จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นในหลากหลายด้านมาก ทั้งเป็นหนึ่งในสามจังหวัด ที่อยู่ใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC พื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศที่มีการส่งเสริมและพัฒนาในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม นอกจากนั้นในด้านของแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม ก็ยังมีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติต่างๆครบถ้วน ทั้งทะเล ภูเขา น้ำตก และเป็นแหล่งของก๊าซธรรมชาติสำคัญในอ่าวไทยด้วย จนกระทั่งล่าสุด จังหวัดระยอง มีอีกหนึ่งโปรไฟล์ใหม่ คือ เป็นที่ตั้งของ วิสาหกิจชุมชนบริหารจัดการขยะครบวงจรที่มีประสิทธิภาพในระดับประเทศ ซึ่งในวันนี้เข้มแข็งขึ้นได้ด้วยพลังเสริมดีๆ จาก YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม ที่คิดค้นโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคัล จำกัด (มหาชน) หรือ GC
ทำความรู้จักต้นกำเนิด วิสาหกิจชุมชนบริหารจัดการขยะครบวงจร แห่งแรกของ จ.ระยอง
วิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง คือ ชุมชนต้นแบบที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักในวันนี้ นภาพัฒน์ อู่เจริญ หรือ พี่เปิ้ล ประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด วิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล แห่งแรกของจังหวัดระยองว่า
“ชุมชนของเราเป็นชุมชนกึ่งเมือง ก่อนหน้านี้มีปริมาณขยะมูลฝอย ถึงประมาณ 8.2 ตันต่อวัน จนเมื่อ 2-3 ปีก่อน ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนมาประชุมร่วมกันและคิดว่าจะจัดการกับขยะในชุมชนอย่างไรได้บ้าง ทางเทศบาลจึงได้ส่งชาวบ้านให้ไปศึกษาดูงานหลายที่ กลับมาจึงได้ความรู้ในการแยกขยะติดตัวมาและตกผลึกออกมาเป็น โครงการธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ในที่สุด”
นภาพัฒน์ อู่เจริญ หรือ พี่เปิ้ล ประธานวิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า
“โดยคณะกรรมการมีกติกาว่า ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของโครงการ จะต้องนำขยะมาฝากตามที่กำหนด เพื่อรักษาความเป็นสมาชิกไว้ ส่วนเงินที่ได้จากการเอาขยะมาฝากไว้ ทุกคนมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เอาไว้ดูแลเรื่องของฌาปนกิจ และจัดสรรในเรื่องของสวัสดิการ ทุนการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล โดยขยะที่ได้ทำการคัดแยกจากครัวเรือนมาถึงพี่เปิ้ล มีประมาณ 2.5 ตันต่อเดือน นำเข้าโครงการฯ และจัดการจนทำให้ปริมาณขยะลดลงไป”
รัตนา สังข์ทอง หรือ ป้าหวาน แม่บ้านจิตอาสา ชุมชนวัดซากลูกหญ้า
ด้าน รัตนา สังข์ทอง หรือ ป้าหวาน แม่บ้านจิตอาสา ชุมชนวัดซากลูกหญ้า ได้เล่าให้ฟังถึงการทำงานในฐานะจิตอาสาว่า
“จากการประชุมในชุมชน เขาถามหาอาสาสมัครกันว่า ใครจะมาเป็นผู้ต่อยอดและช่วยทำหน้าที่ตรงนี้ โดยส่วนตัวเก็เห็นว่าถ้าเราช่วยทำได้ ชุมชนและชาวบ้านทุกคนก็ได้ประโยชน์ เลยตัดสินใจเข้ามาทำงานในศูนย์คักแยกขยะฯ พอได้ทำก็รู้สึกชอบ รู้สึกได้เลยว่านี่เป็นโอกาสที่ตัวเองได้ทำความดี ซึ่งโดยปกติเราอยากทำความดีอยู่แล้ว และการทำงานของเราก็ไม่ใช่แค่ช่วยให้ชาวบ้านมีความสุข แต่มีส่วนช่วยให้ชุมชนที่เราอยู่สะอาดขึ้นด้วย ก็ยิ่งมีความยินดีและเต็มใจอยากมาทำทุกวัน”
‘YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม’ by GC พลังเสริมช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เป็นต้นแบบชุมชนจัดการขยะครบวงจรระดับประเทศ
ต่อมา หลังจากที่ วิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า ดำเนินการมาได้ระยะเวลาหนึ่ง ทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ก็ได้สร้าง “YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม” ซึ่งเป็นระบบจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบวงจรขึ้นพอดี
โดยในแพลตฟอร์มนี้มีการแนะนำตั้งแต่การรวบรวมและคัดแยกขยะ การขนส่งขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบกระบวนการรีไซเคิล และกระบวนการแปรรูปจนได้กลับมาเป็นสินค้าอัพไซคลิง ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตอบสนองการดำเนินชีวิตของผู้คนและส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการรีไซเคิล รวมถึงสร้างระบบการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้ GC จึงเล็งเห็นว่าแพลตฟอร์มนี้น่าจะมีประโยชน์กับชุมชนแห่งนี้ และได้เข้ามาเป็นพลังเสริม ช่วยพัฒนาการบริหารจัดการขยะของชุมชนให้ครบวงจร
ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคัล จำกัด (มหาชน) หรือ GC
ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคัล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวถึงการสนับสนุนชุมชนนี้เพิ่มเติมว่า
