การวางกลยุทธ์การตลาดเพื่อเดินหน้าธุรกิจในแบบเดิมอาจไม่เพียงพออีกต่อไป เมื่อวิกฤตโควิด-19 รวมถึง การดิสรัปของเทคโนโลยีเข้ามาผลักดันทำให้ทุกธุรกิจต้องเดินหน้าด้วยความช่วยเหลือของ “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” อย่าง หุ่นยนต์บริการ ที่จะเข้ามาเป็นกองหนุน ทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงาน ปรับภาพลักษณ์ของธุรกิจให้ดูทันสมัย โดนใจผู้บริโภครุ่นใหม่ และที่สำคัญยังเข้ามาช่วยงานมนุษย์ สร้างความปลอดภัยปกป้องคนทำงานจากเชื้อโรคต่างๆ ในยุควิถีใหม่นี้ด้วย
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ หลายธุรกิจได้ตัดสินใจลงทุน เพื่อนำ หุ่นยนต์บริการ มาใช้ในการทำธุรกิจอยู่แล้ว โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร หรือธุรกิจการให้บริการที่ต้องการการต้อนรับ จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 หุ่นยนต์บริการ ก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะเพื่อมาเติมเต็มงานด้านบริการ ปกป้องมนุษย์จากเชื้อโรคต่างๆ ดังที่ได้เกริ่นมา
เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้ แล้วเหล่าผู้บริหารชั้นนำของไทย จะมีความคิดเห็นอย่างไรกับการลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีรูปแบบนี้ ในยุคที่ทุกคน ทุกธุรกิจ ต้องตระหนักถึง Adaptive Life เพื่อความอยู่รอด
ด้วยเหตุนี้ ทางพันธมิตรธุรกิจและทางภาคการศึกษาไทย จึงได้จัด VIP Webinar ขึ้น ในหัวข้อ “พลิกวิกฤต พิชิตโควิด เปิดเศรษฐกิจกับ หุ่นยนต์บริการ Adaptive Life” โดยในงานเสวนาออนไลน์นี้ มีผู้เข้าร่วมเป็นผู้บริหารระดับสูงจากทั้งทางฝั่งภาคธุรกิจชั้นนำของไทย ได้แก่ บมจ. เอ็ม เค เรสโตรองค์ กรุ๊ป, แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) และ ศูนย์การค้า เอ็ม บี เคและทางฝั่งภาคสถาบันการศึกษา อย่าง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.และ ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)
โดยงานเสวนาครั้งนี้มีเจ้าภาพคนสำคัญ อย่าง บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท เคเอสไอ โซลูชั่น จำกัด บริษัทผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ชั้นนำในประเทศไทย เป็นผู้ประสานงานและทำให้งานเสวนาดีๆ ครั้งนี้เกิดขึ้นได้
และเพื่อนำเสนอสาระดีๆ ที่ได้จาก VIP Webinar นี้ เราได้นำมุมมองที่น่าสนใจของผู้บริหารในภาคธุรกิจชั้นนำ และนักพัฒนาเทคโนโลยีภาควิชาการมาสรุปให้ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน
“ดำเนินธุรกิจในภาวะจำศีล” กลยุทธ์ทำธุรกิจช่วงโควิดระบาด ของ เอ็ม เค เรสโตรองค์ กรุ๊ป
เริ่มที่ วิทยากรท่านแรก ที่มาแชร์ประสบการณ์ การพลิกวิกฤต พิชิตโควิด คือ ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการ บมจ. เอ็ม เค เรสโตรองค์ กรุ๊ป กับการสื่อสารชัดเจนว่า การดำเนินธุรกิจในช่วงที่วิกฤตโควิดยังไม่ผ่านพ้นไปของ แบรนด์ร้านอาหารที่คนไทยรู้จักและชื่นชอบ อย่าง เอ็ม เค เรสโตรองค์ คือ การเดินตามกลยุทธืการทำธูรกิจในภาวะจำศีล
“แน่นอนว่า วิกฤตโควิด ที่อยู่กับเรามาปีกว่า ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว จะมีส่วนทำให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ที่กิจการอยู่ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะค้าขายไม่ได้ แต่ยังต้องแบกรับค่าจ้างพนักงานและค่าใช้จ่ายต่างๆ เอาไว้เพื่อรักษาธุรกิจซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก”
