- การลงทุนในระบบคลาวด์กลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ในการดำเนินงานยุคปัจจุบัน
- การรันเวิร์กโหลดงานด้าน AI ขนาดใหญ่โดยที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ที่เหมาะสมอาจนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง
- ยุคของโซลูชันคลาวด์แบบ one-size-fits-all กำลังหายไป ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เทคโนโลยี AI และเวิร์คโหลดงานด้าน High-Performance Computing
วันนี้ความต้องการใช้งานคลาวด์ในองค์กรได้ก้าวข้ามปัจจัยขับเคลื่อนระยะเริ่มต้นไปแล้ว…
ปีเตอร์ แชมเบอร์ส กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เอเอ็มดี วิเคราะห์ว่า ธุรกิจในปัจจุบัน ต้องพร้อมในการปรับขยายให้ตอบโจทย์การใช้งานได้ตลอดเวลา เพื่อรับมือความท้าทาย ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และต้องรักษามาตรฐานการบริการ
ขณะเดียวกัน เวิร์คโหลดงานบนคลาวด์ก็มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องมีโซลูชันการประมวลผลที่ออกแบบให้เหมาะสมสำหรับ CPU, DPU และตัวเร่งการประมวลผลด้าน AI เพื่อใช้ประโยชน์จากสถาปัตยกรรมและเฟรมเวิร์กแบบ Cloud-Native ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ การลงทุนในระบบคลาวด์จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ในการดำเนินงาน ข้อมูลจาก Flexera เผยว่า ปัจจุบัน เกือบครึ่งหนึ่งของเวิร์คโหลดงานและข้อมูลอยู่บนคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) แล้ว
ที่น่าสนใจคือ ผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอที (ITDMs) ถึง 72% ให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบคลาวด์ให้เหมาะสม โดยถูกยกให้เป็นโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายด้านการลดต้นทุนขององค์กร
’ดาต้าเซ็นเตอร์’ เพิ่มดีมานด์
บทวิเคราะห์อุตสาหกรรมดาต้าเซนเตอร์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี เผยว่า ธุรกิจกลุ่มระบบเซิร์ฟเวอร์มีแนวโน้มรายได้ขยายตัว 12 – 13% ต่อปี
จากการประยุกต์ใช้ระบบคลาวด์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รองรับการปรับโครงสร้างองค์กรของภาคธุรกิจจำนวนมากที่อยู่ในช่วงโอนย้ายข้อมูลและแอปพลิเคชั่นไปยังระบบคลาวด์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย เสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ และสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัวสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ
เช่นเดียวกับองค์กรต่างๆ ของภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับโครงสร้างการบริหารข้อมูลไปสู่ระบบคลาวด์มากขึ้น จากนโยบาย Cloud-first เพื่อรองรับการพัฒนานวัตกรรมบริการให้เข้าถึงประชาชนอย่างสะดวกรวดเร็ว
ที่ผ่านมา บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีทั้งในกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์และการให้บริการคลาวด์มีแผนเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยว่า ในปี 2567 อุตสาหกรรมดิจิทัลมียอดขอรับการลงทุนกว่า 150 โครงการ โดยส่วนใหญ่เป็นการขอรับการลงทุนในธุรกิจ ดาต้าเซ็นเตอร์ และ บริการคลาวด์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 240,000 ล้านบาท
แนวโน้มเหล่านี้ ได้เน้นความสำคัญของการปรับขนาดของโซลูชันระบบคลาวด์ให้มีความเหมาะสม องค์กรต่างๆ ต้องมั่นใจว่ามีการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับความต้องการทางธุรกิจและลักษณะงานขององค์กร เพราะกลยุทธ์คลาวด์ที่เหมาะสมจะมอบความยืดหยุ่น ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน
ทำไมถึงต้องเป็นเวลานี้
เนื่องจากการประมวลผลบนระบบคลาวด์เป็นดั่งกระดูกสันหลังของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในสมัยใหม่มาอย่างยาวนาน ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากการประมวลผลแบบเอนกประสงค์
อย่างไรก็ตาม ยุคของโซลูชันคลาวด์แบบ “one-size-fits-all” กำลังหายไปอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เทคโนโลยี AI และเวิร์คโหลดงานด้าน High-Performance Computing (HPC) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
โซลูชันคลาวด์แบบเดิมๆ กำลังประสบปัญหากับการตอบสนองความซับซ้อนในการประมวลผลโมเดล Deep Learning ทำให้องค์กรไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการลงทุนได้อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน สถาปัตยกรรมแบบ Cloud-Native ได้กลายมาเป็นมาตรฐาน เนื่องด้วยธุรกิจต่างๆ ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ลดระยะเวลาในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด และควบคุมต้นทุน ซึ่งหากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ปรับให้เหมาะสมกับระบบคลาวด์ อาจทำให้องค์กรมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียข้อได้เปรียบในการดำเนินงานที่สำคัญ
ถ้าไม่พร้อม ‘AI’ ก็ไปต่อไม่ได้
นอกจากนี้ การรันเวิร์กโหลดงานด้าน AI ขนาดใหญ่โดยที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ที่เหมาะสมอาจนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง เพิ่มทั้งต้นทุนการดำเนินงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ความไร้ประสิทธิภาพนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้งบประมาณรัดตัว แต่ยังบ่อนทำลายเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ให้ความสำคัญกับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากเรื่องประสิทธิภาพ ความปลอดภัยก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในการเลือกฮาร์ดแวร์ที่ปรับให้เหมาะสมกับระบบคลาวด์ แต่มักถูกมองข้าม ฮาร์ดแวร์ที่ได้รับการปรับให้เหมาะสมกับคลาวด์มักมาพร้อมฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพ
ที่พึงระวัง ยังมีเรื่องความเสี่ยงของการละเมิดข้อมูลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ความเสียหายทางการเงินและชื่อเสียง องค์กรต่างๆ ต้องตระหนักว่าการปล่อยปละละเลยให้สภาพแวดล้อมระบบคลาวด์ไร้การป้องกันที่เหมาะสมไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป
‘กลยุทธ์คลาวด์’ สำหรับปี 68
ขณะที่อุตสาหกรรมต่างๆ เร่งผลักดันการนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ ผู้นำด้าน IT ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ของพวกเขาสามารถรองรับเวิร์คโหลดงานที่ต้องใช้การประมวลผลประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งสร้างสมดุลระหว่างต้นทุน ความปลอดภัย และประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ทีมไอทีที่กำลังดำเนินการปรับปรุงฮาร์ดแวร์ให้ทันสมัยควรพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญประกอบด้วยประสิทธิภาพ (PERFORMANCE), ต้นทุนและประสิทธิภาพ (COST AND EFFICIENCY), ความปลอดภัย (SECURITY), และระบบนิเวศ (ECOSYSTEM)
ท้ายที่สุดแล้ว การปรับปรุงระบบคลาวด์ให้เหมาะสมไม่ควรถือเป็นจุดหมายปลายทาง แต่เป็นการเดินทางที่ต้องทำอย่างต่อเนื่ององค์กรที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบให้ทันสมัยจะได้รับประโยชน์จากการปรับสเกลอย่างไร้รอยต่อ
ความยั่งยืนที่ได้รับการพัฒนา และรากฐานดิจิทัลที่ยืดหยุ่นสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคต ในโลกที่ความคล่องตัวมีความสำคัญ การปรับปรุงระบบคลาวด์ให้เหมาะสมไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของความหรูหราฟุ่มเฟือยอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งจำเป็นทางธุรกิจเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันในปี 2568 และในอนาคต
แหล่งข้อมูล