ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เชื่อว่านอกจากการประกาศเป้าหมายว่าจะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 แล้ว ในแง่ของวงการแพทย์ สาธารณสุข ยังตั้งเป้าว่าจะพัฒนาไปสู่การเป็น Thailand Medical Hub ให้ได้ เพราะ Medical Hub หรือ การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เป็นหนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาล ที่เตรียมผลักดันให้เกิดขึ้น เนื่องจากการแพทย์และงานบริการของไทย ได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยสามารถรับมือได้ดี ก็ยิ่งทำให้สปอตไลต์ฉายส่องมาที่วงการแพทย์ของไทย
ทว่า จนถึงวันนี้แม้ว่าทุกฝ่ายจะพยายามเดินสู่เส้นชัยเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า Medical Hub ยังไม่ได้เกิดขึ้นแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าอ้างอิงตามคำกล่าวของ รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงหลักการการพัฒนาให้เกิด Medical Hub ในประเทศไทย แบบจับต้องได้จริงว่า
“Medical Hub จำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 3 เรื่อง คือ การศึกษา หรือ Academic Hub การรักษา หรือ Service Hub และ การวิจัย หรือ Research Hub ซึ่งเมื่อพิจารณา จะพบว่า 3 องค์ประกอบนี้ล้วนอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนแพทย์ และการดำเนินการให้เกิด Medical Hub อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ก็มีแนวโน้มว่าจะต้องเกิดในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ที่มีกฎหมายพิเศษบังคับใช้ และกำลังจะเติบโตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระดับประเทศ”
“โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราได้เดินหน้า โครงการก่อตั้ง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์พัทยา อย่างเต็มที่ในพื้นที่ EEC ด้วยความมุ่งหวังว่า ที่นี่จะเป็นต้นแบบ Medical Hub ที่ทันสมัยเต็มรูปแบบแห่งแรกๆ ของไทย”
วางระบบ Digital Heath ก้าวย่างที่ควรเดินไป เพื่อขยับไทยให้เข้าใกล้ Medical Hub ที่สุด
จากประสบการณ์ทั้งหมดของ รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย ไปจนถึงผู้บริหารของ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้บุคลากรท่านนี้มีมุมมองดีๆเสมอ เมื่อถามถึงแนวทางการพัฒนาวงการแพทย์ไทย โดยเฉพาะการพัฒนาให้ประเทศไทยเดินไปสู่ความเป็น Medical Hub ในเร็ววัน
“จากการได้ไปศึกษาดูงานการแพทย์ที่ประเทศจีน และได้เห็นว่าการทำงานในบางเรื่อง เขาทำได้อย่างรวดเร็วมาก คนไข้สามารถทำประวัติมาจากบ้านได้ เมื่อมาถึงที่โรงพยาบาล ก็สามารถแสดงแค่ข้อความที่ทางโรงพยาบาลส่งไปยืนยันนัดมาตรวจ รักษาให้กับเจ้าหน้าที่เท่านั้น จากนั้น เจ้าหน้าที่ก็สามารถส่งคนไข้ไปตามแผนกต่างๆ ไม่ต้องมารอคิวกันตั้งแต่เช้ามืด”
“ส่วนขั้นตอนของการจ่ายยา ที่จีนก็จะใช้หุ่นยนต์ในการจัดยา ระบบที่กล่าวมาทั้งหมด มีความรวดเร็วมาก และระบบก็ตอบสนองในเรื่องมาตรฐานของการรักษา เพราะข้อมูลทุกเรื่องจะถูกรายงานไปเพื่อประเมินมาตรฐานในการรักษา ซึ่ง โรงพยาบาล สามารถรู้ได้ว่า มีผู้ป่วยที่มีอาการน่าเป็นห่วงกี่คน ต้องจัดการกับกลุ่มผู้ป่วยนี้โดยเฉพาะอย่างไร ซึ่งระบบที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ยังไม่เกิดในเมืองไทย”
