เอ็นไอเอปั้น “NIA METAVERSE” สู่คอมมูนิตี้จักรวาลนฤมิตที่สมบูรณ์แบบที่สุดในไทย

Loading

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยกระดับจักรวาลนฤมิตหรือเมตาเวิร์สในประเทศไทย ต่อยอดจากงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO หรือ SITE พร้อมผลักดัน “NIA Metaverse” แซนด์บอกซ์เทคโนโลยีโลกเสมือนที่สมบูรณ์แบบที่สุด รองรับเศรษฐกิจและกิจกรรมรูปแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น โดย NIA Metaverse มีคุณสมบัติที่โดดเด่น เช่น ฟีเจอร์รองรับการทำงานทั้งในรูปแบบคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แล็ปท็อป และอุปกรณ์สื่อสาร มีฟังก์ชันรองรับการสร้างมูลค่า NFT ระบบพิสูจน์การมีตัวตนในโลกดิจิทัล พร้อมกันนี้ ยังคาดการณ์ว่าในปี 2024 เมตาเวิร์สจะมีมูลค่าที่โตถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13.1 ต่อปี

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เทคโนโลยีในกลุ่ม “ARI Tech” (อารีเทค) เป็นหนึ่งในสาขาที่กำลังมาแรง ซึ่งประกอบด้วย A – Artificial Intelligence (เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) R – Robotics (เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ) และ I – Immersive (เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง) ดังนั้น NIA จึงมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมกลุ่ม ARI Tech ทั้งเรื่องเงินทุน และการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานร่วมกันผ่านโครงการต่าง ๆ มากมาย เช่น  STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO หรือ SITE ที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี

“SITE เริ่มจัดในรูปแบบออนไลน์ครั้งแรกปี 2020 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งนับเป็นจุดกำเนิดแพลตฟอร์ม “โลกนวัตกรรมเสมือนจริง” (Virtual World) ครั้งแรกของประเทศไทย ที่รวมสตาร์ทอัพและนวัตกรชั้นนำของประเทศมาพัฒนาการจัดงานอีเว้นต์รูปแบบใหม่ หรือ MICE Innovation เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ด้านนวัตกรรมแก่ผู้เข้าร่วมงาน ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ FOSA ( Forum, Opportunities, Show, Award) ต่อมาในปี 2021 งาน SITE ยังคงจัดในรูปแบบโลกเสมือน โดยเพิ่มฟีเจอร์ “อวาตาร (Avatar)” ให้ผู้ชมงานสามารถสร้างกราฟิกแทนตัวบุคคล เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมในงานได้อย่างน่าสนใจมากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาปรับปรุงระบบการลงทะเบียนและการเข้าร่วมกิจกรรมให้ใช้งานง่าย เหมาะกับทุกกลุ่มเป้าหมาย และล่าสุดในปี 2022 งาน SITE จัดขึ้นในรูปแบบไฮบริดที่ผสมผสานทั้งออนไลน์และออนไซต์

เพื่อตอบสนองต่อวิถีความปกติใหม่และการเปิดเมือง โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็น “NIA Metaverse” เทคโนโลยีโลกเสมือนที่มีศักยภาพที่แรกของไทย และ “อวาตาร (Avatar)” สามารถเข้าร่วมทำกิจกรรมในโลกเสมือนคู่ขนานไปกับโลกจริงได้อย่างกลมกลืนมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นสะพานเชื่อมต่อเมืองนวัตกรรม พร้อมสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพชาวไทยและต่างชาติที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีจากทั่วโลกได้มาพบปะ เรียนรู้ และพัฒนาให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นเมืองนวัตกรรมที่ดี อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ทดสอบ (Sandbox) ในการสร้างแบบจำลอง ทดลอง ในหลากหลายวงการ เช่น อีเว้นต์ ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการเชื่อมต่อเมือง ช่วยตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมทางสังคม – เศรษฐกิจ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่ตื่นตัวและก้าวสู่โลก Metaverse เช่นกัน”

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ “NIA Metaverse” เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่ต้องการจะผลักดันเด็กไทยที่มีความสนใจด้านเมตาเวิร์ส มาร่วมกันสรรค์สร้างค์นวัตกรรมที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ พร้อมปั้นนวัตกรด้านเทคโนโลยีโลกเสมือนทีมแรกของไทย เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่มีพรสวรรค์ด้านเทคโนโลยี (Tech Talent) เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) และสตาร์ทอัพในสาขา Immersive มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถด้วยการนำความโดดเด่นนี้เข้าไปสร้างประสบการณ์ใหม่ของด้านการจัดกิจกรรมและอีเว้นต์ให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น เกิดเป็น “MICE Innovation” โดยหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ การสร้างประสบการณ์และการรับรู้ด้วยแสงของคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ ในงาน “ลำ LIGHT ให้ FEEL” ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่

