การจัดส่งสินค้าแบบไร้คนขับในเสฉวน ต้นแบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ

Loading

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยข้อมูลการสำรวจตลาดโดรนขนส่งของโลก ที่คาดว่าตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2573 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 42.6 โดยปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของตลาดโดรนขนส่ง คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดรนที่ทำให้การขนส่งด้วยโดรนมีความปลอดภัยมากขึ้น ขณะที่ เกิดความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อการขนส่งที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการปรับเปลี่ยนสู่การใช้ระบบ โลจิสติกส์อัจฉริยะ ยังเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นแนวโน้มของโลกในปัจจุบันอีกด้วย

เนื่องจากการขนส่งด้วยโดรน นอกจากจะตอบโจทย์ระบบ โลจิสติกส์อัจฉริยะ อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นทางเลือกที่ดีในการขนส่งไมล์สุดท้าย (Last-Mile Delivery) ที่ขนส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าไปจนถึงปลายทางที่นอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการทั้งในด้านการใช้น้ำมันและค่าบำรุงรักษา ช่วยให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับสินค้าเร็วขึ้น ลดปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนนอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยประเทศที่เป็นต้นแบบในการใช้ระบบ โลจิสติกส์อัจฉริยะ และโดรนขนส่งของเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คือ ประเทศจีน ซึ่ง แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) และบริการจัดส่งอาหารของจีน เหม่ยถวน ได้รับการอนุมัติจากสำนักบริหารการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (Civil Aviation Administration of China: CAAC) ให้ดำเนินโครงการนำร่องทดสอบการให้บริการที่เมืองเซินเจิ้น

และการให้บริการขนส่งของเหม่ยถวนมีความแตกต่างจากของสหรัฐฯ คือ โดรนไม่ได้ขนส่งสินค้าไปที่บ้านของผู้บริโภค แต่จะส่งไปที่จุดกลางที่มีตู้รับสินค้าตั้งอยู่ ที่แม้ว่าการอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคจะน้อยลง แต่ก็ทำให้สามารถกำหนดเส้นทางการบินที่ชัดเจน ลดความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดคิดได้มากกว่า จึงสามารถดำเนินการในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นอย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยในปี 2565 เหม่ยถวน ทำการขนส่ง 100,000 คำสั่งซื้อในเมืองเซินเจิ้น

มาในวันนี้ บทความเรื่อง “จัดส่งสินค้าแบบไร้คนขับในเสฉวน : ต้นแบบโลจิสติกส์อัจฉริยะที่ไทยควรจับตา” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ thaibizchina.com ได้อัปเดตว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑลเสฉวนได้เร่งส่งเสริมการทดลองใช้บริการจัดส่งแบบไร้คนขับในภาคโลจิสติกส์ ภายใต้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจการบินต่ำ โดยมีทั้งรูปแบบการจัดส่งด้วยโดรนและรถขนส่งไร้คนขับ สร้างเครือข่ายโลจิสติกส์อัจฉริยะที่ผสานการทำงานระหว่าง “อากาศและภาคพื้นดิน” อย่างลงตัว

ทว่า แม้จะมีการคำนวณ “บวกประสิทธิภาพ-ลบต้นทุน” แต่ยังคงมี “สมการ” ด้านเทคโนโลยี การประสานงาน และความปลอดภัยที่ต้องการการแก้ไข ซึ่งบทความนี้ได้ถอดบทเรียนในการวางระบบการจัดส่งสินค้าแบบไร้คนขับในมณฑลเสฉวนของจีนในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ความเปลี่ยนแปลง : จัดส่งไร้คนขับ ขยายเครือข่ายจากฟ้าสู่ดิน

เช้าวันที่ 17 มีนาคม 2568 ณ จุดบริการในหมู่บ้านไหลหลง เขตหลงเฉวียนอี้ นครเฉิงตู พนักงานส่งของกำลังบรรจุพัสดุลงในรถจัดส่งไร้คนขับ ผ่านแอปฯ บนมือถือเพื่อควบคุมการออกเดินทางของรถอย่างปลอดภัยและตรงตามเส้นทางที่ตั้งไว้ “ใช้งานง่าย ปลอดภัย และที่สำคัญคือเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่ง” นายมู่ ชุนซง  ผู้จัดการสถานีระบุว่า ขณะนี้ได้ติดตั้งรถไร้คนขับจำนวน 17 คันในพื้นที่นี้แล้ว

