อว.-บพข. เปิดเวทีระดมสมอง มุ่งสู่ NET ZERO ไม่ทิ้งซาก “โซลาร์เซลล์” ไว้ข้างหลัง

Loading

ประเทศไทยเริ่มใช้แผงโซลาร์เซลล์ ตั้งแต่ปี 2545 โดยจะมีแผงโซลาร์เซลล์ที่มีอายุใช้งานครบ 20 ปี ในปี 2565 ประมาณ 620,000 – 790,000 ตัน ขณะที่ยังไม่มีเทคโนโลยีและการบริหารจัดการซากดังกล่าวอย่างเป็นระบบ การกำจัดส่วนใหญ่ยังเป็นวิธีแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน คือการคัดแยกขยะแล้วนําไปย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก่อนเข้ากระบวนการปรับเสถียรและทิ้งในหลุมฝังกลบกากอุตสาหกรรม

ในงาน อว.แฟร์ ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเวทีเสวนา “มุ่งสู่ NET ZERO ได้โดยไม่ทิ้งโซลาร์เซลล์ใช้แล้วไว้ข้างหลัง” จัดโดย แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ระดมความคิด 8 กูรูที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ประภาพร ลือกิตติศัพท์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ กรมโรงงานอุตสาหกรรม, วานิช สาวาโย ผู้อำนวยการส่วนของเสียอันตราย กรมควบคุมมลพิษ, ดร.นันท์ บุญยฉัตร วิศวกรโลหการชำนาญการพิเศษ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, ดร.อมรรัตน์ ลิ้มมณี หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ENTEC สวทช., ปัทมา วงศ์ถ้วยทอง รองประธานกรรมการ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน), ดร.ไพโรจน์ ภานุกาญจน์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน), ดร.อัครินทร์ สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยพิเศษของซีอีโอและอีวีพี บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), มนต์ชัย พูนภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด ดำเนินการเสวนาโดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข.

รับมือแผง 400 โซลาร์ฟาร์ม

เวทีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ความนิยมแผงโซลาเซลล์นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ เน็ต ซีโร่ ในอนาคต แต่ในด้านหนึ่งแผงเหล่านี้ก็มีพิษซ่อนอยู่ แม้วันนี้อาจจะยังไม่มีปัญหา แต่วันข้างหน้า หากถูกทิ้งเรี่ยราด กระจัดกระจายในพื้นที่ต่างๆ จะเกิดปัญหาขยะแผงโซลาร์ท่วมประเทศ ถ้าเราไม่วางแผนรับมือแต่เนิ่นๆ

ปัจจุบันประเทศไทย มีโซลาร์ฟาร์มเกือบ 400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้แลยว่า ในอนาคตแผงโซลาร์ใช้แล้วจะมีจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการวางแผนจัดการ อย่างไรก็ตาม แผงโซลาร์ส่วนใหญ่ แม้จะถูกใช้จนครบอายุ แต่ประสิทธิภาพยังดีอยู่ บางส่วนใช้ในโรงงานไม่ได้ก็จริง  แต่ยังมีประโยชน์ สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าให้ชุมชน วัด โรงเรียน หรือแม้กระทั่งบ้านเรือนที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง จึงมีการบริจาคแผงโซลาเซลล์เหล่านี้ ให้กับสถานที่ต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีทั้งกับผู้บริจาคและผู้รับบริจาค แต่ในอนาคตการกำจัดแผงเสื่อมสภาพ ก็จะยิ่งยากขึ้น เพราะแผงเหล่านี้กระจายไปทั่วประเทศ และชุมชนต่างๆ ยังไม่มีความสามารถบริหารจัดการได้ ถ้าแผงเหล่านั้นใช้งานไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่เวทีนี้ระดมความเห็น เพื่อหาทางออกของอนาคตต่อขยะเหล่านี้