ถือเป็นการทำเทคโนโลยีด้าน Immersive มาผสมผสานกันอย่างลงตัวกับสถาปัตยกรรมล้านนาดังเดิม เกิดเป็นงานอีเว้นต์ที่น่าสนใจ ดึงดูดให้ผู้คนมาเยี่ยมชม นอกจากนี้ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้มากขึ้น NIA ยังได้ทำความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพในด้านนวัตกรรมอย่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่จะทำความร่วมมือส่งเสริมหลักสูตรเกี่ยวกับครีเอทีฟอินโนเวชั่น เพื่อปั้นเด็กไทยที่มีความสามารถ มีความสนใจรูปแบบนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ให้ต่อยอดในด้านเมตาเวิร์สให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต

NIA Metaverse มีจุดเด่นใน 8 ด้าน คือ

1) เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นจากผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA ตั้งแต่ไอเดียในมหาวิทยาลัยสู่การใช้จริงในเชิงพาณิชย์ จึงทำให้รู้แนวทางการนำไปใช้ รวมถึงตลาดที่สามารถต่อยอดได้จริง และมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน

2) สามารถสร้างบรรยากาศที่สมจริงผ่านเทคนิค 2D และ 3D ทั้งลูกเล่นอวตาร สถานที่ ความคมชัดขององค์ประกอบด้านพื้นที่

3) มีฟีเจอร์รองรับการเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สทั้งในรูปแบบคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แล็ปท็อป และอุปกรณ์สื่อสาร

4) รองรับระบบการใช้งานผ่าน web 2.0/3.0

5) มีฟังก์ชันรองรับการสร้างมูลค่า NFT หากภายในกิจกรรมมีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และสามารถซื้อขายได้

6) รองรับการถ่ายทอดสด (live streaming) ของงานประชุมหรือสัมมนา

7) อำนวยความสะดวกการใช้งาน Active avatar สำหรับงานประเภทไมซ์ ซึ่งจะทำให้อีกตัวตนของแต่ละบุคคลในโลกเสมือนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น 8.มีระบบการพิสูจน์การมีตัวตนในโลกดิจิทัล

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2565 นี้ ยังมีแผนส่งเสริมเมตาเวิร์สให้มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ “NIA Metaverse” ให้เป็นแซนด์บ็อกซ์สำหรับรองรับงานอีเว้นท์ของภาครัฐและเอกชน ตามอุปสงค์ของคนทั่วโลกที่กำลังใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับการทำงาน การเรียนรู้ หรือเข้าถึงความบันเทิงในโลกเมตาเวิร์ส การใช้เป็นพื้นที่สำหรับศิลปินและที่ชื่นชอบผลงานศิลปะยุคดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย NFT รวมถึงการนำร่องผลักดันการท่องเที่ยวหรือจัดกิจกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้คนทั่วโลกเข้าถึงเมืองไทยได้อย่าง ไร้รอยต่อ

และทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองต้นแบบการจัดกิจกรรมโลกเสมือนผ่าน NIA Metaverse ฟรี! ไม่คิดค่าใช้จ่าย การพัฒนาโปรแกรม Deeptech university Accelerator: ARITECH เพื่อเร่งให้เกิดผู้ประกอบการในสาขา ARITech โดยอาศัยองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยเชิงลึกและมีโอกาสในการสร้างธุรกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการจัดตั้งบริษัท และการลงทุนจากทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยมีทีมที่สมัครเข้ามามากกว่า 50 ทีมแล้วจาก 12 มหาวิทยาลัยเครือข่าย ซึ่งนับว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญของการผลักดันและส่งเสริมให้งานวิจัยระดับดีพเทคจากมหาวิทยาลัยสู่เชิงพาณิชย์และตลาดทุนให้มากขึ้นกว่าเดิม

