Blue Origin ของเจฟฟ์ เบโซส เปิดโครงการ “Orbital Reef” สถานีอวกาศส่วนตัวเชิงพาณิชย์

Loading

Blue Origin บริษัทพัฒนาและผลิตกระสวยอวกาศเชิงพาณิชย์เพื่อการท่องเที่ยว ของมหาเศรษฐีระดับโลกอย่างเจฟฟ์ เบโซส ได้ออกมาประกาศว่า กำลังจับมือกับ Sierra Space บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ “Space-as-a-service” เพื่อร่วมกันพัฒนาและเปิดตัวสถานีอวกาศส่วนตัว ที่มีชื่อว่า “Orbital Reef”

ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บนอวกาศ หรือก็คือ “การสร้างอาณานิคมบนอวกาศ” กำลังได้รับความสนใจ ว่าจะกลายเป็นเทรนด์ในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นจริงในไม่ช้านี้แล้ว..

เพราะล่าสุด บริษัท Sierra Space ได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียด ถึงการเปิดตัวสถานีอวกาศส่วนตัว รวมถึงการที่บริษัท Blue Origin และ Boeing เข้ามาร่วมทีมด้วย เพื่อให้โครงการนี้สำเร็จได้ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษนี้ (ค.ศ. 2025 – 2030)

โดยโครงการ “Orbital Reef” ประกอบไปด้วยเทคโนโลยีและบริการต่าง ๆ จากทาง Sierra Space, Blue Origin และพาร์ตเนอร์อย่าง Redwire Space, Genesis Engineering และ Arizona State University

ทั้งนี้ Orbital Reef นับเป็นโครงการครั้งที่ 3 ของโลก ที่ได้มีการเปิดตัวสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ ต่อจากความร่วมมือของ Voyager Space, Nanoracks และ Lockheed Martin ที่เพิ่งประกาศว่าจะเริ่มโครงการสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ไปไม่นานนี้ ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ในปี ค.ศ. 2027 และอีกบริษัทคือ Axiom Space ที่ได้ประกาศแผนการเรื่องสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์เช่นกัน ส่วนทางด้านพาร์ตเนอร์หลักของ Blue Origin อย่าง Sierra Space ก็ได้ประกาศถึงแผนการสร้างสถานีอวกาศไปเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมานี่เอง

ซึ่งโครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทเอกชนที่ต้องการสร้างสถานีอวกาศใหม่ เข้ามาแทนที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ที่ใกล้จะหมดอายุการใช้งานเร็ว ๆ นี้

ความน่าสนใจของโครงการ Orbital Reef คือ การดำเนินการในคอนเซปต์ “โครงการพื้นที่เชิงธุรกิจแบบมิกส์ยูสบนอวกาศ” โดยพื้นที่ของโครงการ จะถูกจัดสรรเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ อาทิ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์, การผลิตสื่อ, ความบันเทิงและการท่องเที่ยว ซึ่งถ้าหาก Orbital Reef เปิดให้ใช้งานได้เต็มรูปแบบ จะสามารถบรรจุคนได้ถึง 10 คน และมีพื้นที่โดยรวมทั้งหมดคิดเป็น 90% ของสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันนี้

โดยทางด้าน Blue Origin จะดำเนินงานจัดหาโมดูลหลัก, ระบบสาธารณูปโภค และจรวด “New Glenn”  ของทางบริษัท ที่ออกแบบมาให้รับน้ำหนักได้มาก เพื่อใช้สำหรับลากส่วนของสถานีอวกาศจากโลกไปยังชั้นบรรยากาศ ส่วนทาง Boeing จะดูแลเรื่องงานปฏิบัติการของสถานี, โมดูลวิทยาศาสตร์ และจัดหานักบิน-ลูกเรือของ Starliner เพื่อขนส่งคนไปและกลับจากสถานีอวกาศ และด้าน Redwire จะจัดหาเทคโนโลยีการวิจัยและการผลิตในสภาวะไร้น้ำหนัก (Microgravity), วิศวกรรมดิจิทัล, เซ็นเซอร์ขั้นสูง ตลอดจนการดำเนินการด้านการคำนวณน้ำหนักที่สามารถบรรทุก และส่วนประกอบโครงสร้างสถานีอวกาศที่สามารถปรับใช้ได้

โดยทางด้าน Mike Gold รองประธานบริหารของ Redwire กล่าวว่า

“สภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ทำให้เกิดสมรภูมิการแข่งขันใหม่ทั้งหมด สำหรับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการพาณิชย์ เพราะเราเชื่อว่า ไม่ว่าประเทศหรือบริษัทใดก็ตาม ที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัย, พัฒนาและการผลิต ในสภาวะไร้น้ำหนักได้ จะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจระดับโลกในอนาคต”

นอกจากนี้ ยังมี Genesis Engineering ที่ดำเนินการพัฒนายานอวกาศสำหรับ 1 คน ที่จะใช้ในการดำเนินงานประจำวัน และอาจใช้ในการท่องเที่ยว ในขณะที่ Arizona State University จะเป็นผู้นำสมาคม เพื่อเสนอบริการให้คำปรึกษาในด้านการวิจัย

สรุปแล้ว โครงการ Orbital Reef ก็จะมีจิกซอว์ส่วนสำคัญ คือประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่บริษัทต่าง ๆ ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อโครงการนี้ อาทิ เทคโนโลยีจรวด “New Glenn” ที่ใช้ในการปล่อยตัวของ Blue Origin ยานอวกาศ “Starliner” ที่จะใช้รับส่งนักบินอวกาศและลูกเรือของ Boeing และ “Dream Chaser” เครื่องบินอวกาศจาก Sierra Space

ก็เป็นที่น่าติดตามว่า ความร่วมมือจากพันธมิตรหลักทั้ง 3 บริษัทด้านอวกาศ รวมไปถึงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีจากบริษัทอื่น ๆ จะทำให้โครงการนี้ เป็นจริงขึ้นมาได้ ก่อนสิ้นทศวรรษนี้หรือไม่

แต่ทั้งนี้ การออกมาประกาศโครงการนี้ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่พิสูจน์ได้แล้วว่า “Space Economy” กำลังจะเกิดขึ้นจริง และไม่ไกลเกินยุคเราแล้ว

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/1387231808035873/posts/4400257443399946/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210