สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จัดพิธีมอบใบประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จำนวน 13 แห่ง ในงาน “Thailand Smart City Week 2020” เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2563 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ 1 สามย่านมิตรทาวน์
โดยสองโครงการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ โครงการ “เมืองอัจฉริยะย่านพระราม 4” และโครงการ “Samyan Smart City” ได้รับมอบใบประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะในครั้งนี้ด้วย ในการนี้ ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาฯ พร้อมด้วย รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และคุณประสพสุข พิมพโกวิท รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ในฐานะผู้แทนโครงการ “เมืองอัจฉริยะย่านพระราม 4” และ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ จุฬาฯ เป็นผู้แทนโครงการ “Samyan Smart City” ร่วมในพิธีรับมอบใบประกาศจากคุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
โครงการ “เมืองอัจฉริยะย่านพระราม 4” ในพื้นที่เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาทร และเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะพระราม 4 เป็นโครงการวิจัยที่ขับเคลื่อนโดยซุปเปอร์คลัสเตอร์วิจัยด้านการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการ Samyan Smart City” โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เป็นการวางแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณสามย่าน สวนหลวง และสนามกีฬาแห่งชาติ รวมไปถึงสยามสแควร์เพื่อให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่ตอบโจทย์ของทั้งผู้อยู่อาศัยและผู้เข้ามาใช้บริการ
สำหรับโครงการสามย่าน เมืองอัจฉริยะ (Samyan Smart City) ที่ประกาศให้เป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะประเภทเมืองเดิมน่าอยู่ (Livable City) ในการพัฒนาพื้นที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมภายในเมือง คุณภาพชีวิตของคนในเมืองโดยมุ่งเน้นให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมที่จะมารองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่สังคมอย่างยั่งยืน ประกอบไปด้วย
1. Smart Environment ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้เป็น “Green & Clean City” โดยการเพิ่มสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวและเพิ่มจำนวนไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ (Big Tree) ในพื้นที่ให้มีมากยิ่งขึ้นประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมถึงการนำร่องพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ ที่นำน้ำเสียจากอาคารที่อยู่อาศัยกลับมาบำบัด และนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ภายในสวนอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ อีกด้วย
2. Smart Mobility ทางเลือกการเดินทางที่หลากหลายภายในพื้นที่เพื่อลดรอยต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลัก (Seamless Transportation) และรองรับการเดินทางช่วงระยะเริ่มต้นและระยะสุดท้าย (First & Last Mile) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสะดวกด้วยการใช้งาน และติดตามตำแหน่งของรถผ่าน Application ที่สำคัญในทุกทางเลือกการเดินทางเป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด
3. Smart Energy ปรับปรุงระบบจ่ายไฟฟ้าบนสถานีไฟฟ้าย่อย 2 สถานี ผ่านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โดยได้เริ่มนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้วเพื่อเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยด้านพลังงาน รวมถึงเป็นการช่วยปรับปรุงทัศนียภาพภายในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้เริ่มพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) พร้อมทั้งมีแผนการทดลองติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ในพื้นที่อีกด้วย
4. Smart Living ยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ด้วยการส่งเสริมสุขอนามัยของคนในชุมชนให้มีสุขภาพดี สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการเดิน เป็นเมืองเดินได้เดินดี (Walkable City) มีพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง สถานพยาบาล เป็นต้น ที่สำคัญเมืองจะต้องมีความปลอดภัยจากอาชญากรรม อุบัติภัย และสาธารณภัยด้วย นอกจากนี้ยังส่งเสริมการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในพื้นที่บนแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) เพื่อรองรับการใช้งานของคนทุกๆ กลุ่ม ทั้งคนปกติ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็กด้วย
5. Smart Economy พื้นที่แห่งโอกาสที่มีการสร้างสภาพแวดล้อม หรือ Eco-system ให้รองรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมด้านนวัตกรรม สร้างการเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกิดสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยร้านค้า และสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในพื้นที่อีกด้วย
6. Smart People สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Learning) เพื่อให้คนในชุมชนมีความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญให้มีความพร้อมในการเป็นกำลังขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองต่อไป
7. Smart Governance การรับฟังความเห็นของชุมชน ซึ่งคนในชุมชนและผู้ใช้บริการสามารถร้องเรียน หรือแสดงความคิดเห็นผ่าน QR Code ที่ติดไว้ตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งจะส่งตรงถึงผู้บริหารอย่างแน่นอน การส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการร่วมตัดสินใจร่วมตรวจสอบ เพื่อสร้างความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีนโยบายเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะและข้อมูลเปิด (Open Data) ที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าถึงได้อย่างเสรีโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ และให้ภาคเอกชนและสตาร์ทอัพสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงแก้ไขพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ และเป็นการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอีกด้วย
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
www.chula.ac.th