หลังจากมีช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นจากการลงจอดผ่านชั้นบรรยากาศอันเบาบางของดาวอังคาร หุ่นยนต์ เพอร์เซเวียแรนซ์ หรือ ‘เพอร์ซี่’ พร้อมเริ่มภารกิจค้นหาสัญญาณสิ่งมีชีวิตโบราณในที่แห่งนี้แล้ว
นี่เป็นการแตะล้อลงจอดของหุ่นยนต์สำรวจตัวใหม่บนดาวอังคาร เมื่อเวลาราว 16:00 น. ของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่น (หรือราว 04:00 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ตามเวลาในประเทศไทย) หุ่นยนต์ตระเวนสำรวจขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการสร้างกว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.1 หมื่นล้านบาท) ของนาซา อย่าง เพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) ได้ลงจอดอย่างปลอดภัยบนดาวเคราะห์สีแดงหลังจากผ่านการเดินทางมาเป็นระยะทางเกือบ 500 ล้านกิโลเมตรจากบนพื้นโลก
หุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์เริ่มออกเดินทางเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปี 2020 เป็นเวลากว่า 7 เดือนที่มันล่องในอวกาศผ่านยานอากาศที่ห่อหุ้มมันไว้ราวราวกับแมลงที่มีเปลือกแข็งห่อหุ้มมันไว้
“ยืนยันการลงจอด เพอร์เซเวียแรนซ์อยู่บนพื้นผิวดาวอังคารได้อย่างปลอดภัย” Swati Mohan วิศวกรในทีมพัฒนาหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ กล่าว
หุ่นยนต์ที่มีน้ำหนัก 1 ตันและใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการขับเคลื่อนอย่างเพอร์เซเวียแรนซ์เคลื่อนตัวลงสู่ชั้นบรรยากาศบางๆ ของดาวอังคาร ลงสู่แอ่งหลุมอุกกาบาตเยเซโร (Jezero Crater) ซึ่งคาดว่าครั้งหนึ่งมันเป็นทะเลสาบที่มีมาอย่างยาวนานในดาวอังคารแห่งนี้
หุ่นยนต์สำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ถ่ายภาพแรกบนดาวอังคารหลังจากแตะล้อลงจอดในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2021
ภาพถ่ายจาก NASA TV
เพอร์เซเวียแรนซ์ได้รับการยืนยันว่าลงจอดอย่างปลอดภัยหลังจากได้ถ่ายทอดสัญญาณมายังโลกผ่านยานอวกาศ MRO (Mars Reconnaissance Orbiter) และส่งรูปภาพพื้นผิวบนดาวอังคารรูปแรกกลับมา
ภารกิจอันทะเยอทะยานของหุ่นยนต์สำรวจนี้คือการหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตโบราณบนดาวเคราะห์สีแดงแห่งนี้ โดยมันจะเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกจากหุ่นยนต์ 5 ตัวของนาซาที่มีภารกิจสำรวจร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารที่เคยอยู่อาศัยและจบชีวิตไปเมื่อราวหนึ่งพันล้านปีแรกของมัน อันเป็นช่วงเวลาที่ดาวดวงนี้อบอุ่นและชุ่มชื้นกว่าภาพบรรยากาศของฝุ่นและความแห้งแล้งดังที่เราเห็นในทุกวันนี้
เพื่อที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบร่องรอยว่าดาวอังคารอาจเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต เพอร์เซเวียแรนซ์จะเก็บตัวอย่างหินจากที่นั่นส่งกลับมายังโลกเพื่อตรวจสอบถึงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว คำตอบที่ว่าดาวดวงนี้เคยมีสิ่งมีชีวิตปรากฎอยู่หรือไม่นั้นอาจล็อกติดอยู่บนของฝากจากดาวอังคารเหล่านี้ หรือถ้าทีมนักวิทยาศาสตร์มีโชค หุ่นยนต์นี้อาจจะได้เจอหลักฐานที่ปรากฏอยู่บนแอ่งหลุมอุกกาบาตเยเซโร ซึ่งเคยเป็นแหล่งน้ำของพื้นดินแห่งนี้เลยก็เป็นได้
“การเดินทางของเราจะไปตามทางร่องรอยน้ำเพื่อที่จะดูว่าดวงดาวแห่งนี้สามารถอาศัยอยู่ได้หรือไม่ รวมไปถึงการค้นหาหลักฐานทางเคมีอันซับซ้อน” Thomas Zurbuchen รองผู้อำนวยการของนาซา ได้กล่าวไว้เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว และเสริมว่า “และขณะนี้ เราอยู่ในจุดที่ก้าวหน้าของระยะเวลาการสำรวจครั้งใหม่ทั้งหมด”
