หลายความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘อาชีพไอที’

Loading

ช่วงนี้เริ่มเห็นว่าบ้านเรามีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเอไอเต็มไปหมด บางคนก็ย้ายจากผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนหรือบิ๊กดาต้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ราวกับว่างานด้านไอทีง่ายนิดเดียว ใครๆ ก็สามารถทำได้

คำว่า “ไอที” หรือ “เทคโนโลยีสารสนเทศ” ดูเหมือนจะเป็นคำกว้างๆ ที่ครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ความเป็นจริงแล้ว วิชาชีพไอทีนั้นมีความหลากหลาย และต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ต่างจากวิชาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ หรือวิศวกร

คนที่จบไอทีมาก็อาจทำงานพื้นฐานเบื้องต้นได้เพียงบางอย่าง เหมือนแพทย์หรือวิศวกรที่จบมาใหม่ ก็รักษาโรค หรือทำงานด้านพื้นฐานได้ และต้องไปเรียนสาขาเฉพาะทาง หรือมีประสบการณ์ทำงานหลายปี กว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญได้

เมื่อพูดถึงไอที หลายคนอาจนึกถึงภาพของโปรแกรมเมอร์ที่นั่งเขียนโค้ดอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ แต่ความจริงแล้ว วิชาชีพไอทีมีหลากหลายสาขา แต่ละสาขาก็ต้องการทักษะ และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น 

1.นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) แบ่งย่อยได้อีกหลายสาขา เช่น นักพัฒนาเว็บ นักพัฒนาแอปพลิเคชันมือถือ หรือนักพัฒนาระบบฝังตัว

2.วิศวกรระบบ (Systems Engineer) ดูแลและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีขององค์กร

3.นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ทำงานกับข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์และสร้างโมเดลทางสถิติ

4.ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Specialist) ปกป้องระบบและข้อมูลจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

5.สถาปนิกระบบ (Systems Architect)  ออกแบบโครงสร้างระบบไอทีขององค์กรในภาพรวม

6.นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ (UX Designer) ออกแบบการใช้งานของซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันให้ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ

7.วิศวกรข้อมูล (Data Engineer) ออกแบบและพัฒนาระบบจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ สร้างไปป์ไลน์ข้อมูล และทำให้ข้อมูลพร้อมใช้งานสำหรับการวิเคราะห์

8.ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Specialist) พัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เช่น การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing)

9.ผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน (Blockchain Specialist) ออกแบบและพัฒนาระบบที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) และแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Applications)

เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ แต่ละสาขาในวงการไอทีต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง การที่คนๆ หนึ่ง “เก่งคอมพิวเตอร์” หรือ “จบไอที” ไม่ได้หมายความว่า เขาจะสามารถทำงานได้ทุกอย่างในวงการนี้ ยิ่งถ้าไม่ได้จบหรือลงมือปฏิบัติทางด้านนี้เลย ยิ่งเป็นไปได้ยาก ยกเว้นมีการศึกษาเพิ่มเติมและได้ทำงานจริงทางด้านนี้หลายปี

ยกตัวอย่างเช่น นักพัฒนาเว็บที่เก่งในการสร้างเว็บไซต์สวยงาม อาจไม่มีทักษะในการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาจไม่สามารถทำงานด้านบล็อกเชนได้ ยิ่งเป็นสาขาเอไอ ยิ่งมีความยาก ต้องมีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ ต้องเข้าใจการพัฒนาโปรแกรม มีความรู้ด้านข้อมูล และอีกหลายทักษะ ซึ่งไม่สามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้ในเวลารวดเร็ว

ในยุคที่เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เอไอ บล็อกเชน หรือบิ๊กดาต้า กำลังเป็นที่สนใจ เราเห็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนพยายาม “ตามกระแส” โดยไม่ได้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง มีการ “แต่งตั้ง” ตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าการจะเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ นั้น ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ที่แน่น และประสบการณ์การทำงานจริง

ที่น่าห่วงก็คือ การแนะนำการลงทุน การพัฒนาระบบในทางที่ผิด ด้วยความไม่เข้าใจการพัฒนาที่แท้จริง โดยอาศัยความเป็นนักการตลาดมากกว่าผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง

ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยคือ ผู้ว่าจ้างและสังคมทั่วไป ยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างของสาขาต่างๆ ในวงการไอที มีการคาดหวังว่า คนที่ “ทำงานไอที” จะสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้

เปรียบเทียบกับวิชาชีพแพทย์ เราคงไม่คาดหวังให้แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกมารักษาโรคหัวใจ หรือให้จักษุแพทย์มารักษาโรคไต เพราะเราเข้าใจอาชีพแพทย์ค่อนข้างชัดเจนว่า ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และต้องมีใบประกอบวิชาชีพ แต่ในวงการไอที เรามักเห็นการ “ข้ามสาย” กันอยู่บ่อยครั้ง

ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเราจะสร้างตึกสูง เราจะทราบว่าต้องมีสถาปนิกออกแบบ มีวิศวกรคำนวณโครงสร้าง มีวิศวกรคุมงาน มีช่างก่อสร้าง แล้วค่อยมีคนตกแต่งภายในมาทำทีหลัง แต่ในวงการไอที บางทีเราเห็นคนตกแต่งภายในมาบอกว่า จะสร้างตึกให้ เพราะคิดว่ามันก็แค่กระท่อมหลังเล็กๆ เดี๋ยวออกแบบให้สวยๆ ก็พอแล้ว หรือที่หนักกว่านั้นคือ เอานักการตลาดขายของมาสร้างตึก

ความเข้าใจผิดเรื่องผู้เชี่ยวชาญ อาจนำมาซึ่งการพัฒนาระบบที่ไม่ถูกต้อง การลงทุนผิด และการสร้างความคาดหวังที่เกินจริง ซึ่งหากเราต้องการจ้างผู้เชี่ยวชาญ ก็ควรพิจารณาจากประสบการณ์ วุฒิการศึกษา และประกาศนียบัตรต่างๆ อย่างละเอียด ก่อนการจ้างงาน หรือมอบหมายโครงการ นอกจากนี้ ในอนาคตเราอาจจำเป็นจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทางด้านนี้ สำหรับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา

อาชีพคนไอทีต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง คนไอทีต้องไม่หยุดเรียนรู้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากต้องการมีความเชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่ง ต้องลงมือปฏิบัติ และศึกษาอย่างลึกซึ้ง และควรมีความชัดเจนในการระบุขอบเขตความสามารถของตนเอง ไม่อวดอ้างความสามารถเกินจริง

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1143621


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210