นักวิจัยสร้างหุ่นยนต์จิ๋วที่สามารถซ่อมแซมเซลล์ประสาทได้สำเร็จ

Loading

ปี 2024 หลายคนอาจมองว่าเป็นปีแห่งเทคโนโลยี AI แต่ที่จริงวิทยาการทางการแพทย์ใหม่ๆ ล้ำๆ ก็น่าตื่นเต้นสุดๆ ดังเช่นงานวิจัยหนึ่งในวารสาร Advanced Science ที่ตีพิมพ์ในช่วงปลายปี 2023 และน่าจะมีการขยายผลต่อแน่

อันที่จริงหลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง ‘หุ่นยนต์มีชีวิต’ กันมาบ้างแล้ว ซึ่งจริงๆ มันคือการทดลองนำเซลล์สัตว์มาสร้าง ‘หุ่นยนต์’ เพื่อให้ควบคุมได้ โดยก่อนหน้านี้ที่โด่งดังคือการสร้างจากเซลล์ตัวอ่อนของกบ เรียกว่า ‘Xenobot’

แน่นอนว่าเซลล์ของสัตว์ใช้ในร่างกายมนุษย์ไม่ได้ เพราะจะโดนระบบภูมิคุ้มกันเล่นงานในฐานะ ‘สิ่งแปลกปลอม’ แน่ๆ ก็เลยมีทีมวิจัยอีกทีมที่ทดสอบว่าจริงๆ เราเอาเซลล์มนุษย์มา ‘สร้างหุ่นยนต์’ แบบเดียวกันได้หรือไม่ โดยได้นำเอาเซลล์ปอดของมนุษย์มาเพาะ แล้วดัดแปลงนิดหน่อยให้มันเคลื่อนตัวได้ (ให้มันมีส่วนประกอบของเซลล์เป็นขนรอบๆ เรียกว่า ‘ซีเลีย’ – ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึง ‘พารามีเซียม’ ดู) และขนานนามมันว่า ‘Anthrobot’ (เป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น ไม่ใช่ภาพ Anthrobot จริง)

ที่จริง Anthrobot นั้นไม่ได้น่าตื่นเต้นเลย ใครก็รู้ว่ามันทำได้ในทางเทคนิค แต่ไม่รู้จะทำไปทำไม แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือเรื่องต่อจากนี้

เพราะตอนแรกนักวิจัยสร้าง Anthrobot มา ก็เห็นว่ามันวิ่งดุ๊กดิ๊กไปมาในถาดเพาะเชื้อ แต่ไม่รู้ว่ามันจะทำอะไร ก็เลยลองเอาเซลล์ประสาทที่เสียหายใส่ลงไปในถาดดู

ตรงนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ในร่างกายมนุษย์ เซลล์แต่ละส่วนมีความสามารถฟื้นตัวต่างกัน เซลล์ที่ฟื้นตัวเร็วสุดและฟื้นตัวได้เรื่อยๆ คือเซลล์ผิวหนัง แต่มันก็มีเซลล์หลายๆ ส่วนที่ถ้าเสียหายไปจะฟื้นตัวไม่ได้เลย เช่นพวกเซลล์ประสาทจากระบบประสาทส่วนกลาง ดังนั้นสิ่งที่นักวิจัยต้องการก็คือ ลองเอา ‘เซลล์ที่ฟื้นตัวเองไม่ได้’ โยนลงไปอยู่กับ Anthrobot ดูว่ามันจะทำอะไร

และ ‘ปาฏิหาริย์’ ก็เกิด เพราะเซลล์ประสาทที่อยู่กับ Anthrobot มันดันฟื้นตัวขึ้นมาเฉยๆ ซึ่งเขาก็ทดลองแล้วว่าเซลล์ประสาทที่อยู่ในสารละลายต่างๆ อย่างแป้งและซิลิคอน จะไม่ฟื้นตัว แต่มันจะฟื้นตัวได้ก็ต่อเมื่ออยู่กับ Anthrobot

นักวิจัยก็ยังงงว่าเซลล์ฟื้นตัวได้ยังไง เพราะทีมเองก็ไม่เห็นตอน Anthrobot ทำการ ‘ซ่อม’ เซลล์ประสาท แต่ยังไงนี่ก็น่าตื่นเต้นมาก เพราะมันน่าจะนำไปสู่ ‘ยา’ และ ‘วิธีการรักษา’ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะเรากำลังพูดถึงการ ‘ฟื้นฟูร่างกายส่วนที่มนุษย์ไม่คิดว่าจะฟื้นฟูได้’ หรือพูดง่ายๆ คือ มันจะไปแก้ปัญหาความเสื่อมถอยทางร่างกายหลายๆ อย่างที่ปัจจุบันแก้ไม่ได้อีกเพียบ

เพราะนั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะแก้ได้แค่ภาวะเส้นประสาทเสียหายและสมองเสื่อมเท่านั้น แต่มันอาจทำให้โรคที่เกิดจากการเสื่อมถอยของอวัยวะที่เคย ‘รักษาไม่ได้’ เช่น ‘โรคไต’ กลายมาเป็นโรคที่รักษาได้ด้วย

นี่คือ ‘ความน่าตื่นเต้น’ เบื้องต้นของเรื่องนี้ แต่ก็อย่าเพิ่งตื่นเต้นเกินไป เพราะกว่าจะเอาไปพัฒนาอะไรได้จริง ระดับทำให้เกิดปฏิบัติการทางการแพทย์ อาจต้องใช้เวลาเป็นสิบปี

แต่ไม่แน่ว่ามันอาจมาทันยุคที่เราต้องการความช่วยเหลือจาก ‘เทคโนโลยีใหม่’ พวกนี้พอดีตอนเราแก่ๆ ก็เป็นได้

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=926000632421607&set=a.811136580574680


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210