กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลทางสถิติล่าสุดระบุชัดเจนว่าคนไทยป่วยด้วย โรค NCDs (Non Communicable Diseases) หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ-หลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน โรคไต โดยคนไทยป่วยด้วยโรคกลุ่มนี้รวมกว่า 33 ล้านคน เสียชีวิตจากโรค NCDs ปีละ 400,000 คน ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละปี พบผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่เพิ่มปีละ 300,000 คน โรคมะเร็งปีละ 140,000 คน ผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตกว่า 1 แสนคน และที่น่าตกใจคือ ผู้ป่วยโรคไตมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ
และผลจากข้อเท็จจริงข้างต้นนี้ ทำให้ประเทศไทยมีภาพรวมด้านการใช้งบประมาณจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท ในการรักษาพยาบาล ไม่น้อยกว่า 62,138 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเกือบร้อยละ 50 ของงบประมาณในแต่ละปี ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายแฝงจากค่าอาหาร ที่พัก ค่าเดินทาง การลางาน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับประเทศปีละ 1.6 ล้านล้านบาท
ดังนั้น ตัวเลขผู้ป่วย ค่ารักษาพยาบาล มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นนี้ จึงนำมาสู่ความพยายามในการแก้ปัญหาในทุกมิติ ด้วยการคิดค้นและนำเสนอนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ที่มีส่วนในการดูแลสุขภาพคนไทย และในวันนี้ ทีมนักวิจัยไทยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ส้อมวัดความเค็ม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผสานความคุ้นเคยของเครื่องใช้ในครัวเรือนเข้ากับเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบระดับความเค็มในอาหารก่อนรับประทานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
ทีมนักวิจัย กลุ่มวิจัยการควบคุมและอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เนคเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง กำลังคุกคามสุขภาพของคนไทยในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานเค็มมากเกินไป การควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาส้อมวัดความเค็มสำหรับใช้วัดความเค็มในอาหาร เพื่อช่วยเตือนสติให้ผู้บริโภคในการตัดสินใจรับประทานหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มเกินไป ตลอดจนช่วยให้ผู้ปรุงอาหารลดการใส่เครื่องปรุงที่มีความเค็มมากจนเกินไปด้วยเช่นกัน
ส้อมวัดความเค็ม ทำงานโดยอาศัยหลักการวัดค่าความนำไฟฟ้าของโซเดียมคลอไรด์ (เกลือ) ในอาหารที่เป็นของเหลว เมื่อจุ่มส่วนปลายของส้อมลงในอาหาร ส้อมจะปล่อยกระแสไฟฟ้าสลับเล็กน้อยที่มีความถี่ 1 กิโลเฮิรตซ์ ผ่านตัวนำไฟฟ้า (ของเหลวที่มีโซเดียม) ซึ่งไม่เป็นอันตรายและไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้ใช้งาน จากนั้นจะวัดค่าแรงดันไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณโซเดียมในอาหารเหลวนั้น และแสดงผลเป็นค่าความเค็มในระดับต่างๆ ที่เข้าใจได้ง่าย
ส้อมวัดความเค็มออกแบบให้ใช้งานง่าย เพียงจุ่มปลายส้อมลงในอาหารที่เป็นของเหลวแล้วจึงกดปุ่มเพื่อวัดค่า ส้อมจะแสดงไฟกะพริบขณะทำการวิเคราะห์ กระทั่งเมื่อวัดเสร็จสิ้นจะค้างไฟแสดงผลในระดับความเค็มที่วัดได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ไฟสีเขียว คือ เค็มน้อย (ความเข้มข้นของเกลือ 0.1-0.5%) ไฟสีเหลือง คือ เค็มปานกลาง (ความเข้มข้นของเกลือ 0.6-0.9%) และไฟสีแดง คือ เค็มเกินไป (ความเข้มข้นของเกลือ > 0.9%) โดยใช้ความเค็มของน้ำเกลือล้างจมูกซึ่งมีความเข้มข้น 0.9% เป็นเกณฑ์ หลังใช้งานสามารถนำไปทำความสะอาดปลายส้อมด้วยน้ำยาล้างจานหรือสบู่และตามด้วยน้ำเปล่า แล้วจึงเช็ดให้แห้งเท่านั้น
ทั้งนี้ ตัวส้อมวัดความเค็มผลิตจากสแตนเลส 304 ฟู้ดเกรด ซึ่งเป็นวัสดุที่ปลอดภัยสำหรับการสัมผัสอาหาร และเคลือบด้วยอีนาเมล (enamel) ซึ่งเป็นวัสดุที่นิยมใช้ในเครื่องครัว ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยและความทนทานในการใช้งาน โดยออกแบบให้มีส่วนที่ไม่ได้เคลือบอีนาเมลบริเวณปลายส้อมไว้สำหรับทำหน้าที่เป็นขั้วปล่อยกระแสไฟฟ้าและวัดแรงดันไฟฟ้าที่ไหลผ่านของเหลว เพื่อวัดความเค็มได้อย่างแม่นยำ โดยมีความแม่นยำประมาณ 80% เมื่อวัดในอาหารที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส ส่วนการทำงานของส้อมวัดความเค็มอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ซึ่งมีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 6-7 เดือน และสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้
ปัจจุบันส้อมวัดความเค็มยังอยู่ในขั้นตอนของการปรับปรุงต้นแบบ โดยสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้งาน เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงและพัฒนาส้อมวัดความเค็มในรุ่นต่อไปให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยทีมตั้งเป้าที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนที่มีความสนใจนำไปผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในราคาที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
“เราต้องการสร้างอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่อาจไม่คุ้นเคยหรือกลัวกับการใช้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีที่ซับซ้อน การออกแบบอุปกรณ์วัดความเค็มให้มีรูปร่างคล้ายส้อมทั่วไป ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกคุ้นเคยและมั่นใจในการใช้งาน และยังใช้ในการรับประทานอาหารได้เหมือนส้อมทั่วไป นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ที่รักสุขภาพและใส่ใจในปริมาณโซเดียมที่บริโภคในแต่ละวันให้สามารถตรวจสอบระดับความเค็มของอาหารได้ด้วยตนเอง” ทีมนักวิจัยกล่าว
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2025/05/07/sodium-measure-fork-innovation/