นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า “จากการที่กรมสรรพากร ได้ทำงานร่วมกับผู้แทนสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย, สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทั้งนักวิชาการ, ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งได้มีการส่งแบบสอบถามให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ในเรื่องการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น
จากผลการรับฟังความคิดเห็น และการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยยึดแนวทางการถือเอาผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง (Taxpayer – Centric)กรมสรรพากร จึงได้ดำเนินการ และจะดำเนินการนำเสนอเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนในบางประเด็นเพื่อรองรับกับรูปแบบธุรกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งกรมสรรพากร ได้ยึดแนวทาง ทำให้ชัด, ผ่อนปรน และมองอนาคต
สำหรับการผ่อนปรน กรมสรรพากรได้มีแนวทางในการดำเนินการผ่อนปรนหลาย ๆ ประการ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน และยังอยู่ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากรที่สามารถดำเนินการได้ โดยแบ่งออกเป็นในเรื่องของภาษีเงินได้, ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม
1) การคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมิน (กำไร) นั้นทางกรมสรรพากร จะดำเนินการเสนอให้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน แต่จะเข้าเงื่อนไขนี้เฉพาะผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เท่านั้น
2) ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้แต่อย่างใด
3) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
กรมสรรพากร จะเสนอพระราชกฤษฎีกา ให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรม ที่กระทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/1387231808035873/posts/4734990496593304/