โมเดลใหม่ ’Nets Up’ เปลี่ยน’อวนเก่า’สู่วัสดุทางเลือก

Loading

ระยองมีพื้นที่ชายฝั่งติดกับอ่าวไทย ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ทะเลระยองเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ แหล่งทำประมงสร้างรายได้ อย่างไรก็ตาม การประมงด้วยเครื่องมืออวนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเล  เนื่องจากเศษอวนที่ขาดจากการลากดึงอาจถูกพัดพาไปปกคลุมแนวปะการัง หรือสัตว์ทะเลติดอวนตายหรือบาดเจ็บจากแผลติดเชื้อ จนถึงการเผาทำลายอวนที่ไม่ใช้แล้วก่อให้เกิดการสร้างก๊าซเรือนกระจก

เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการอวนไม่ใช้แล้วอย่างยั่งยืน บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC) ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)  กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน จ.ระยอง จัดทำโครงการ “Nets Up”  เปลี่ยนอวนประมงที่ไม่ใช้แล้ว สู่ Marine Materials วัสดุทางเลือกใหม่จากนวัตกรรมรีไซเคิล เพื่อนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมธุรกิจสิ่งทอด้วยการขึ้นรูปเป็นเส้นด้ายและทอเป็นผืนผ้าสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อัปไซเคิล บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์รองเท้ากีฬา ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการบริหารจัดการขยะทะเล และการพัฒนานวัตกรรมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่  SCGC ทส.  สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1  สมาคมเยาวชน The Youth Fund องค์กร AEPW (Alliance to End Plastic Waste) ทีมพลาสเคมีคอล ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ Nyl-One ไทยแทฟฟิต้า กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมเเห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) ชุมชนประมงนำร่อง และเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล

ขณะนี้นำร่องโมเดล Nets Up ในพื้นที่ชายฝั่งระยองเป็นแห่งแรก ร่วมกับกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน 10 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านหนองแฟบ 2.กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กแสงเงิน 3.กลุ่มประมงเรือเล็กเก้ายอด 4.กลุ่มประมงเรือเล็กแหลมรุ่งเรือง 5.กลุ่มประมงเรือเล็กพลาอู่ตะเภาสามัคคี 6.กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านตากวนอ่าวประดู่ 7.กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านปากคลองตากวน 8.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงเรือเล็กหาดสุชาดา  และอ.บ้านฉาง ได้แก่ 9.ประมงเรือเล็กหาดพลา บ้านพลา 10.กลุ่มประมงเรือเล็กบ้านพยูน รวมเรือประมงเล็กพื้นบ้านที่เข้าร่วม  240 ลำ

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่  SCGC เผยว่า โมเดล Nets Up เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของ SCGC ในการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance)  เน้นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการพัฒนานวัตกรรมรีไซเคิล โดยนำความเชี่ยวชาญด้านเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ High Quality PCR มาพัฒนาเป็น Marine Materials วัสดุรีไซเคิลจากอวนไม่ใช้แล้ว สร้างทางเลือกใหม่ให้กับเจ้าของแบรนด์สินค้า และผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดปัญหาขยะทะเล พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน และช่วยลดภาวะโลกร้อน อนาคตมีแผนจะขยายโครงการสู่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลของไทย

พิชิต สมบัติมาก  รองปลัด ทส. กล่าวว่า สำหรับโมเดล Nets Up จะช่วยให้กลุ่มประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำเศษอวนมาคัดแยก ลดภาระการนำไปกำจัดเองช่วยป้องกันไม่ให้อวนไม่ใช่แล้วหลุดรอดลงในทะเล กระทรวงฯ พร้อมสนับสนุน SCGC และเครือข่ายพันธมิตร ขับเคลื่อนกลไกลการจัดการอวนประมงไม่ใช้แล้ว และประสานความร่วมมือกับกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านในพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบจัดการอวนประมงไม่ใช้แล้วให้ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทั่วไทย