“วิกฤตการณ์ที่เราเจออยู่ในตอนนี้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ทุกคนในโลกนี้ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ทาง เอ็มเค เองก็เซอไพรส์ เพราะเราทำการค้ามา ปีนี้เข้าปีที่ 35 แม้ว่าเราจะมีการเตรียมความพร้อมมาตลอดเวลาในแง่ของความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดขึ้น ทำให้แม้เจอวิกฤตการณ์ลักษณะนี้เราก็สามารถอยู่กับมันได้”
“โดยเราก็ต้องประกาศชัดเจนในองค์กรว่า เราจะเข้าสู่ภาวะจำศีล หรือเข้าสู่ Survival Strategy คำพูดเหล่านี้ เรานำมาใช้เป็นแผนการณ์ดำเนินธุรกิจในช่วงวิกฤตมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดระลอกแรก เพราะเรามองว่า เมื่อใดก็ตามที่มีพายุมา สิ่งที่ต้องทำเลย คือ เราต้องหลบพายุ อย่างหมีขาวขั้วโลก ที่ต้องหลบเข้าไปอยู่ในถ้ำ จนกว่าพายุจะหมดไปค่อยออกมา แต่ก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในถ้ำก็ต้องกินเพื่อสะสมไขมันให้เต็มที่ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ให้ได้”
“การทำธุรกิจ ก็ไม่ต่างจากการเรียนรู้ความจริงจากธรรมชาตินี้แล้วนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ธุรกิจของเราในวันนี้จึงยังอยู่ในโหมดของการจำศีลอยู่”
แชร์ประสบการณ์การตัดสินใจใช้ หุ่นยนต์บริการ เป็นเจ้าแรกๆ ของไทย
กล่าวได้ว่า เอ็ม เค เรสโตรองค์ นับเป็นร้านอาหารแรกๆ ที่ตัดสินใจลงทุนใน หุ่นยนต์บริการ เพราะเห็นในศักยภาพหลากหลายด้านที่จะช่วยเสริมให้การทำงานของมนุษย์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“มาถึงแนวคิดเรื่อง หุ่นยนต์บริการ สำหรับเอ็มเคแนวความคิดนี้มาตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว เอ็มเค จัดได้ว่าเป็นบริษัทแรกๆ ที่เริ่มลงทุนซื้อหุ่นยนต์และนำเข้ามาใช้ในงานบริการ จำได้ว่าแรกเริ่มเราตัดสินใจซื้อมา 10 ตัว ตัวละหนึ่งล้านบาทโดยประมาณ ซึ่งเราตั้งใจซื้อมาทดลองดู และพบว่าหุ่นยนต์ก็สามารถเข้ามาช่วยงานได้พอสมควร ช่วยทั้งการให้บริการ อย่างการเสิร์ฟ ยกไปยกมา และนำมาช่วยในด้านการสร้างความบันเทิง สร้างสีสันให้คนที่เข้ามาใช้บริการ อย่างการร้องเพลงวันเกิด เป็นต้น”
“แนวคิดเบื้องหลังที่มาทำให้เราตัดสินใจลงทุนในหุ่นยนต์ ก็เนื่องจากว่าในตอนนั้น เริ่มมีงานบางงานที่มนุษย์ไม่อยากทำ อย่างงานล้างอาหาร งานล้างชาม ก็ไม่ค่อยมีคนอยากทำ เราก็เริ่มปรับด้วยการเอาเครื่องล้างจานชามมาใช้ และคิดว่าต่อไปอาจต้องใช้หุ่นยนต์ล้างชามก็ได้”
“ดังนั้น เราคิดว่า ถ้างานไหนที่สามารถให้หุ่นยนต์มาช่วยงานได้ นั่นก็เป็นการเพิ่มผลิตภาพหรือ Productivity ให้กับการให้บริการ ซึ่งจากการศึกษาในภาพรวม Productivity ด้านงานบริการเป็นภาคส่วนที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นช้ามาก เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ร้านอาหารหนึ่งใช้คนจำนวนเท่าไร มาในวันนี้ก็ยังใช้แรงงานคนไม่ต่างกับสมัยก่อนเท่าไร”
“และเมื่อหุ่นยนต์ยุคนี้ สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานคน ให้เข้ามาทำงานบางอย่างที่มนุษย์ไม่อยากทำ และหุ่นยนต์เข้ามาช่วยทำได้ หรืองานนั้นอาจเป็นงานที่อันตราย สกปรก ก็มองว่าเป็นทั้งทางออกและวิถีทางที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับธุรกิจได้”