หนึ่งหน่วยงานสำคัญคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออก พ.ร.บ. 2 ฉบับ ฉบับแรกคือ พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับที่ 2 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งรวมถึงแผงโซลาร์เซลล์ ถือเป็นหนึ่งในของเสียอันตราย ระบุว่า โซลาร์ฟาร์ม เข้าข่ายเป็นโรงงาน ลำดับที่ 88 (1) การจะนำแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งหมดประสิทธิภาพ หรือประสิทธิภาพลดลง ออกไปภายนอกโรงงาน จะต้องเป็นไปตามขั้นตอนการขออนุญาต ต้องดําเนินการฝังกลบในหลุมฝังกลบของเสียอันตราย (Secure Land Fill) หรือเผาทําลายด้วยเตาเผาเฉพาะของเสียอันตราย หรือจัดการโดยวิธีอื่นโดยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย

รียูส ทางเลือกที่ใช่

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ถ้าแผงโซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพเหลือต่ำว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นของเสียอันตรายที่จะต้องมีการกำจัดที่ถูกต้อง แต่ถ้าหากว่ายังคงมีประสิทธิภาพมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ก็มีการเปิดโอกาสให้สามารถนำไป รียูส (Reuse) หรือนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะส่งต่อไปที่ไหน ถ้าหากจะนำไปบริจาคให้กับชุมชน โรงเรียน วัด หรือ พื้นที่ห่างไกล เพื่อนำไปใช่ต่อ จะต้องมีหนังสือยินยอมจากหน่วยงานภายในท้องถิ่นนั้นๆ ว่าพร้อมรับการบริจาคหรือไม่  ยินยอมและรับทราบว่าจะมีการนำแผงโซลาร์เซลล์ในประสิทธิภาพเท่านี้ เข้ามาใช้เป็นประโยชน์ภายในพื้นที่หรือไม่ หลังจากนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะพิจารณาการขนย้าย ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย แผงโซลาร์เซลล์นั้นก็จะถูกนำไปรียูสใช้อีกครั้งในพื้นที่ที่รับบริจาค

หนึ่งในข้อสรุปของเวทีนี้คือ การรียูส เป็นหนึ่งทางออกที่เหมาะกับการบริหารจัดการแผงโซลาร์ เนื่องจากแผงโซลาร์ส่วนใหญ่ เมื่อใช้ไปถึงระยะเวลาหนึ่ง อาจไม่เหมาะกับการใช้ต่อในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีเปลี่ยน กำลังการผลิตมากขึ้น จึงต้องเปลี่ยนแผงโซลาร์ใหม่ แต่ประสิทธิภาพของแผงเดิมยังเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถนำไปรียูสได้ เพื่อมอบให้กับสถานที่ต่างๆ ที่มีความต้องการนำไปใช้ แต่ถ้าประสิทธิภาพลดลงมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ อาจนำไปกำจัด หรือ รีไซเคิล (Recycle) กลับมาใช้งานในรูปแบบอื่น

ในมุมมองของบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ อย่าง โซลาร์ตรอน มองว่า การรียูสเหมาะกับบริบทของสังคมไทย เช่น โรงงานอุตสาหกรรมใช้ครบ 20 หรือ 25 ปี แล้วมีประสิทธิภาพเหลืออยู่ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนด 70 เปอร์เซ็นต์ของกรมโรงงาน  ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรม ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงยังมีจำนวนมาก จึงสนับสนุนคอนเซ็ปต์การรียูส มอบให้เกษตรกรนำไปใช้ต่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ถ้าเกษตรกรมีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เขาก็จะสามารถเพิ่มโปรดักทิวิตี้ ยกมาตรฐานพืชผลได้ ลูกหลานก็อยากอยู่ในท้องถิ่น แรงงานอยากกลับสู่ชุมชน เพราะเขามีรายได้จากผลผลิต ในอนาคตแผงโซลาร์เซลล์ยังสามารถทำเป็นแถบสี นำสเปกตรัมของแสงต่างๆ 7 สี มาวิจัยว่าเหมาะกับพืชชนิดไหน เพื่อให้พืชที่ผลิตได้มีมาตรฐานสูง เป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง ซึ่งทดลองได้ผลแล้วในพื้นที่นำร่องอย่าง อุดรธานี และ อุบลราชธานี