(เชิญชมวิดีโอถ่ายทอดสดการลงจอดของหุ่นยนต์สำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ ได้ที่นี่)
ขณะนี้ที่แอ่งหลุมอุกกาบาตเยเซโร หุ่นยนต์เริ่มทำงานอย่างกระตือรือร้น โดยภารกิจในช่วงแรก เพอร์เซเวียแรนซ์จะอ่านประวัติธรณี (Geologic history) ของเยเซโรและมองหาร่องรอยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่เคยอยู่อาศัย และจะทำการเลือกตัวอย่างหินเก็บเอาไว้ เพื่อที่หุ่นยนต์ตัวใหม่ในอนาคตจะเก็บและส่งกลับมายังโลกในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของทศวรรษหน้า
หลังจากนักวิทยาศาสตร์ทำการคัดเลือกอย่างเข้มข้นว่าจะลงจอด ณ จุดใดบนดาวอังคาร พวกเขาก็ได้คัดเลือกเยเซโรจากพื้นที่ 4 แห่งที่เข้าสู่การคัดเลือกรอบสุดท้ายเนื่องจากมันมีหลักฐานที่ขัดเจนว่าครั้งหนึ่งพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยน้ำ และในบริเวณทิศตะวันตกของแอ่งหลุมอุกกาบาต มีสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยตะกอนซึ่งอาจเก็บรักษาวัสดุชีวภาพ (biological material) เอาไว้
อย่างไรก็ตาม พื้นที่เป็นผาสูงและกับดักที่เกิดจากทรายของเยเซโร ทำให้ดูเป็นที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับการส่งหุ่นยนต์สำรวจ และอาจทำให้ภารกิจของเพอร์เซเวียแรนซ์ไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่มีการอัปเดตเทคโนโลยีการลงจอดแบบใหม่ๆ ที่เคยใช้ก่อนหน้านี้
ภาพกราฟฟิกจำลองการทำงานของหุ่นยนต์สำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ บนดาวอังคาร ขอบคุณภาพถ่ายจาก https://theconversation.com/perseverance-mars-rover-how-to-prove-whether-theres-life-on-the-red-planet-154982
“ในประวัติศาสตร์การสำรวจดาวอังคาร นักวิทยาศาสตร์ได้ประนีประนอมกันเพื่อตกลงกันว่าจะให้หุ่นยนต์สำรวจลงจอดที่ไหน ซึ่งถามนั้นสามารถตอบได้การเทคโนโลยีการลงจอดที่เรามีอยู่ในมือ” Robin Fergason จาก กรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey : USGS) ซึ่งทีมของเขาช่วยนำทางเพอร์เซเวียแรนซ์ไปยังเยเซโร กล่าว
ในอีก 2-3 วันดาวอังคารข้างหน้า เพอร์เซเวียแรนซ์จะกางเสาอากาศและพยายามค้นหาตำแหน่งโลก เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการชาร์จแบตเตอรี่และอุปกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่ยังทำงานได้ และเมื่อทีมงานมีความพึงพอใจว่าหุ่นยนต์สำรวจอยู่บนพื้นที่ที่มีความเสถียรแล้ว จะใช้งานเสาส่งสัญญาณระยะไกล (Remote Sensing Mast) ซึ่งมีกล้องมากมายติดอยู่และจะทำการถ่ายภาพพาโนรามา 360 องศา และหุ่นยนต์สำรวจนี้จะทำการเปลี่ยนผ่านระบบจากซอฟต์แวร์ลงจอดมาเป็นซอฟต์แวร์สำรวจพื้นผิวอย่างช้าๆ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 1 สัปดาห์
หลังจากนั้น เพอร์เซเวียแรนซ์จะเริ่มภารกิจเพื่อพยายามหาคำตอบที่มนุษยชาติมีมาอย่างยาวนานว่า: เราอยู่บนอวกาศนี้แต่เพียงผู้เดียวหรือ ซึ่งเป็นเวลามานานนับศตวรรษที่เราเชื่อว่า คำตอบของคำถามนี้อาจรอเราอยู่ที่ดาวอังคาร ดาวเคราะห์ที่ทำให้เราเชื่อมาตลอดว่า อาจมีสัญญาณชีวิตอยู่ที่นั่น ไม่ว่าเป็นสัตว์เซลล์เดียวหรือสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญามากมายก็ตาม
แหล่งข้อมูล
https://ngthai.com/science/33964/perseverancelandedinmars/