รถไร้คนขับเหล่านี้มีความจุประมาณ 3 ลูกบาศก์เมตร เดินทางได้รัศมี 10 กิโลเมตร มีความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติระดับ L4 (สามารถขับขี่ได้อย่างอิสระในสภาพแวดล้อมที่กำหนดโดยไม่ต้องใช้คนขับ) และวิ่งได้ไกลถึง 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง นอกจากรถไร้คนขับแล้ว โดรนจัดส่งก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ เช่น อาป้า พานจื่อฮวา เหมยซาน และจื้อกง ซึ่งบางพื้นที่ยังเปิดเส้นทางจัดส่งทางอากาศสู่ชนบทอีกด้วย

ในเขตซินตู นครเฉิงตู โดรนและรถไร้คนขับเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ ตัวอย่างเช่น จากศูนย์โลจิสติกส์ที่ท่าเรือรถไฟนานาชาติในเขตชิงไป่เจียง โดรนสามารถส่งพัสดุไปยังศูนย์คัดแยกของบริษัทขนส่ง แล้วจึงส่งต่อไปยังลูกค้าด้วยรถไร้คนขับ รวมทั้งสิ้นใช้เวลาเพียง 22 นาที โดยผู้ให้บริการสามารถส่งของถึงมือลูกค้าภายในเวลารวมประมาณ 1 ชั่วโมง และต้นทุนยังต่ำกว่าการจัดส่งด่วนภายในเมืองแบบเดิม

ด้านต้นทุน : เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนโดยรวม

แม้การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่จะสูง แต่ผู้ประกอบการเชื่อว่าระยะยาวจะช่วยลดต้นทุน เช่น โดรน 1 ลำมีต้นทุนราว 270,000 หยวน หากคิดค่าบริการจัดส่งครั้งละ 40 หยวน เพียงจัดส่งวันละ 3 ครั้งก็สามารถคุ้มทุนได้

ในกรณีของรถไร้คนขับ เมื่อเปรียบเทียบกับรถขนส่งทั่วไปที่มีค่าใช้จ่ายรวมถึงคนขับราว 10,000 หยวนต่อเดือน รถไร้คนขับขนาด 5 ลูกบาศก์เมตรที่สามารถส่งพัสดุได้ 500 ชิ้นต่อรอบ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 2,580 หยวนต่อเดือน โดยการใช้ 3 คันพร้อมกันก็ยังถูกกว่าการใช้รถแบบดั้งเดิม

ผู้ประกอบการระบุว่า ปริมาณพัสดุที่จัดส่งต่อเดือนสูงกว่า 100,000 ชิ้น โดยรถไร้คนขับช่วยลดเวลาในการจัดส่งลงประมาณ 20 นาทีต่อรอบ เพิ่มประสิทธิภาพได้ถึงร้อยละ 40

ปัญหาที่พบ : ยังมีข้อจำกัดแต่ศักยภาพตลาดสูง

แม้ว่าจะมีความก้าวหน้า แต่การจัดส่งแบบไร้คนขับยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และพบปัญหาหลายด้าน เช่น

  • เทคโนโลยี : รถและโดรนอาจมีปัญหาในสภาพอากาศเลวร้าย เช่น ฝนตกหนักหรือหมอกหนา รวมถึงโดรนมีข้อจำกัดด้านระยะทางและน้ำหนักขนส่ง
  • ต้นทุนสูงในช่วงเริ่มต้น โดยเฉพาะในชนบทที่มีปริมาณพัสดุน้อย ทำให้ไม่สามารถลดต้นทุนด้วยการกระจายการใช้งานในวงกว้างได้
  • การประสานงาน : ต้องผ่านขั้นตอนขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน เช่น การบินพลเรือนและตำรวจ ซึ่งยังไม่มีระบบอนุมัติที่คล่องตัว
  • ความปลอดภัย : เมืองต่างๆ ยังไม่มีเลนเฉพาะสำหรับรถไร้คนขับ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยที่ผ่านมาเคยเกิดอุบัติเหตุจากรถยนต์ส่วนตัวเฉี่ยวชน
  • โครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม และอัตราการใช้งานยังต่ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายระบบในวงกว้าง