ก้องชัย เอกหรรษาศิลป์ ESG Flagship Project Leader บริษัท  SCGC อธิบายว่า ระยะแรกของการทำโครงการฯ ได้รับซื้ออวนปูจากกลุ่มประมงพื้นบ้านที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 100-200 กิโลกรัมต่อเดือน ผ่านแอปพลิเคชันคุ้มค่า หลังการทำโครงการที่ผ่านมา 4-5 เดือน ได้รวบรวมอวนที่ไม่ใช้แล้วได้ประมาณ 1,000 กิโลกรัม โดยอวนที่รับซื้อทั้งหมดจะถูกนำรีไซเคิลผ่านนวัตกรรมให้เป็นเม็ดพลาสติกไนลอน จากทั้งหมด 1,000 กิโลกรัม อาจจะมีการสูญเสีย 50-60% โดยเม็ดไนลอนรีไซเคิล 50% ที่ได้จะสีเขียวอ่อนเข้มๆ ส่วนเม็ดไนลอนรีไซเคิล 100% จะมีสีดำ หลังจากนั้นนำมาเปลี่ยนเป็นเส้นใย และนำเม็ดไนลอนรีไซเคิล 50% มาผสมกับไนลอนบริสุทธ์ ลองถักทอเป็นเสื้อ ที่มีความนุ่ม สวมใส่สบาย นอกจากนี้ ยังถักทอเป็นหมวกและกระเป๋า

กาหลง จงใจ ประธานกลุ่มประมงบ้านพลา-หาดพลา ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เล่าว่า การทำประมงพื้นบ้านจะทำประมงปูม้าเป็นหลัก และเรือในการตกหมึก รวมกว่า 100 ลำ แต่ละลำก็จะมีอวนประมาณ 10-30 กอง โดยขนาดของอวน 1 กอง จะใช้เนื้ออวนประมาณ 3 ผืน ความยาวประมาณ 270 เมตร

“อวนมีอายุการใช้งาน 1-2 เดือน สูงสุดไม่เกิน 3 เดือนต่อการออกทำประมง 1 ครั้ง หากขาดหรือชำรุดก็ไม่สามารถซ่อมได้ต้องซื้ออวนใหม่ ส่วนอวนที่ไม่ได้ใช้แล้วสภาพสะอาด 1 กอง มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะนำมาชั่งขายให้กับพ่อค้าราคาอยู่กิโลกรัมละ 10 บาท หากอวนเลอะมากไม่สามารถขายได้จะเผาทิ้ง เมื่อร่วมกับโครงการ  Nets Up ที่มารับซื้อขายได้กิโลกรัมละ 15 บาท เมื่อได้เห็นอวนที่นำไปรีไซเคิลมาเป็นสินค้าอย่างเสื้อ ส่วมใส่สบาย ชุมชนก็ได้ประโยชน์ ไม่ต้องเผาทิ้งด้วย “ กาหลง บอก

ด้าน อนุวัฒน์ จิตตระวล กลุ่มประมงเก้ายอด ต.ปากน้ำ อ.เมืองระยอง เล่าว่า กลุ่มประมงเรือเล็กในชุมชนบ้านเก้ายอดมีทั้งหมด 28 ลำ เป็นประมงอวนปู ลอกหอยหมึกสาย สมาชิกกลุ่มใช้อวนเยอะ เพราะใน 1 เดือนต้องออกไปวางอวนปู 3-4 ครั้ง ใน 1 เดือน จึงมีอวนที่ทิ้งกว่า 100 กิโลกรัม ส่วนใหญ่อวนจะถูกทิ้งหรือขายให้กับรถรับซื้อเก่า ได้กิโลกรัม 10-13 บาท หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ  Nets Up กลุ่มจะเป็นตัวแทนรับซื้ออวนจากชาวประมงกิโลกรัมละ 14 บาท  เอสซีจีซีจะมารับซื้อจากกลุ่มได้กิโลกรัมละ 15 บาท โดยกลุ่มจะหักเงิน 1 บาท เพื่อนำมาบริหารจัดการเป็นทุนการศึกษาของเด็กในชุมชน เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

https://www.thaipost.net/environment-news/458734/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210