จากข้อมูลผลสำรวจธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ภาพรวมปี 2565 ครัวเรือนไทย มีระดับเข้าถึงบริการทางการเงินราว 97% แต่ยังพบว่า การใช้บริการทางการเงินกระจุกตัวอยู่เพียงบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวันอย่างเงินฝาก โอนเงิน ชำระเงิน และสินเชื่อ
จากข้อมูลผลสำรวจธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ภาพรวมปี 2565 ครัวเรือนไทย มีระดับเข้าถึงบริการทางการเงินราว 97% แต่ยังพบว่า การใช้บริการทางการเงินกระจุกตัวอยู่เพียงบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวันอย่างเงินฝาก โอนเงิน ชำระเงิน และสินเชื่อ ส่วนบริการที่ซับซ้อนขึ้นอย่างการลงทุนและประกันยังมีการใช้ในระดับต่ำ สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างในการเข้าถึงบริการทางการเงินในคนไทยส่วนมาก
กลุ่มใหญ่นี้ คือ คนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินขั้นพื้นฐานได้เต็มที่ หรือที่เรียกว่า Underbanked บางคนต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ เช่น ไม่มีประวัติรายได้หรือธุรกรรมการเงิน ที่บ่งบอกถึงกระแสรายรับประจำ ส่งผลให้ขาดเครดิตการเงิน และเข้าถึงบริการอย่างสินเชื่อสถาบันการเงินได้ลำบาก จึงขาดโอกาสเพิ่มเงินทุนในการพัฒนาชีวิตและอาชีพ
นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดปลายปีที่แล้วยังพบว่า เงินฝากลดลง และคนไทยส่วนใหญ่มีเงินเฉลี่ยในบัญชีไม่ถึง 5,000 บาทต่อราย ซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การมีรายได้เพียงพอที่จะจัดการหนี้สินได้ และมีเงินเก็บเผื่อใช้จ่ายและฉุกเฉิน ถือเป็นก้าวแรกๆ ในการพัฒนาความมั่นคงการเงินขั้นต่อๆ ไป เช่น เรื่องการลงทุน ภาพความไม่เท่าเทียมทางการเงินเหล่านี้ คือที่มาของปัญหาอย่างการกู้ยืมและสร้างหนี้นอกระบบ การรับเปิดบัญชีม้า และการกระทำผิดต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อสังคมและการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
เมื่อบริการการเงินก้าวเข้าสู่ยุคการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ไม่เพียงอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งาน แต่ยังช่วยเติมเต็มช่องว่างให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้เสมอภาคและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ศักยภาพ AI สำหรับการพัฒนาบริการการเงินให้เกิดความเท่าเทียม ครอบคลุมเรื่องหลักๆ ต่อไปนี้
1.นำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่เหมาะสมแต่ละบุคคล พร้อมช่วยเพิ่มความรู้และความเข้าใจใช้เครื่องมือการเงิน
ยุคดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยการผสมผสานข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยี AI ผู้ให้บริการแอปการเงินสามารถใช้ AI เรียนรู้ความต้องการลูกค้าและวิเคราะห์พฤติกรรมใช้จ่าย และพฤติกรรมการเงินอื่นๆ โดยประเมินร่วมข้อมูลเศรษฐกิจและสังคม (SES: Socioeconomic status) ของผู้ใช้ เพื่อสร้างและนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล
อีกทั้งสามารถคัดเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมที่ผู้ใช้แต่ละรายเห็นในแอปหรือแพลตฟอร์ม เพื่อให้ความรู้ไปพร้อมๆ จูงใจผู้ใช้ ไปสู่บริการการเงินใหม่ๆ ช่วยเสริมความมั่นคงการเงินที่ดีขึ้น เช่น ทรูมันนี่ ที่ใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อทำความเข้าใจความต้องการและเป้าหมายการเงินลูกค้า จัดประเภทลูกค้า เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการการเงินที่ตรงความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่ม อีกทั้ง AI ยังช่วยให้ผู้ให้บริการปรับแต่งผลิตภัณฑ์และบริการการเงินให้ตรงความต้องการลูกค้าแต่ละราย (Personalization recommendation) เช่น เสนอส่วนลดพิเศษ รวมถึงเพิ่มการมองเห็นและจูงใจให้เข้าถึงบริการการเงินที่ไม่เคยใช้หรือศึกษา โดยสื่อสารกับลูกค้าเฉพาะรายบุคคล เช่น แจ้งเตือน ส่งข้อความ ยกระดับความเข้าใจการเงิน (Financial literacy) เพื่อช่วยสร้างโอกาสใหม่และความเป็นไปได้สำหรับทุกคน
