ETDA เปิด ‘คู่มือพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนสำหรับกลุ่มเปราะบาง’ เร่งสร้างมาตรฐานทางดิจิทัล ที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมออนไลน์ของทุกคน
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จับมือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ภายใต้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยผลการศึกษาการจัดทำมาตรฐานการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับกลุ่มเปราะบาง ประจำปี 2567 โชว์ ‘คู่มือการออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน’ สำหรับกลุ่มเปราะบาง
พร้อมเดินหน้าสร้างมาตรฐานการพัฒนาแอปพลิเคชันที่เน้นการเข้าถึงและใช้งานได้สำหรับทุกคน ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างสังคมดิจิทัลที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้ระบบนิเวศทางดิจิทัล (Digital Ecosystem) ที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย เร่งเครื่องขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของไทยให้ทัดเทียมสากล
นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่มั่นคงปลอดภัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของทุกภาคส่วน สู่การเร่งเครื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ถือเป็นหนึ่งภารกิจสำคัญที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยหน่วยงานในสังกัด อย่าง ETDA รวมถึง สดช. เอง ต่างก็เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง
“เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันปัจจุบันของคนไทย แต่ก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโลกดิจิทัลของกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนพิการ ที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนเปราะบางอยู่ค่อนข้างสูงในสังคมไทย นั้นแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโลกดิจิทัลที่คนไทยกลุ่มนี้กำลังเผชิญ”
ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานการพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนสำหรับกลุ่มเปราะบาง ที่ ETDA และ เนคเทค เร่งขับเคลื่อนจนเกิดเป็น‘คู่มือการออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน’ ที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเปราะบาง จึงเป็นอีกกลไกสำคัญที่จะเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลของสังคมไทยและส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง สอดคล้องกับนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีและส่งเสริมให้คนไทยทุกกลุ่ม เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน
นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ‘คู่มือการออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน’ สำหรับกลุ่มเปราะบาง ที่ ETDA และเนคเทค ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นมานี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของไทยในการสร้างมาตรฐานของการออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชันที่มุ่งเน้นการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมของกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ ทั้งผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ผู้พิการทางการมองเห็น และผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล แต่กลับต้องมาเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้งานแอปพลิเคชันและบริการดิจิทัลต่างๆ โดยคู่มือฉบับนี้ไม่เพียงแต่เป็นแนวทางหรือไกด์ไลน์ที่จะช่วยให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ต่างๆ สามารถออกแบบฟังก์ชันให้ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มเปราะบางได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมระบบนิเวศดิจิทัลของไทยให้เข้มแข็ง ครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกๆ มิติ ให้คนไทยใช้งานได้อย่างมั่นใจขึ้นด้วย
คู่มือฯ นี้ ถูกพัฒนาเนื้อหาขึ้นมาโดยยึดแนวปฏิบัติตามคู่มือมาตรฐานการเข้าถึงเนื้อหาบนเว็บไซต์ที่ถูกออกแบบและพัฒนาเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานและเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน (Web Content Accessibility Guidelines: WCAG) มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่
1.การใช้งานสำหรับทุกคน-ข้อมูลและส่วนติดต่อผู้ใช้ต้องนำเสนอในรูปแบบที่มองเห็นหรือได้ยินได้ชัดเจน เช่น การใช้สีพื้นหลังและตัวหนังสือที่คมชัด มีคำบรรยายสำหรับภาพเคลื่อนไหว รองรับหน้าจอขนาดเล็ก และแสดงข้อความทางเลือก
2.การใช้งานง่าย-หน้าจอและฟังก์ชันต่าง ๆ ต้องใช้งานสะดวก รองรับคีย์บอร์ด ขนาดปุ่มสัมผัสเหมาะสม ใช้งานได้ด้วยคำสั่งทางกายภาพหรือท่าทางนิ้วมือ และช่วยในการนำทางและค้นหาเนื้อหาอย่างมีประสิทธิภาพ
3.ความเข้าใจง่าย-ข้อมูลต้องอ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่สับสน พร้อมแจ้งเตือนเมื่อเกิดข้อผิดพลาด และช่วยหลีกเลี่ยงการใช้งานที่ผิดพลาด
4.ความแข็งแรงและความยืดหยุ่น-เนื้อหาต้องเข้าใจง่าย น่าเชื่อถือ รองรับมาตรฐานและทันสมัย รองรับการกรอกข้อมูลหลายรูปแบบ รวมถึงการใช้งานสำหรับกลุ่มเฉพาะ เป็นต้น
นอกจากการจัดทำคู่มือฉบับนี้แล้ว ETDA และ เนคเทค ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทาง และผลักดันให้คู่มือฉบับนี้เดินทางไปสู่การจัดทำมาตรฐานการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันในระดับประเทศที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
“การสร้างมาตรฐานที่ช่วยให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม ไม่เพียงช่วยลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางดิจิทัลในสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงข้อมูลและการบริการดิจิทัลที่จำเป็นอย่างเท่าเทียม สู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศ ผลักดันให้ไทยก้าวสู่เป้าหมาย ‘30:30’ คือการเพิ่มสัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็น 30% ของ GDP และยกระดับความสามารถในการแข่งขันดิจิทัลให้ติดอันดับ 30 ของโลกภายในปี 2570 ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดซึ่งการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งและการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชนทุกกลุ่ม…อันจะส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมั่นคง ปลอดภัย เท่าเทียม และยั่งยืน และยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายมีธรรม กล่าวทิ้งท้าย
แหล่งข้อมูล