“โดยต่อไป ทางเอ็มเคมมองว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดดีขึ้น ทางเอ็มเคจะมีการปรับเอาหุ่นยนต์บริการมาใช้ในร้านอาหารของเรา และในการทำงานหลายฝ่ายขึ้น อย่างแน่นอน”
ส่วนในเรื่องของการลงทุนในบุคลากรกับหุ่นยนต์นั้น มีการสร้างสมดุลหรือมีความแตกต่างกันอย่าง? ต่อคำถามนี้ คุณฤทธิ์ ได้ตอบว่า “ในตอนนี้การจะเปรียบเทียบเรื่องการลงทุนระหว่างโรบอตกับหุ่นยนต์นั้น อาจกำหนดยากในวันนี้ เพราะการนำหุ่นยนต์มาใช้ยังอยู่ในโหมดการทดลอง ดังนั้น หุ่นยนต์ที่นำมาใช้ในธุรกิจ คงยังไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และทางธุรกิจก็ต้องใช้ช่วงเวลานี้ในการทดลองให้หุ่นยนต์มาทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง”
บทบาทที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ ในฐานะ Commentator ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้ไปไกลได้อีก
นอกจากนั้น คุณฤทธิ์ ยังแชร์มุมมองที่น่าสนใจ เรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของไทย ว่าเป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจด้วยที่ต้องส่งการบ้านให้กับนักพัฒนาเทคโนโลยีของไทย
“ในฐานะภาคธุรกิจ เราเป็นผู้ที่ใช้หุ่นยนต์โดยตรง ดังนั้น เรามีหน้าที่ต้องส่งฟีดแบกเรื่องสิ่งที่พบในการใช้หุ่นยนต์กลับไปให้กับผู้คิดค้น นักวิจัย ที่จะสร้างและพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาด้วย เหมือนส่งการบ้าน เพื่อให้นักวิจัยนำไปพัฒนาหุ่นยนต์ให้บริการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะผมเชื่อมั่นว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ต้องทำไปพร้อมๆกับการให้ภาคผู้ใช้ซึ่งเป็นธุรกิจต่างๆ ได้คุ้นชินกับการใช้หุ่นยนต์”
“เพราะหุ่นยนต์ก็ไม่ใช่ว่ามีแต่ข้อดี ก็มีข้อเสีย เช่น ไม่มี Human touch ซึ่งเมื่อนำมาทำงานบริการอาจไม่ดีเท่าการใช้มนุษย์ หรือเกิดเหตุขัดข้อง ใช้งานไม่ได้ ก็ต้องส่งซ่อม แต่ถึงกระนั้น หุ่นยนต์ก็มีกลไกการทำงานที่ถ้าเจอส่วนที่เสียก็สามารถถอดเปลี่ยนได้ ก็กลับมาใช้ทำงานได้เหมือนเดิม”
“และถ้าหุ่นยนต์ทำงานดี ก็มีส่วนในการช่วยเพิ่มยอดขายให้ได้ เพราะหุ่นยนต์สามารถสร้างความประทับใจให้ลูกค้าที่ได้รับบริการ ถ้าทำได้ ลูกค้าเหล่านั้นก็ย่อมกลับมาใช้บริการเราอีกทีก็ได้ เนื่องจาก จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราตระหนักดีว่า มนุษย์ทุกคน ไม่ใช่ว่าจะ Entertain ได้ทุกคน แต่หุ่นยนต์เราใส่โปรแกรมให้เขาช่วยเอนเตอร์เทนลูกค้าได้”
ประเด็นต่อมา ที่ คุณฤทธิ์ ได้ตอบคำถามไว้อย่างน่าสนใจ คือ ประเด็นเรื่องของการใช้หุ่นยนต์ในธุรกิจขนาดย่อมลงมา อย่าง SMEs ที่ย้ำว่า ในช่วงวิกฤตแบบนี้ มองว่า ธุรกิจ SMEs คงต้องพยายามวางแผน Lean ทุกอย่าง เพื่อประคองตนเองให้อยู่รอดจากวิกฤต ดังนั้น เทคโนโลยีหุ่นยนต์อาจมีราคาสูงไปสำหรับธุรกิจ อยากให้มองหาเทคโนโลยีอื่น ซึ่งมีราคาไม่สูงมากและมีประสิทธิภาพดี ช่วยสร้างผลิตภาพให้กับธุรกิจได้จะดีกว่า
แบล็คแคนยอน ร้านกาแฟแบรนด์คนไทย ที่ไม่จำนนต่อวิกฤตด้วยการกล้าก้าวออกจากกรอบเดิมๆ และใช้หุ่นยนต์เป็นตัวช่วย
ด้าน ประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้มาบอกเล่าถึงแนวทางที่ใช้เพื่อพาองค์กรฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ พร้อมแผนการใช้เทคโนโลยีที่วางไว้ ซึ่งพร้อมเดินหน้าต่อทันทีหลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย
“ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด ทาง แบล็คแคนยอน ก็มีการวางแผนว่าจะนำหุ่นยนต์มาให้บริการในสาขานำร่อง อย่าง สาขาเซ็นทรัลพระรามเก้า โดยจะนำหุ่นยนต์มาเสิร์ฟอาหาร ช่วยเก็บจาน และเป็นผู้ช่วยพนักงานในการจัดวางสินค้า แต่เมื่อมาเจอโควิด การขยายผลการดำเนินงานในหลายส่วนก็ชะงักลงหมด รวมถึงแนวทางการใช้หุ่นยนต์ในร้านอาหารของเราด้วย”
“ผมมองว่า โควิด คราวนี้ มันสอนให้เราเข้มแข็งขึ้น และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆจากการคิด แก้ปัญหา เพื่อรับมือกับวิกฤตในรูปแบบที่แตกต่าง อย่างตอนเกิดวิกฤตน้ำท่วม ทางร้านแบล็คแคนยอนของเราก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะร้านของเราส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมัน ก็ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ยังรวมถึงวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง หรือย้อนไปถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 เราก็ยังรอดมาได้ และเราก็คิดว่า วิกฤตโควิด-19 เราก็ต้องรอดได้เช่นกัน”
“โดยกลยุทธ์ที่เราใช้ คือ การพิจารณาในบางสาขาที่เราสามารถลดคนได้ ในบางสาขาที่ยอดขายไม่มาก และไปทุ่มลงทุนในบางสาขา หรือบางตลาด ที่มีโอกาสมากกว่า”
“แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตนี้เองที่เราได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของผู้บริหารและพนักงาน อย่างผู้บริหาร เราเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงศักยภาพเต็มที่ เปิดรับฟังความคิดเห็นของเขา ซึ่งที่ผ่านมา เราพิสูจน์แล้วว่า ในการรับมือวิกฤตโควิด-19 นี้ หลักการบริหารธุรกิจ ทฤษฎีแบบคลาสสิคเดิมๆ จากหลักสูตร MBA กลับใช้ไม่ได้เสมอไปกับวิกฤตนี้”
“ขณะเดียวกัน เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เราฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างการนำโรบอตมาช่วยงานด้านการบริการ โดยอยากให้ทำได้มากกว่าแค่เสิร์ฟอาหาร อยากให้มาชงกาแฟ ปรุงอาหาร ให้ โดยไม่ได้จะเอามาแทนคน 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันแทนไม่ได้อยู่แล้ว”
“และในเรื่องของหุ่นยนต์บริการ เราคิดว่าคงไม่ใช่การซื้อหุ่นยนต์มาหลายตัว เพราะมูลค่ามันมหาศาล คงจะเป็นการคุยกับ Vender เพื่อขอเช่าหุ่นยนต์มาใช้มากกว่า โดยจุดคุ้มทุน อาจอยู่ที่การคำนวณแบบง่ายๆ โดยเทียบค่าเช่ากับค่าแรงของคนงานในระดับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งอาจจะคิดต่อ 1 man/hour ถ้าค่าเช่านั้นไม่ต่างกันมากถือว่านั่นมีจจุดคุ้มทุน แต่ข้อดีของโรบอตที่เหนือกว่าคน คือ ไม่มีวันหยุด พักร้อน หรือลาป่วย ก็ต้องเอาตรงนี้มาคิดคำนวณด้วย”
หุ่นยนต์บริการ พลิกโฉมห้างสรรพสินค้ายุค Post Covid ให้ปลอดภัย สะดวก ยิ่งขึ้น
ต่อมา ได้เวลามาฟังมมุมมองการนำหุ่นยนต์บริการไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในธุรกิจห้างสรรพสินค้ากันบ้าง จากปากของ สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บมจ. เอ็ม บี เค หรือ ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง นั่นเอง