“การพัฒนาเมืองนวัตกรรมจักรวาลนฤมิตร ไม่ใช่ภาพที่ไกลตัวสำหรับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ถือว่ามีความพร้อมทั้งในเชิงนโยบายสนับสนุนจากรัฐและเอกชน จำนวนผู้ใช้ ความหลากหลายของการจัดกิจกรรม โครงข่ายอินเทอร์เน็ต รวมถึงกลุ่มนวัตกรที่มีความสามารถที่พร้อมจะร่วมขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าจักรวาลนฤมิตจะเป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญอย่างมาก และจากรายงานของ Bloomberg ได้ประเมินไว้เบื้องต้นว่าจะสามารถโตได้ถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2024 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13.1 ต่อปี และอาจจะเติบโตขึ้นไปได้อีก รวมถึงยังเป็นที่น่าสนใจในกลุ่มนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มระบบสื่อสาร หรือที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล กลุ่มซอฟต์แวร์ และแพลตฟอร์มออนไลน์และกลุ่มสินค้าและบริการรูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สวมใส่ หรือสื่อบันเทิงออนไลน์ประเภทต่าง ๆ” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายพลวัต ดีอันกอง ผู้ได้รับการสนับสนุนด้านเมตาวิร์สจาก NIA เปิดเผยว่า กล่าวว่า หลังจากที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Meta และปลุกกระแสให้โลกของเมตาเวิร์สได้รับความสนใจและพูดถึงมากขึ้น ในฐานะคนที่ทำงานด้านเกมและดิจิทัล จึงอยากจะเอาสิ่งที่ทำมาเชื่อมเข้ากับวงการเมตาเวิร์ส เพื่อหารายได้จากเทรนด์นี้และสร้างประสบการณ์ด้านความเสมือนจริงให้กับประเทศไทย โดยทุกคนในทีมกว่า 20 คนได้มีการปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ที่มีความซับซ้อนนี้ทันที และด้วยความเป็นบริษัทรูปแบบสตาร์ทอัพจึงทำให้ทุกคนเรียนรู้และลงมือทำได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก NIA ในด้านที่สำคัญ คือ

1. การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางด้านการสร้างธุรกิจและการทำการตลาด

2. เงินทุน สำหรับก่อตั้งบริษัท จัดซื้อเทคโนโลยีและอุปกรณ์ใหม่ การทำวิจัย และการขยายบริษัท

3. เปิดพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากดีพเทคสตาร์ทอัพ พันธมิตรทางธุรกิจ จากการไปร่วมงานแสดงผลงานในงาน SITE 2022 และสร้าง  “NIA Metaverse” ที่ใช้เงินลงทุนสูงถึง 40 ล้านบาท

นายพลวัต กล่าวต่อว่า ภายในสิ้นปีมีแผนที่จะต่อยอดโลกเสมือนจริงด้วยการออกโปรแกรมสำเร็จที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้สร้างเมตาเวิร์สโปรแกรมแรกของประเทศไทยและทวีปเอเชีย เพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยากและการใช้งบประมาณที่สูง ทำให้ทุกคนสามารถสร้างเมตาเวิร์สได้ภายใต้ขั้นตอนการใช้งานที่ง่ายขึ้นจากเดิมถึงร้อยเท่า เนื่องจากโปรแกรมถูกดีไซน์ออกมาให้ง่ายต่อการเรียนรู้ แม้จะไม่มีองค์ความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม จาวา หรือบล็อกเชนก็สามารถใช้งานได้ รวมถึงยังทำให้มูลค่าราคาของการสร้างเมตาเวิร์สถูกลงจากเดิมถึงพันเท่า รวมถึงทำให้เกิดบุคลากรในด้านนี้ในจำนวนที่สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว 

“ความสนใจในเรื่องเกม กราฟฟิก และ 3D ในอดีตมักถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น แต่ตตอนนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีดังกล่าวกำลังทวีบทบาทอย่างมากทั้งในระดับโลกและประเทศไทย โดยจากการดำเนินธุรกิจมา 26 เดือน ปัจุบันบริษัทของตนมีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านบาท คาดว่าภายในปีหน้าหากมีผู้สนใจมาลงทุนเพิ่ม มูลค่าบริษัทจะขยับไปแตะที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาช่วยให้คุณภาพชีวิตของทุกคนในบริษัทดีขึ้น เพราะมีหัวใจในการดำเนินงานของบริษัทในเรื่องของการสร้างคน คือ การให้ทุนการศึกษากับนักเรียน – นักศึกษาที่เข้ามาเทรนในอะคาเดมี่ และหากได้ทำงานต่อก็พร้อมที่จะสร้างอนาคตทางการทำงานที่ดีให้เด็กเหล่านี้ ด้วยการให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเกณฑ์ของวุฒิปริญญาตรีทั่วไป นอกจากนี้ยังจะผลักดันให้พนักงานในระดับต่าง ๆ มีธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นของตนเอง สร้างกิจกรรมเศรษฐกิจบนโลกเสมือนให้มีความหลากหลาย รวมถึงผลักดันนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากไทยให้มีโอกาสใช้อย่างแพร่หลายในตลาดโลก”

แหล่งข้อมูล

https://www.sanook.com/hitech/1561721/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210