“โมบายล์- AI” เทคโนโลยีขับเคลื่อนทำงานแบบไฮบริด

Loading

ซิสโก้เผยรายงานผลการศึกษา “การทำงานแบบไฮบริดทั่วโลก” ครั้งแรก พบโมบายล์ และ AI เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ขับเคลื่อนประสบการณ์ทำงานแบบไฮบริด รองรับการทำงานได้ทุกที่

ชัค ร็อบบินส์ ประธานกรรมการและซีอีโอของซิสโก้ กล่าวว่า “เราอยู่ในช่วงเวลาสำคัญในการกำหนดรูปแบบการทำงานใหม่ที่ต่างไปจากเดิม  บุคลากรทุกคนในทุกที่ทั่วโลกต้องการสถานที่ทำงานที่รองรับการทำงานอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ และถือเป็นหน้าที่ของเราในฐานะผู้บริหารองค์กรที่จะต้องเรียนรู้ และค้นหาหนทางที่ดีที่สุดในการสนับสนุน และเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับพนักงานของเรา เพื่อรองรับการทำงานได้ทุกที่”

ซิสโก้มีความสามารถโดดเด่นด้านการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากเครื่องมือที่หลากหลาย ซึ่งรองรับการทำงานแบบไฮบริด โดยครอบคลุมเครือข่าย อุปกรณ์ปลายทาง และแอพพลิเคชั่นต่างๆ จากลูกค้าหลายล้านคนทั่วโลก ชุดข้อมูลรวมที่ไม่ระบุชื่อนี้ บวกกับผลการสำรวจความคิดเห็นของลูกค้า ให้ข้อมูลเชิงลึกสำหรับดัชนี HWI โดยประเด็นหลักต่างๆ จากดัชนี HWI นี้จะช่วยให้ผู้บริหารองค์กรธุรกิจเข้าใจแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม เพื่อความสำเร็จระยะยาวในการสร้างประสบการณ์ทำงานแบบไฮบริดแก่พนักงานและองค์กร:

นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า “การก้าวไปสู่การทำงานแบบไฮบริดที่ประสบความสำเร็จต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญสองประการ คือ การให้ความสะดวกกับพนักงานในการทำงานได้ทุกที่ และการทรานส์ฟอร์มเวิร์คสเปซ องค์กรธุรกิจที่สนันสนุนกลยุทธ์การทำงานแบบไฮบริด ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน และการมีส่วนร่วม จะดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถให้คงอยู่ และประสบความสำเร็จในระยะยาว”

“การทำให้พนักงานที่ทำงานแบบไฮบริดประสบความสำเร็จนั้น บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องแน่ใจว่าได้มอบประสบการณ์ที่มีส่วนร่วมให้กับพนักงาน รวมถึงความปลอดภัยไม่ว่าพวกเขาจะทำงานจากที่ใดก็ตาม ในขณะเดียวกัน จากมุมมองของการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงาน ธุรกิจต่างๆ ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเปลี่ยนสถานที่ทำงานให้เป็นศูนย์กลางของความคิดสร้างสรรค์ และอินโนเวชั่น นี่คือสิ่งที่จะส่งผลกระทบกับบริษัทมากที่สุด เพราะเรากำลังมุ่งไปสู่การทำงานที่ไม่ต้องพึ่งพาสถานที่ประจำที่พนักงานต้องไป แต่เป็น ‘ลักษณะงาน’ ที่พวกเขาทำจากสถานที่ที่พวกเขาเลือกมากกว่า”