ทว่า แม้มีอุปสรรค แต่ศักยภาพของตลาดยังสดใส รายงาน “การสำรวจตลาดและข้อเสนอแนะการลงทุนอุตสาหกรรมจัดส่งไร้คนขับของจีน พ.ศ. 2567-2572” คาดการณ์ว่า ตลาดจัดส่งไร้คนขับในจีนจะมีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านหยวน (2,341,275,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ในปี พ.ศ. 2568

และเลขาธิการสมาคมไปรษณีย์ด่วนพิเศษมณฑลเสฉวนเสนอว่า ควรเร่งดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่

  • ขยายรูปแบบบริการสู่ผู้บริโภคทั่วไป โดยให้ครอบคลุมการใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ธุรกิจ (B2B) แต่รวมถึงลูกค้าทั่วไป (B2C)
  • ส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการใช้งานระยะไกล ความสามารถในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อม และระบบอัจฉริยะ
  • ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการ เช่น การให้เงินอุดหนุน การแบ่งระดับสิทธิการใช้ถนน และการเปิดเขตการบิน รวมถึงสร้างการรับรู้ผ่านสื่อ เพื่อสร้างบรรยากาศทางสังคมที่เอื้อต่อการขยายตัวในอนาคต
  • ทดลองใช้ระบบจัดส่งแบบไร้คนขับในมณฑลเสฉวนของจีนกับแนวทางในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ความแออัดของการขนส่งในเมืองใหญ่ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ และความไม่แน่นอนของต้นทุนการขนส่งที่ผันผวนตามราคาพลังงาน หากสามารถนำเทคโนโลยีการจัดส่งไร้คนขับมาใช้ทดลองในบางพื้นที่ โดยเฉพาะเขตเมืองหรือเมืองท่องเที่ยวที่มีความต้องการจัดส่งสินค้าแบบเร่งด่วนสูง ก็จะช่วยลดต้นทุนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมาก

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบด้านภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งในเขตเมือง ชนบท ภูเขา และพื้นที่เกษตรกรรม หากใช้โดรนและรถไร้คนขับในการขนส่งสินค้าการเกษตร เช่น ผลไม้สด หรือพัสดุที่ต้องถึงมือผู้บริโภคในเวลาจำกัด ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้อีกทาง อย่างไรก็ตาม การพัฒนานี้จำเป็นต้องมีการวางแผนระยะยาวในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การจัดสรรพื้นที่จอดขึ้น-ลงของโดรน เลนพิเศษสำหรับรถไร้คนขับ ตลอดจนการออกแบบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยและความร่วมมือข้ามหน่วยงานอย่างชัดเจน ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการวางระบบเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม จึงอาจเริ่มจากการจัดตั้ง “เขตนำร่องนวัตกรรมโลจิสติกส์” ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อทดลองระบบจัดส่งไร้คนขับในพื้นที่จำกัดก่อน

ที่สำคัญ รัฐบาลควรมีบทบาทเชิงรุกในการออกกฎหมาย ส่งเสริมวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ และให้ทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภาคขนส่ง พร้อมทั้งจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยและการควบคุมการใช้งานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เพื่อให้การทดลองสามารถขยายผลสู่การใช้งานจริงได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ควรสร้างการรับรู้ในหมู่ประชาชน เพื่อส่งเสริมการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากช่องทางสื่อดิจิทัลและการศึกษาให้เข้าใจถึงประโยชน์และข้อจำกัดของระบบนี้อย่างตรงไปตรงมา หากดำเนินการอย่างมีทิศทางและต่อเนื่อง ประเทศไทยจะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เข้าสู่ยุคอัจฉริยะได้อย่างแท้จริง และแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีศักยภาพในระยะยาว

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2025/04/19/smart-logistics-in-sichuan/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210