“ล่าสุด เราได้มีการนำหุ่นยนต์มาใช้เพื่อให้บริการผู้ที่เข้ามาฉีดวัคซีน โดยยึดหลัก 1 บ. 2 ป. คือ การนำหุ่นยนต์มาใช้ตอบโจทย์ด้าน บ. ตัวแรก คือ “บริการ” และ อีก 2 ป. คือ การ “ป้องกัน” และสร้างความ “ปลอดภัย” ยกตัวอย่าง เราต้องแน่ใจว่า เมื่อเราเป็นสถานที่ฉีดวัคซีน ต้องมีระบบป้องกันการแพร่เชื้อ และรักษาความสะอาด ซึ่งเมื่อผู้ฉีดวัคซีนมาถึง แน่นอนว่าการใช้คนไปฉีดพ่น คนที่ฉีดก็อาจได้รับอันตราย ดังนั้น หุ่นยนต์จึงมาเป็นตัวช่วยสำคัญในการทำงาน นั่นคือการฆ่าเชื้อ นั่นคือ เมื่อคนเดินเข้ามาในศูนย์การค้าแล้วมีความปลอดภัย”
“ที่ผ่านมา มีเทคโนโลยีด้านอื่นที่นำมาปรับใช้ เช่น เอา AI ไปติดที่กล้อง เพื่อตรวจจับความผิดปกติของผู้ที่เข้ามาใช้บริการในห้าง มาในวันนี้ ได้พูดคุยกับทางทีเคเค คอร์ปอเรชั่น เราได้ทราบว่า ในวันนี้มีหุ่นยนต์ที่เดินแล้วตรวจจับความต้องการของคนได้ นี่เป็นนวัตกรรมที่ทำให้เราสามารถดูแลความปลอดภัยให้คนที่มาเดินห้างสรรพสินค้าได้”
“ส่วนการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการทำธุรกิจของเอ็มบีเค เราเลือกใช้วิธีเช่า โดยมีเหตุผลว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์มีวิวัฒนาการความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การเช่า ทำให้ทางผู้ใช้สามารถลองใช้และถ้ามีข้ออะไรที่อยากให้ผู้ผลิตปรับเพิ่ม ก็ย่อมส่งฟีดแบกกลับไปที่ผู้ผลิตได้โดยตรง”
“ส่วนการใช้หุ่นยนต์ในห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหารในยุคที่วิกฤตโควิดคลี่คลาย เราจะได้เห็นการใช้หุ่นยนต์ตั้งแต่เมื่อเราเดินเข้าห้างสรรพสินค้า นอกจากหุ่นยนต์จะทำหน้าที่ฆ่าเชื้อ ดูแลความปลอดภัยอย่างที่กล่าวมาแล้ว หุ่นยนต์บริการ ก็จะทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลโปรโมชั่นร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าได้ด้วย หรือสามารถให้ข้อมูลร้านอาหารและทางเดินไปร้านอาหารนั้นได้ด้วย”
“จากแต่ก่อน ลูกค้าอาจต้องเดินไปหาหุ่นยนต์ ถ้าอยากใช้หุ่นยนต์บริการ แต่หลังวิกฤตโควิด หุ่นยนต์จะไปคอยให้บริการหรือเดินไปหา ไปต้อนรับลูกค้าตั้งแต่เดินเข้าห้างมาเลย โดยอาจใช้เทคโนโลยี AI ร่วมด้วย เช่น มีกล้องตรวจจับลูกค้า ถ้าลูกค้าเหมือนมองหาอะไร หันซ้ายหันขวา อาจมีหุ่นยนต์เดินเข้าไปหาเพื่อให้ความช่วยเหลือเลยก็ได้”
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปได้ไม่หยุด ทุกธุรกิจต้องก้าวให้ทัน เพื่อใช้มันอย่างเกิดประโยชน์
มาถึงตัวแทนภาควิชาการ ที่มาให้มุมมองในฐานะนักพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณะบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องเทคโนโลยีที่สามารถนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมงานบริการว่า
“ในแง่ของผู้วิจัยทางด้าน AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เรามองว่า 2-3 ปีที่เกิดโควิดขึ้นนี้ เป็นโอกาสที่สำคัญ เพราะเป็นช่วงที่เทคโนโลยีหลักของโลกที่เรียกว่า Deep Learning กำลังมา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่แตกแขนงออกมาจาก AI โดย Deep Learning อาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นภาพ พฤติกรรม รวมถึง ข้อมูลด้านความปลอดภัยต่างๆ ที่ทางฝั่งนักวิจัย ผู้คิดค้น ก็อาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาลนี้เองมาคิดค้นเครื่องมือที่ฉลาดขึ้น ประกอบกับการประมวลผลที่ดีขึ้น”
“นอกจากนั้น เทคโนโลยีต่อมาที่มีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจในยุคนี้ คือ Face Recognition และ Voice Recognition ที่ฉลาดมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่มี Localization หมายถึง ถ้าเทคโนโลยีนี้ออกแบบมาจากประเทศใด ก็ย่อมออกแบบมาเพื่อใช้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนในประเทศนั้น”