อย่างไรก็ดี หากต้องการให้เกิด Medical Hub ที่ทันสมัยในประเทศไทย รศ.นพ.กัมมาล ย้ำว่า
“ต้องปฏิวัติระบบที่ 1 ทำให้เกิดระบบ Digital Health ซึ่งเป็นฐานข้อมูลของคนไข้ทั้งประเทศ ให้ได้ เพราะในตอนนี้ต้องยอมรับว่า ข้อมูลของคนไข้ แยกไปตามโรงพยาบาล ซึ่งใช้ซอฟแวร์ในการเก็บข้อมูลคนละซอฟแวร์กัน จึงไม่สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ว่า ต้องวางแปนการรักษาพยาลผู้ป่วยอย่างไร เราได้แต่เก็บข้อมูลทีละครั้ง เพราะฉะนั้น การปรับปรุงแก้ไขในเรื่องนี้ ด้วยแพลตฟอร์ม Digital Health ต้องทำให้ฐานข้อมูลทั้งหมดนี้อยู่ในที่เดียว เปิดแล้วแสดงขึ้นมาครบทั้งหมดภายในครั้งเดียว เพื่อนำไปวิเคราะห์และสังเคราะห์”
“ยกตัวอย่าง ระบบ Digital Health ที่ผมได้ไปเห็นที่ประเทศจีน อย่างในกรณีที่เป็นคนไข้โรคเบาหวาน มีผู้ที่เสี่ยงเรื่องน้ำตาล และควบคุมไม่ได้ สามารถระบุได้ชัดเจน ในจำนวน 200 คน ที่เคสน้ำตาลเกิน ควบคุมไม่ได้กี่คน ในที่นี่สามารถระบุตัวตนได้ แล้วโฟกัสไปในการรักษาด้วยการเรียกตัวคนไข้เหล่านี้ให้มาเข้าสู่กระบวนการลดน้ำตาล”
“ระบบสาธารณสุขไทย จึงต้องพัฒนาให้มี Database ของผู้ป่วยเอาไว้วางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนั้น การสร้างระบบ Data Health ให้เกิดขึ้นจริง ยังครอบคลุมไปถึง การที่ผู้ป่วยมีแอปพลิเคชันอยู่ในสมาร์ทโฟน แต่อุปสรรคที่เราเจออยู่ตอนนี้ คือ ปัญหา Gap หรือช่องว่าง ของประชากร ส่วนหนึ่ง ที่มีอายุมาก และไม่สามารถใช้สมาร์ทโฟนได้ ตรงนี้เราต้องอาศัยศักยภาพของ อสส. และ อสม. แทน”
“การพัฒนาเรื่องต่อมาที่อยู่ในนิยามของการวางรากฐาน Digital Health นั่นคือ การวางระบบที่เรียกว่า Telecare หรือ Telemedicine ที่หลายคนอาจเคยได้ยินกัน เป็นการวางระบบสื่อสารระหว่างทางโรงพยาบาลและคนไข้ที่อยู่ที่บ้าน โดยระบบ Telecare ในโครงการนำร่องที่ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์พัทยา ทำ จะเป็นระบบ Telecare ที่สามารถเชื่อมกับเครื่องมือตรวจได้ด้วย เมื่อคนไข้มาที่โรงพยาบาล ก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งเล่าให้หมอฟังอีกแล้ว”
“โดยระบบ Patient Application นี้ เราก็ได้ต้นแบบมาจากประเทศจีนเช่นกัน ซึ่งที่นั่นบุคลากรทางการแพทย์สามารถสอบถามทางแพลตฟอร์ม Digital เพื่อระบุความเสี่ยงของโรคได้เลย ไม่ต้องพึ่งพาบุคลากรอย่าง อสส. อสม. เหมือนบ้านเรา ดังนั้น ถ้าต่อไปถ้าระบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ที่เมืองไทย อย่างน้อยในสังคมเมืองย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เพราะในสังคมเมืองยังไม่มี อสส. หรือ อสม. เหมือนสังคมต่างจังหวัด”
หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ จิ๊กซอว์เติมเต็ม Digital Hospital ให้สมบูรณ์
ระบบต่อมา ที่ รศ.นพ.กัมมาล ย้ำว่าจะมาพลิกโฉมให้วงการแพทย์ไทยก้าวสู่ความเป็นดิจิทัล คือ หุ่นยนต์ AGV หรือ AGV Robot ซึ่งเรานำไปปรับใช้ในโรงพยาบาล เพื่อลดความผิดพลาด หรือ Error ส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานการรักษาพยาบาลมากขึ้น
โดยตัวอย่างที่ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้หยิบยกมากล่าวอย่างภาคภูมิใจ คือ ข่าวดีล่าสุดที่ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและจัดจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงาน ได้ผนึกกำลังกับ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีไอเอ็ม และพันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมกันพัฒนา หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์ (Autonomous Mobile Robot for Hospital Care Services) เพื่อแบ่งเบาภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ในการขนส่งอาหาร อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ยา และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19
และด้วยประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ตัวนี้ ก็เข้าตากรรมการพิจารณา รางวัลความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม Innovation Best Award ประจำปี 2020 จากงานมหกรรมนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์แห่งสหราชอาณาจักร (IBIX) และคว้ารางวัลยิ่งใหญ่นี้มาครองในที่สุด
จากนั้น รศ.นพ.กัมมาล ได้อธิบายต่อ เพื่อต่อยอดให้เห็นถึงประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ ในฐานะจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่จะมาเติมเต็มให้วงการแพทย์ไทย ขยับเข้าใกล้การมี Digital Hospital ในเร็ววัน
“โดยภารกิจแรกที่เราจะสร้าง AGV ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่แทนบุคลากรทางการแพทย์ คือ หุ่นยนต์ AGV เพื่อขนส่งอาหารแทนคน ซึ่งที่ผ่านมา เราพบว่า พนักงานเข็นอาหาร ต้องใช้แรงในการเข็นอาหารเพื่อแจกจ่าย และพบปัญหาสุขภาพเรื่องกล้ามเนื้อจำนวนมาก โดยในเบื้องต้น การใช้หุ่นยนต์ AGV มาช่วยจะเป็นไปในลักษณะของการเสริมแรง แบบยังต้องอาศัยคนมาช่วยทำหน้าที่นี้อยู่”
“ทั้งนี้ ในบริบทของ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่จะเกิดขึ้นที่พัทยา เราวางโมเดลการใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ ในรูปแบบของ AGV System จากเดิมที่ AGV Robot ถูกสั่งโดยแอปพลิเคชัน เราจะเปลี่ยนให้หุ่นยนต์ AGV นี้สั่งการณ์ด้วย System โดยได้วางที่ชาร์จไฟไว้ทั้งหมด 4 จุด และกำหนดให้มีหุ่นยนต์ทำงานในลักษณะของการ “เสริม” การทำงานของพนักงานและบุคลากรทางการแพทย์ในเบื้องต้นไปก่อน”
“นอกจากนั้น ในส่วนของขยะ หรือ เสื้อผ้าที่ใช้แล้ว ก็จะถูกส่งผ่านหุ่นยนต์ เพื่อลดการสัมผัส ลดความเสี่ยงติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ พนักงาน ในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระบบที่วางไว้ คือ AGV Robot จะต้องเข้าลิฟต์ได้ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จะใช้เวลาสร้างทั้งหมด 3 ปี และเป็น Digital Hospital โดยสมบูรณ์”
“ในตอนนี้ เป็นช่วงปีแรกที่เริ่มสร้างและออกแบบโรงพยาบาลแห่งนี้ โดยเราทำงานร่วมกับภาคเอกชน ให้มาช่วยออกแบบและวางระบบ Digital Platform ทั้งหมด โดยในตอนนี้เราร่วมมือกับ ทางคณะทำงาน EEC เพื่อออกแบบระบบ ที่เรียกว่า รพสต.อัจฉริยะ สามารถส่งข้อมูลทั้งหมดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้”