ประเด็นสำคัญจากรายงานสำหรับผู้บริหารฝ่ายบุคคล

  • พนักงานต้องการทางเลือก และสถานที่ทำงานแบบไฮบริดช่วยให้พนักงานมีความภักดีต่อองค์กรมากขึ้น: 64% เห็นด้วยว่าตัวเลือกในการทำงานจากที่บ้าน แทนที่จะต้องเข้าออฟฟิศ ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะลาออกหรืออยู่ต่อ  อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนว่านายจ้างจะตระหนักถึงศักยภาพของการทำงานแบบไฮบริดหรือไม่ โดยมีเพียง 47% ที่คิดว่าบริษัทของตนจะอนุญาตให้พนักงานทำงานได้จากทุกที่แทนการทำงานในออฟฟิศ ใน 6-12 เดือนข้างหน้า
  • ความยืดหยุ่นและสุขภาพ คือปัจจัยหลักที่ผลักดันการทำงานแบบไฮบริด: ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงการทำงานที่ยืดหยุ่น เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการทำงานไฮบริดในอนาคต
  • การทำงานแบบไฮบริดส่งผลให้การประชุมขณะเดินทางพุ่งสูงขึ้น: ก่อนการแพร่ระบาด พนักงานใช้เวลา 9% ไปกับการประชุมผ่านโมบายล์ แต่เมื่อเข้าสู่โลกการทำงานแบบไฮบริด ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 3 เท่า โดยปัจจุบันอยู่ที่ 27%
  • มีการประชุมเกิดขึ้นทั่วทุกที่ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะ “เข้าร่วม” ในลักษณะเดียวกัน: มีการประชุมเกิดขึ้นกว่า 61 ล้านครั้งทั่วโลกในแต่ละเดือนผ่านทางแพลตฟอร์ม Cisco Webex แต่มีผู้เข้าร่วมเพียง 48% เท่านั้นที่เป็นฝ่ายนำเสนอในที่ประชุม นอกจากนี้ ใน 98% ของการประชุม มีอย่างน้อย 1 คนที่เข้าร่วมประชุมแบบรีโมท จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม และทำให้เกิดความรู้สึกเท่าเทียมกันกับผู้เข้าร่วมที่อยู่ในห้องประชุม
  • การทำงานแบบไฮบริดช่วยดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลาย: 82% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่าการเข้าถึงบริการเชื่อมต่อมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูธุรกิจหลังการแพร่ระบาด รวมถึงความสำคัญของการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงตำแหน่งงาน การศึกษา และบริการด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง  การเข้าถึงบริการเชื่อมต่อเพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานให้กับองค์กรใดก็ได้บนโลกใบนี้ ขณะเดียวกันบริษัทก็สามารถสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถได้จากทุกที่ ไม่ว่าบุคลากรจะทำงานอยู่ที่ใดก็ตาม
  • AI ไม่ได้เข้ามาทำงานแทนพนักงาน แต่ AI จะเป็นแกนหลักสำหรับการทำงานในอนาคต: การใช้เทคโนโลยี AI ที่เพิ่มขึ้นกว่า 200% ในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2564 ชี้ให้เห็นว่าบุคลากรต้องการระบบการประชุมที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมถึงฟีเจอร์ต่างๆ ที่ใช้ในการประชุม เช่น การตัดเสียงรบกวน การแปลและถอดเสียงโดยอัตโนมัติ การสร้างโพลล์สำรวจ และการจดจำท่าทาง ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกในการมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นการประชุมภายในห้อง หรือบนระบบเสมือนจริงก็ตาม

ประเด็นสำคัญสำหรับผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยี

  • เครือข่ายภายในบ้านกลายเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่สุดของเครือข่ายองค์กร: ตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาด อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการทำงานนอกสถานที่ (teleworker devices) มีการเติบโตถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับเราเตอร์สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
  • ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นตอกย้ำความสำคัญของระบบรักษาความปลอดภัยที่มุ่งเน้นผู้ใช้ (user-centric): ในช่วงแพร่ระบาด มีความพยายามเจาะระบบเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า โดยในเดือนกันยายน 2564 พนักงานที่ทำงานแบบไฮบริดตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของภัยคุกคามทางอีเมลกว่า 100 ล้านครั้งต่อวัน สถานการณ์ดังกล่าวตอกย้ำถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านการรักษาความปลอดภัยที่จะช่วยให้บุคลากรสามารถเข้าถึงระบบสำหรับการทำงานอย่างปลอดภัย และรอดพ้นจากการโจมตีและการหลอกลวง
  • องค์กรมองว่า “แอพที่ใช้ในการทำงานร่วมกัน” มีความสำคัญมากที่สุดต่อความสำเร็จของการทำงานแบบไฮบริด: แอพที่ใช้ในการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ครองอันดับ 1 ในประเภทของแอพพลิเคชั่นที่มีการมอนิเตอร์มากที่สุดทั่วโลก โดยแอพสำหรับการทำงานร่วมกันแซงหน้าแอพพลิเคชั่นที่ตรวจสอบด้านประสิทธิภาพการทำงาน และแอพที่ช่วยในการเข้าถึงอย่างปลอดภัย โดยมีการใช้งานอย่างมากในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด และช่วง WFH
  • เครือข่ายของผู้ให้บริการคลาวด์มีเสถียรภาพมากกว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP): ในช่วงเดือนมกราคม 2563 ถึงสิงหาคม 2564 พบว่าปัญหาระบบการทำงานล่มจากเครือข่ายของผู้ให้บริการคลาวด์เพียง 5% ขณะที่ 95% ที่เหลือล่มจากเครือข่ายของ ISP
  • พนักงานเตรียมกลับเข้าทำงานในออฟฟิศ: อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi ในออฟฟิศเพิ่มขึ้น 61% เมื่อเทียบกับ 6 เดือนที่แล้ว การเติบโตนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคอุดมศึกษา บริการด้านวิชาชีพ และธุรกิจบริการต้อนรับ

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/tech/500564


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210