“ชุมชนวัดชากลูกหญ้า มีการทำเรื่องขยะรีไซเคิลมานานแล้ว แต่เราเห็นว่า Youเทิร์น แพลตฟอร์ม สามารถมาช่วยเสริมได้ โดยเฉพาะเรื่องของข้อมูลต่างๆและองค์ความรู้ในการคัดแยกขยะ ว่าพลาสติกประเภทไหน เมื่อคัดแยกแล้ว สามารถเอากลับมาใช้ใหม่ได้ หรือนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เพิ่มมูลค่าได้ซึ่งชุมชนนี้มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว และทำกันจริงจังมากเรื่องของการรีไซเคิล GC เราขอมาเป็นพลังเล็กๆ ที่พอจะเข้ามาช่วยชุมชนนี้ให้เข้มแข็งขึ้นในหลากหลายด้าน ต่อไปนี้”
- ให้ความรู้ชุมชน เรื่องการบันทึกข้อมูลขยะขาเข้าจากแหล่งต่างๆ การจัดการด้านบัญชีการเงิน ข้อมูลขยะในคลัง
- เป็นสื่อกลางระหว่างชุมชน กับ Partners และ Supply chain ต่างๆ ทั้ง Hub เพื่อมารับขยะไปรีไซเคิลต่อไป ทำให้ชุมชนมีช่องทางที่จะขายพลาสติกใช้แล้วมากขึ้นและได้ราคาที่สูงขึ้น และที่ผ่านมา GC ยังได้ช่วยชุมชนจัดการด้านการขายพลาสติก (ประเภท PET และ HDPE) ให้กับโรงงาน ENVICCO ของ GC ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลระดับ Food Grade มาตรฐานยุโรปแห่งแรกของประเทศไทยด้วย
- ช่วยวางระบบจัดการขนส่ง (Logistics) อย่างมีประสิทธิภาพให้กับชุมชน ด้วยการวางแผนการขนส่งให้มีต้นทุนต่ำ เพื่อให้ชุมชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านนี้
- สร้างสถานที่และสนับสนุนเครื่องมือที่ใช้ในการแยกขยะครบวงจร วางแผนร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างอาคารสถานที่ โดยแบ่งให้เป็นสัดส่วน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการที่ชุมชนเอาขยะมาส่งมากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการจัดการขยะครบวงจร อย่าง เครื่องจักรที่ใช้ในการบีบอัดขยะ
ดร.ชญาน์ กล่าวต่อว่า “จากการทำงานร่วมกันกับชุมชนนี่เอง ที่ทำให้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้เกิดการจัดตั้ง ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า ซึ่งศูนย์นี้จะช่วยบริหารจัดการขยะของชุมชนได้ถึง 10 ตันต่อเดือน และเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรจากต้นทางถึงปลายทางแห่งแรกในจังหวัดระยอง”
ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า พร้อมต่อยอดความสำเร็จ ไปยัง “ชุมชนเคมีเดียวกัน” ทั่วประเทศ
หากให้วิเคราะห์จุดเด่นของ ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า คือ การเป็นศูนย์การเรียนรู้และบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร ที่ใช้การมีส่วนร่วมของคนที่อยู่ในชุมชนมาช่วยกันบริหารจัดการขยะ เมื่อสร้างรายได้แล้ว จึงนำรายได้ส่วนหนึ่งกลับมาสนับสนุนชุมชน เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชน นอกจากนั้น ดร.ชญาน์ ยังวิเคราะห์ต่อว่า
“ในส่วนของชุมชน ก็สามารถลดปัญหาขยะ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะขยะถูกจัดการอย่างถูกต้อง ในอีกด้านทรัพยากรก็จะถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติกน้อยลง เนื่องจากกระบวนการรีไซเคิลทำให้พลาสติกได้รับการนำไปใช้อีกครั้งอย่างมีคุณค่า”
“และข้อดีมากๆ ของการเป็นศูนย์การเรียนรู้อีกข้อหนึ่ง คือ จะทำให้คนที่ได้มาเรียนรู้ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับชุมชนของตัวเอง ถือเป็นการขยายผลการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนที่แท้จริง ซึ่งตรงกับความต้องการของชุมชน”
นอกจากนั้น นภาพัฒน์ หรือ พี่เปิ้ล ประธานวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า
“พี่อยากให้ศูนย์นี้เป็นศูนย์ที่ให้ชาวบ้านเข้ามาเรียนรู้ เข้ามาเห็นว่า วันนี้ชุมชนกำลังทำอะไรอยู่ เมื่อเห็นแล้วก็อยากจะให้ทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมมือกับสิ่งที่ชุมชนได้สร้างขึ้นมา ชุมชนวัดชากลูกหญ้า อยากจะขอฝากถึงพี่น้องชาวระยอง ใครที่มีเคมีตรงกับเรา อยากเดินทางร่วมโครงการนี้ไปกับเรา ท่านสามารถเข้ามาร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ มาช่วยกันสานต่อโครงการนี้ให้ยั่งยืนและแข็งแรง เพื่อสิ่งแวดล้อมของชาวระยอง”
“เราก็จะพยายามสร้างศูนย์ฯ แห่งนี้ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชนโดยรอบ นักเรียน ตลอดจนเด็กรุ่นใหม่ๆ เพราะว่าอย่างน้อยสิ่งที่ทางผู้ประกอบการ GC, ENVICCO และหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาวางรากฐานและร่วมมือสนับสนุนนี้ ก็ทำให้เรามีพลังที่จะทำให้โครงการนี้ยั่งยืนตลอดไป”
สุดท้าย GC ฝากมาบอกว่าหากชุมชนใดสนใจอยากเปลี่ยนแปลงชุมชนของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยการบริหารจัดการขยะจาก YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม สามารถแจ้งความประสงค์มาได้ที่ : youturn@pttgcgroup.com เราพร้อมที่จะเป็นพลังเสริมให้ทุกคน
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/04/26/recycle-waste-management-rayong-you-turn-platform-gc/