2.ประเมินศักยภาพการเงินและความเสี่ยงที่แม่นยำขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงวงเงินและสินเชื่อของผู้ใช้ ตลอดจนการให้สินเชื่อและบริการทางการเงินโดยคำนึงถึงความยั่งยืน
AI และ Machine Learning เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยผู้ให้บริการการเงินสามารถวิเคราะห์ข้อมูลการเงินของผู้ใช้อย่างละเอียด ครอบคลุมตั้งแต่รายได้ ค่าใช้จ่าย ประวัติการชำระหนี้ และพฤติกรรมทางการเงินอื่น ๆ เพื่อสร้างภาพรวมที่ชัดเจนและแม่นยำเกี่ยวกับศักยภาพและความเสี่ยงทางการเงินของแต่ละบุคคล ซึ่งรวมถึงการใช้ระบบการให้คะแนนเครดิต (Credit scoring) ที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลทางเลือก (Alternative data) เพิ่มโอกาสให้คนที่ไม่มีประวัติธุรกรรมการเงิน เช่น ผู้ที่ค้าขายและประกอบอาชีพอิสระ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการสนับสนุนทางการเงินอื่นได้ โดยล่าสุด แอสเซนด์ นาโน ได้ร่วมมือกับ MAKRO เพื่อให้บริการวงเงิน Pay Next บนแอปทรูมันนี่ แก่สมาชิก MAKRO ที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย โดยวิเคราะห์และพิจารณาให้วงเงินจากพฤติกรรมเติมเงินและใช้จ่าย ไปพร้อมกับการปรับเพิ่มและลดเพดานวงเงินตามพฤติกรรมการใช้วงเงินและชำระหนี้ รวมถึงนำเสนอบริการการเงินอื่นๆ ที่เหมาะสมเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้สินทรัพย์งอกเงย ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้กลุ่มคนเหล่านี้มีวินัยการเงินที่ดีขึ้น มีสถานะการเงินดีขึ้น และมีเครดิตที่ดีขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมอย่างแท้จริง
3.เพิ่มความปลอดภัยและเชื่อมั่นใช้บริการการเงิน จากประสิทธิภาพ AI ที่สามารถแยกแยะ วิเคราะห์ และจดจำพฤติกรรมผู้ใช้ ได้มีการนำ AI มาใช้เพื่อป้องกันและระงับไม่ให้เกิดภัยคุกคามหรือโจรกรรมการเงินได้ เช่น ทรูมันนี่ ที่ได้นำการป้องกันความเสี่ยงอัจฉริยะ (AI-based risk intelligence) มาใช้ในระบบที่เรียกว่า TrueMoney 3X Protection ที่สามารถสั่งให้ตรวจสอบ จับ และหยุดรายการธุรกรรมที่ต้องสงสัยที่ต่างไปจากพฤติกรรมใช้งานปกติแบบเรียลไทม์
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดนำ AI มาใช้ในด้านอื่น ๆ เช่น ให้บริการลูกค้าแบบอัตโนมัติ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพยากรณ์สุขภาพและสถานะการเงินอนาคต ไปจนถึงสร้าง AI ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ และเข้าใจผู้ใช้ แต่ยังเป็นแค่ในระดับแนวคิดปัจจุบัน แต่แค่จากที่กล่าวมา ก็เห็นได้แล้วว่า AI สามารถถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาบริการทางการเงินและเพิ่มความเสมอภาคเข้าถึงบริการทางการเงิน ตลอดจนลดกำแพงที่เป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ใช้งาน
อย่างไรก็ตาม การนำ AI มาใช้ ผู้ให้บริการการเงินและสถาบันการเงินจำเป็นต้องกำหนดกรอบการกำกับดูแลการใช้ AI โดยยึดหลักความยั่งยืนและโปร่งใส และคอยปรับโมเดลและชุดเรียนรู้ AI ให้เหมาะสม เพื่อส่งโซลูชันทางการเงินให้ตอบโจทย์ความต้องการหลากหลาย เท่าเทียม ไปพร้อมรับฟังความเห็นจากผู้ใช้งานอย่างจริงใจ และสื่อสารผู้ใช้งานอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานกำกับภาครัฐ สถาบันทางการเงิน และบริษัทเอกชน ต้องให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะกำหนดกรอบเพื่อพัฒนาการใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันทั้งในระดับอุตสาหกรรม สังคม เศรษฐกิจ และประเทศ
แหล่งข้อมูล