พ.ร.บ.WEEE กฎหมายแห่งความหวัง

อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญคือ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งแม้จะไม่มีบทบาทเข้าไปกำจัดขยะโดยตรง เนื่องจากอยู่ภายใต้บทบทาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. แต่บทบาทของ คพ.จะเป็นหน่วยงานกลาง ที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการ วางแผน กำหนดมาตรฐาน มาตรการต่างๆ ซึ่งจะไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ที่ผ่านมา คพ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือว่าซากอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องทั่วประเทศ ในการที่จะกำหนดแผนงาน กลยุทธ์ กลวิธี ให้ประชาชนคัดแยกและนำไปทิ้ง ณ จุดรวบรวม เพื่อส่งต่อไปกำจัดอย่างถูกต้องปลายทาง

กลไกในการขับเคลื่อนของ คพ. คือ การจัดทำมาตรการต่างๆ ผ่านคณะกรรมการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ร่าง พ.ร.บ.WEEE ครอบคลุมการผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โครงสร้าง พ.ร.บ. มีทั้งหมด 5 หมวดหมู่ 52 มาตรา กำหนดประเภทของซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งซากแผงโซลาเซลล์ เป็นหนึ่งไอเท็มที่ต้องกำกับดูแล

ใครต้องรับผิดชอบกำจัดซากโซลาร์เซลล์

เมื่อถามว่าแผงโซลาร์เซลล์ เป็นขยะอุตสาหกรรมที่น่ากลัวแค่ไหน หากเทียบกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชนิดอื่น ในมุมมองของผู้ใช้งานมองว่า มีความน่ากลัวน้อยกว่าอุตสาหกรรมแบตเตอรี เพียงแต่ว่าต้องมีการวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ ในแผงโซลาร์ มีอายุการใช้งานไม่เท่ากัน บางชิ้น 5 ปีต้องเปลี่ยนใหม่แล้ว เพราะฉะนั้นการกำจัดจึงต้องคิดในส่วนนี้ไว้ด้วย และต้องช่วยกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้งาน และหน่วยงานต่างๆ ยิ่งในอนาคต เมื่อบ้านเรือนหันมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟมากขึ้น ต้องวางแผนให้รัดกุมว่า หากแผงเหล่านั้นเสื่อมประสิทธิภาพจะบริหารจัดการอย่างไร

หนึ่งสิ่งที่สะท้อนจากเวทีนี้คือ แม้การจัดการซากแผงโซลาเซลล์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะกำกับดูแลภายใต้กฎหมายว่าด้วยโรงงานอยู่แล้ว แต่เมื่อแผงเหล่านี้ถูกนำไปใช้ตามบ้านเรือน ชุมชน สถานศึกษา อุทยานต่างๆ ก็เป็นปัญหาว่า สุดท้ายแผงเหล่านี้เมื่อเสื่อมสภาพ หรือหมดอายุการใช้งาน ก็จะไม่มีที่ไป ขณะที่ประเทศไทย ยังไม่มีมีโรงงานกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะ มีเพียงโรงงานรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ โดยเป็นการนำแผงเก่าที่หมดอายุการใช้งาน มาเปลี่ยนเซลล์เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนแผ่นโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ ก็ใช้วิธีส่งคืนผู้ผลิตต่างประเทศ หรือนำมาบดย่อยและฝังกลบในหลุมฝังกลบกากอุตสาหกรรม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคต เมื่อแผงโซลาเซลล์ กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ การกำจัดจะมีความซับซ้อนและควบคุมได้ยากมากขึ้น การมอบภารกิจดังกล่าวให้เป็นหน้าที่ของ อปท. จึงเป็นความรับผิดชอบที่หนักหนาสาหัส หากปราศจากความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งเวทีการเสวนาแสดงให้เห็นถึงความตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เหนือสิ่งอื่นใดคือพวกเรา ในฐานะผู้ใช้ จะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติตามเงื่อนไข ข้อกำหนด ร่วมกันคนละมือ จัดการอย่างถูกวิธี หากทำเช่นนี้ได้ ขยะโซลาร์เซลล์ก็คงบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/08/23/pmuc-seminar-reuse-solar-cells/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210