“ดังนั้น การปรับให้เหมาะกับการใช้ของแต่ละประเทศจึงต้องมีการ Customized ให้เหมาะกับการนำไปใช้งานของแต่ละประเทศ อันนี้คืออีกหนึ่งโอกาสของนักพัฒนา นักวิจัยต่างๆ รวมถึงการมอบโจทย์จากทางภาคธุรกิจก็ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของนักพัฒนาเทคโนโลยีที่จะพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ทางภาคธุรกิจได้เปิดโอกาสและยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้เองที่จะนำสู่การพัฒนาเทคโนโลยีในแบบ Localization ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะในทางที่ช่วยให้การทำธุรกิจมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้มากขึ้น”
ชี้ช่องทางการพัฒนาเทคโนโลยี หุ่นยนต์ & AI เป็นวาระแห่งชาติ เป็นจริงได้ไหม?
ต่อมา ในประเด็นที่หลายคนสนใจ เรื่องการผลักดันให้การพัฒนาเทคโนโลยีแห่งยุคอย่าง AI หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เป็นวาระแห่งชาติ รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวชัดเจนว่า การไปถึงจุดนั้น ต้องมีความร่วมมือของหลายๆ ฝ่ายร่วมกัน และวาระแห่งชาติในเชิงนโยบายภาครัฐ รัฐบาลก็มีการกำหนดไว้ให้เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ เพราะการที่ไทยจะก้าวไปสู่ Thailand 4.0 จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่ทันสมัยและใช้งานได้จริง
“แต่จริงๆ แล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การใช้งานได้จริง มี Key factor คือ Real sector ต้องได้ประโยชน์ เช่นในภาคอุตสาหกรรมตอนนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด ก็ยังมีหลายเรื่องต้องหาทางออก และบางเรื่องต้องยกเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้มีการดูแลกันอย่างจริงจัง เพราะเป็นประเด็นที่ เทคโนโลยีอาจไม่ใช่คำตอบในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต”
“อย่างอุตสาหกรรมบริการ นับว่ามีความละเอียดอ่อนในเรื่องของการนำเทคโนโลยีไปใช้งานจริงๆ เพราะที่ผ่านมา หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีต่างๆ เป็นของโชว์มากกว่าของใช้ แต่มาในยุคนี้ เราจึงต้อง Customized เทคโนโลยีให้ตอบโจทย์การใช้งานได้จริง อย่างการที่ AI เข้ามามีส่วนช่วยทำให้หุ่นยนต์นั้น ฉลาดมากยิ่งขึ้น ในราคาที่ถูก และจับต้องได้ นี่ก็สามารถเป็นวาระแห่งชาติในภาคอุตสาหกรรมการบริการได้”
“การผลักดันให้เทคโนโลยีต่างๆ ได้ถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนและต่อประเทศชาติได้จริง ต้องเกิดจากความร่วมมือและตั้งมายด์เซตกันระหว่างผู้ผลิตนวัตกรรม เทคโนโลยี กับผู้ใช้เทคโนโลยี เพราะที่ผ่านมาเมื่อผู้ผลิตนวัตกรรมพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นถึงจุดหนึ่งแล้ว ถึงเวลาที่ต้องส่งมอบให้กับภาคผู้ใช้หรือภาคอุตสาหกรรม แต่เมื่อถึงตอนนั้น กลับไม่มีใครมาส่งเสริมมาพัฒนาต่อ ทำให้เกิดงานวิจัยขึ้นหิ้งมากมาย นี่นับเป็น Dead valley ซึ่งเป็นหลุมพรางหรือกับดักสำคัญที่ทำให้งานวิจัยเทคโนโลยีดีๆ จากมันสมองของนักวิจัยไทยไม่ได้ไปต่อ”
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/08/24/service-robot-innovation-solutions/