอ๊กแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์
- ออสโล ประเทศนอร์เวย์
- โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
- เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- ไทเป ซิตี้ ประเทศไต้หวัน
- อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
- นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วน กทม. เมืองหลวงของประเทศไทย จัดอยู่อันดับที่ 71 ขยับขึ้นมาจากปีที่แล้ว 4 อันดับ
ซึ่งจากรายงานดังกล่าวพบว่าสิงคโปร์ แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่กลับสามารถที่จะสร้างเมืองได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยสามารถวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จได้ด้วยปัจจัย ดังนี้
1. วิสัยทัศน์และการต่อยอด
ในอดีตปี พ.ศ.2506 สิงคโปร์ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ลีกวนยู ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งมั่นพัฒนาให้เมืองเติบโตไปในทิศทางของ Garden City โดยการสร้างภูมิทัศน์ต่าง ๆ ให้เป็นเมืองในสวน จึงได้มีการปลูกต้นไม้ทั้งเกาะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จ จากนั้นนายลีกวนยู ก็ได้วางเป้าหมายต่อไปคือการพัฒนาสิงคโปร์ไปสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย น่าเที่ยว และน่าลงทุน
โดยในปี 2557 ท่ามกลางกระแส Internet of Things ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประธานาธิบดีลีเซียนลุง ได้ประกาศ “แผนริเริ่ม” (Initiatives) ซึ่งทำให้สิงคโปร์มุ่งสู่การเป็นประเทศแห่งความสมาร์ต ตัวอย่างเช่น แผนริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt Road Initiative: BRI) จากประเทศจีน ซึ่งถือเป็นแผนริเริ่มในการบุกโลกธุรกิจด้วยการพัฒนาการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางสัญจรจากประเทศจีนสู่ประเทศต่างๆ คำว่า Initiatives มีความหมายถึงการริเริ่มซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นสู่ความเป็นประเทศที่ทันสมัย หรือ Smart Nation Initiatives อย่างแท้จริง
2. การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ประเทศสิงคโปร์ก็ได้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเชื่อมต่อด้านการสื่อสารมาในระยะหนึ่งแล้ว คือตั้งแต่ พ.ศ. 2523- 2532 ซึ่งได้มีแผนงานการให้บริการจากภาครัฐด้วยคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
- พ.ศ. 2535 ก็ได้มียุทธศาสตร์ IT2000
- พ.ศ. 2553 ก็ได้มีการตั้งเป้า iGov2010
- พ.ศ. 2557 ได้มีแผนริเริ่ม Smart Nation Initiatives
- พ.ศ. 2558 จึงได้มีแผนแม่บท eGov คือรัฐอิเล็กทรอนิกส์
ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าสิงคโปร์ไม่ได้พึ่งมีการปรับตัวทางด้านเทคโนโลยี แต่มีวิสัยทัศน์ในการวางรากฐานด้านเทคโนโลยีมาอย่างยาวนากว่า 30 ปี
3. การเป็นเมืองขนาดเล็กและเสถียรภาพทางด้านการเมือง
แม้ว่าถ้าหากเรามองในด้านการเมืองการปกครองแล้วจะพบว่าสิงคโปร์อาจจะไม่สมบูรณ์แบบในแง่ของการมีประชาธิปไตย แต่ทว่าในแง่ของการมีเสถียรภาพทางการเมืองได้กลายเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่ง เพราะสามารถทำให้นโยบายในการบริหารประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องและนโยบายในการพัฒนาประเทศก็สอดรับกันมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน รวมถึง ถ้าหากมองในแง่ของการบริหารจัดการเรายังพบว่า เมืองที่มีขนาดเล็กจะได้เปรียบกว่าเมืองที่มีขนาดใหญ่ เพราะสามารถที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยีไปแล้วประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง จึงทำให้ผลสำรวจออกมาโดยที่ประชาชนมีความพึงพอใจ เพราะสามารถได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะอย่างเต็มที่
และทั้งหมดนี้ก็คือบทวิเคราะห์ความสำเร็จของสิงคโปร์ เมืองอัจฉริยะอันดับ 1 ของโลก ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว เมืองแต่ละเมืองนั้นมีปูมหลังหรือบริบทอันแตกต่างกัน เราอาจจะไม่สามารถเลียนแบบ หรือยึดเอาเมืองใดเมืองหนึ่งมาเป็นต้นแบบได้ทั้งหมด แต่เราสามารถที่จะศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาของประเทศนั้น ๆ แล้วนำเอาแนวทางแห่งความสำเร็จมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.bangkokbiznews.com
เครดิตรูปภาพ
www.pexels.com