NIA ส่ง ‘Inno4Farmers’ ยกระดับสตาร์ทอัพสายเกษตรด้วยเทคโนฯ เชิงลึก

Loading

NIA เปิดตัวโครงการ “Inno4Farmers 2022” เร่งสร้างสตาร์ทอัพสายเกษตร ตั้งเป้าวิสาหกิจ 100 รายต้องใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้ได้ภายในปี 2567 สมัครเข้าร่วมโครงการฟรีถึง 15 พ.ค. นี้

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า NIA ริเริ่มการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าจะสร้างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้ได้อย่างน้อย 100 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2565 – 2567)

ซึ่งสตาร์ทอัพด้านการเกษตร เป็นหนึ่งในสาขาเป้าหมายที่สำคัญ เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกับประชากรมากกว่าร้อยละ 30 ของประเทศ แต่กลับมีสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เพียงร้อยละ 10 และมีอัตราการเติบโตช้า

ทาง NIA ได้รับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เริ่มดำเนินการสำรวจสมุดปกขาว พูดถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเบื้องต้น เป็นเล่มแรกในประเทศไทย มีกลุ่มตัวอย่าง 41 ราย ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะเริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์ทอัพ และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณกรุงเทพมหานคร

แสดงให้เห็นว่า วิสาหกิจในประเทศไทยจะต้องได้รับการผลักดัน ร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มจำนวนของสตาร์ทอัพให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงควรเร่งผลักดันสตาร์ทอัพสายนี้ให้สามารถนำเทคโนโลยีเชิงลึกจากงานวิจัยและพัฒนาขั้นสูงมาแก้ปัญหาด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อันดับแรกจะเริ่มจากพัฒนาทักษะและความรู้การสร้างนวัตกรรมการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สำหรับเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านการเกษตรรายใหม่ เชื่อมต่อกับกระบวนการบ่มเพาะและเร่งสร้างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

ตลอดจนส่งเสริมให้สตาร์ทอัพสามารถนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดและสามารถระดมทุน เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตและการขยายธุรกิจได้ในระดับภูมิภาค

การบ่มเพาะวิสาหกิจเบื้องต้นให้เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่

การบ่มเพาะเป็นกิจกรรมที่จะทำให้สตาร์ทอัพเข้าใจโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น พร้อมกับการพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจให้แข็งแกร่ง รวมถึงได้ประสบการณ์ในการร่วมมือกับหน่วยงานและบริษัทขนาดใหญ่ NIA จึงได้ดำเนินการจัดโครงการ Inno4Farmers ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกและรูปแบบธุรกิจด้านการเกษตรของสตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการให้สามารถแข่งขันและขยายธุรกิจให้เติบโต

ส่วนของปีนี้จะเปิดรับสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่มีพื้นฐานจากการวิจัยและพัฒนาเชิงลึก  ต้องการกระบวนการประยุกต์ใช้งานขั้นสูงที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีชีวภาพ บล็อกเชน เซ็นซอร์และไอโอที หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีเชิงลึกอื่น ๆ ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาของภาคการเกษตร

นอกจากความรู้ที่สตาร์ทอัพจะได้รับในระหว่างการเข้าร่วมโครงการแล้ว ยังจะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในภาคการเกษตรและเทคโนโลยี รวมถึงได้ทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียนรู้และเข้าใจโจทย์ของภาคการเกษตรได้อย่างลึกซึ้ง สามารถนำไปต่อยอดความร่วมมือสู่การขยายธุรกิจได้จริง

สุดท้าย ยังมีโอกาสเชื่อมต่อกับนักลงทุนหรือผู้ที่ต้องการเทคโนโลยีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่พร้อมจะผลักดันให้เกิดการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรม

การเติบโตของสตาร์ทอัพเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกและการต่อยอดทางธุรกิจ

พรสีห์ ตรีวิศวเวทย์ CEO Inari ระดับยูนิคอร์นจากสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จเรื่องการนำเทคโนโลยีในการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตมาปรับใช้ โดยได้สร้างแพลตฟอร์มอย่าง The SEEDesign แก้ปัญหาเรื่องอาหารของโลกตั้งแต่ระบบเริ่มต้น ในที่นี้คือตัวเมล็ดพันธุ์ (Seed) โดยจะเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ วิเคราะห์ ไปถึงการแก้ไข เช่น การตัดแต่งพันธุกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ได้ตอบคำถามเรื่องการเลือกสร้างผลิตภัณฑ์ของธุรกิจสตาร์ทอัพไว้ว่า สตาร์ทอัพจะต้องชัดเจนเรื่องการผลิตสินค้า เกิดขึ้นเมื่อไร ควบคู่ไปกับการสำรวจตลาดและการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้กับวัตถุดิบทางการเกษตรที่ได้คัดสรร

ส่วนทางด้านของตริน พงษ์เภตรา กรรมการบริษัททักษิณปาล์ม เผยว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรเยอะ หากแต่ปัจจุบันนั้นประชาชนที่สามารถทำงานด้านเกษตรกรรมได้มีจำนวนลดลง ดังนั้น โจทย์ที่ยากสำหรับผู้ประกอบการทางเกษตรหลัก ๆ คือ แรงงาน การลดต้นทุนการผลิต การสำรวจพื้นที่ การบริหารจัดการผลผลิต เป็นต้น การเข้ามาของเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดัน ต่อยอด รวมไปถึงช่วยแรงงานให้สามารถทำงานในระยะเวลาที่น้อยลงแต่ได้ผลผลิตที่มาขึ้น

สอดคล้องกับทัศนะของกฤตธัช สาทรานนท์ CEO บริษัทโนวี่ (NOVY) ผลิตโดรนทางการเกษตร ที่พัฒนาอากาศยานไร้คนขับช่วยเหลือชาวเกษตรกร ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับเกษตรกรรมจะช่วยผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพเกษตรมากยิ่งขึ้น

“โครงการ Inno4Farmers ทำให้สตาร์ทอัพทางเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพเกษตรได้เข้าไปพูดคุยและช่วยกันพัฒนาธุรกิจ ทำให้สามารถเข้าใจปัญหา และเห็นวิธีการแก้ไข เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอด Inno4Farmers จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ทำให้ทุกสตาร์ทอัพมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำงานร่วมกัน” กฤตธัช กล่าว

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/1003866


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210