“ส่วนเรื่องที่สอง ที่ลงมือทำไปแล้ว แต่อยู่ในช่วงขอทุนวิจัย คือ เรื่อง การวินิจฉัยโควิดจากลมหายใจ เพื่อเป็นทางเลือกในการตรวจคัดกรองแบบที่ไม่ต้องใช้เงินมากในการตรวจ แม้ว่าความแม่นยำจะไม่มากเท่าการตรวจคัดกรองแบบที่ทำกันอยู่ในตอนนี้ แต่ด้วยวิธีนี้ก็มีประสิทธิภาพมากพอที่จะใช้กับการคัดกรองคนหมู่มากได้”
“เรื่องที่สาม ที่กำลังทำ คือ การพยายามวางระบบ AGV Robot ซึ่งเป็นเฟสสองของการทำ โดยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เราศึกษาและวางระบบขึ้นมาตลอด พอโรงพยาบาลเปิด ก็ใช้งานได้เลย”
“อย่างไรก็ดี ในอนาคตหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ จะต้องพัฒนาจากหุ่นยนต์ที่เดินบนแถบแม่เหล็ก เป็นหุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ได้โดยอิสระ ไม่จำเป็นต้องใช้แถบแม่เหล็ก ด้วยระบบ Laser Guide นำทาง และคาดว่าในอนาคต จะพัฒนาไปถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยในระดับสากล ที่หุ่นยนต์ ควบคุมโดยใช้ระบบ Natural Navigation สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้เองโดยอัตโนมัติ”
เมื่อเทคโนโลยีพร้อมแล้ว คนก็ต้องพร้อมด้วย
แน่นอนว่า เมื่อเทคโนโลยีพร้อมแล้ว บุคลากร หรือคนที่จะทำงานกับเทคโนโลยีใหม่นี้ก็ต้องพร้อมด้วย รศ.นพ.กัมมาล ตระหนักในความจริงนี้อยู่แล้ว จึงได้เตรียมการในเรื่องการผลิตและพัฒนาบุคลากร ที่จะมาทำงานใน Digital Hospital ไว้แล้ว
“เราได้เตรียมพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาโดยเฉพาะ เพราะรู้ดีว่าในวงการแพทย์และสาธารณสุข คนทำงานยังไม่คุ้นเคยที่จะใช้เทคโนโลยีหรือดิจิทัล 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเรายังไม่คุ้นเคย ไม่ชำนาญ โดยหลักสูตรที่ทำขึ้น คือ Hospital Hospitality Management ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ช่วยพัฒนาบุคลากรมาทำงานกับระบบดิจิทัล หุ่นยนต์ ซึ่งเรามองว่า ถ้าหลักสูตรนี้สามารถผลิตบุคลากรคุณภาพมาตอบสนองการทำงานในบริบทของ Digital Hospital ได้ ก็จะเป็นหลักสูตรต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผล เป็นต้นแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์หรือมหาวิทยาลัยต่างๆได้ทั่วประเทศ”
“และไม่ใช่แค่บุคลากรเท่านั้นที่ไม่คุ้นเคย แต่งานวิจัยในต่างประเทศ ก็ฟันธงมาด้วยว่า ผู้ป่วย ก็ยังไม่คุ้นเคยกับระบบดิจิทัลหรือโรบอต ดังนั้น อย่างไรก็ต้องมีคนมาให้บริการร่วมด้วย”
“นอกจากนั้น เราพยายาม วางอีกระบบหนึ่ง นั่นคือ Multifunction เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของหุ่นยนต์ เช่น หุ่นยนต์ตัวนี้ เมื่อเดินไป ก็ถ่ายคลิปวิดีโอ ทำ Face Recognition ได้ เป็นระบบ รปภ. เสร็จอยู่ในตัว นี่จะเป็นโปรเจ็กต์ ต่อไปที่เราจะพัฒนาร่วมกับทางปัญญาภิวัฒน์ และ บริษัท ทีเคเคคอร์ปอเรชั่น จำกัด”
“และต่อไปโมเดลของการผลิตกำลังคนหรือบุคลากรจะต้องเปลี่ยนไป อย่างในตอนนี้บทบาทของมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งความรู้ในศาสตร์ต่างๆ แต่องค์กรที่จะมีส่วนในการบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการแพทย์ในอนาคตต้องเป็นภาคเอกชน”
“ดังนั้น ในฐานะคณาจารย์และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยก็อยากสนับสนุนให้บัณฑิตของเราได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อที่จะนำความรู้ ความเชี่ยวชาญที่มี มาต่อยอดสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติร่วมกัน”
รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา แนะต้องร่วมมือเพื่อต่อยอดวิกฤต ให้เป็นโอกาสพัฒนาการแพทย์ไทย
“วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นนี้ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในหลายด้านมาก อย่างแรก มันมาทำให้คนไทยต้องคิด จากแต่เดิม เราไม่ค่อยคิด นำเข้าทุกอย่าง พอเกิดวิกฤตโควิด-19 อะไรที่ไม่เคยทำ ก็ทำได้ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย” นี่คือ ความจริงที่ รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา กล่าว เมื่อถามว่า วิกฤตโควิด-19 ให้บทเรียนอะไรกับชาวไทยบ้าง จากนั้นก็ยกตัวอย่างความร่วมมือดีๆที่เกิดขึ้นในวงการแพทย์ไทย ที่น่าชื่นชมและยกย่อง
“อย่างเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องใช้ Negative Pressure Room เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย ก็มีหลายมหาวิทยาลัย หลายองค์กรธุรกิจ ช่วยกันทำ เพื่อมอบให้กับทางโรงพยาบาล”
“วิกฤตโควิด-19 ยังทำให้ ทุกมหาวิทยาลัย ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน มาคิดในเรื่องที่ไม่เคยคิด จุดนี้เป็นเรื่องดี ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม จากเดิมที่เราเป็นแค่ ผู้บริโภค ซื้ออย่างเดียว ตอนนี้ทุกคนเริ่มผันตัวเองมาเป็นนักคิด นักแก้ปัญหา แล้ว”
“ส่วนทางด้านการแพทย์ การเกิดวิกฤตโควิด-19 แสดงให้เห็นถึง Efficiency ของระบบสาธารณสุขไทย ว่าดี มีประสิทธิภาพมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วทางตะวันตก โดยเฉพาะ ระบบที่มี อสส. อสม. หรือระบบที่มุ่งเน้นทั้งการป้องกันโรค ทั้งการรักษา และการส่งเสริมการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง”
“ด้วยข้อดีที่เกิดขึ้นนี้ โดยส่วนตัว ผมมองว่า ถ้าวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ประเทศไทย สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีแล้ว เราควรเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติที่ต้องการสถานที่ในการพักผ่อน โดยชาวต่างชาติที่จะเข้าประเทศมานี้ต้องผ่านระบบ State quarantine อย่างเข้มงวดทุกคนเท่านั้น”
“นอกจากนั้น ผมมองว่า อุตสาหกรรมการแพทย์ไทยจะโตได้ ต้องสร้างต้นแบบ Medical Hub ให้เกิดขึ้นและใช้งานจริงในพื้นที่ EEC อย่างเป็นรูปธรรมก่อน โดยพื้นที่นี้จะต้องเปิดรับการลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ จากต่างประเทศ เข้ามาให้คำแนะนำ เข้ามาลงทุน ซึ่งก็สามารถทำได้ เพราะมีกฎหมาย EEC เอื้อไว้”
“ส่วนความกังวลที่หลายฝ่ายกังวล ผมอยากให้ละวางไปก่อน ผมอยากให้มองว่า เราต้องการการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือการ Transfer Technology จากประเทศหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ โดยเราต้องหยิบให้เป็น ต้องพิจารณาว่าทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ ดี มีประสิทธิภาพหรือไม่ ถ้ายัง ก็ต้องอาศัยของชาติอื่น ของผู้อื่น และเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วย” รศ.นพ.ฝากข้อคิดไว้ในที่สุด
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/01/31/dr-kammarn-build-eec-medical-hub-mission/