- แนวคิด “Frontier Firm” จะทำให้องค์กรก้าวขึ้นไปเป็นแนวหน้าที่ผสานการทำงานของมนุษย์และ AI ได้อย่างลงตัว
- AI agent ช่วยเติมเต็มศักยภาพองค์กรให้ทำงานฉลาดและคล่องตัวขึ้น
- 90% ของผู้บริหารไทยมีแผนนำ AI agent เข้ามาภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า
“ไมโครซอฟท์” เผยข้อมูลล่าสุดจากรายงานวิจัย “Work Trend Index” ฉบับปี 2025 ทิศทางการปรับตัวขององค์กรในประเทศไทยและทั่วโลก
มุ่งสู่สถานะ “Frontier Firm” องค์กรระดับแนวหน้าด้านนวัตกรรม ที่มีการผสานการทำงานของ AI และการสร้างทีมงานรูปแบบใหม่ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีพนักงานที่เป็นมนุษย์นำทีม และให้ทีมงานดิจิทัลอย่าง AI agent เป็นผู้ช่วยทำงานต่างๆ อย่างอัตโนมัติ
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจปีนี้บอกว่าผู้บริหารในไทยตื่นตัวกันมากในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หลักขององค์กร
โดยมีถึง 93% ที่มองว่าจะต้องคิดใหม่ วางทิศทางใหม่ให้ได้ในปีนี้ และเมื่อมองผลสำรวจในระดับโลก เห็นได้ชัดเจนว่าองค์กรชั้นนำกำลังลงมือปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน ยกระดับ AI จากเครื่องมือใช้งานทั่วไปให้กลายเป็นเพื่อนร่วมทีมคนใหม่
ขณะเดียวกันมุ่งส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI agent อย่างลงตัว ซึ่งองค์กรเหล่านี้เองที่กำลังสร้างมาตรฐานใหม่ด้านนวัตกรรมในฐานะ “Frontier Firm” เพื่อการเติบโตที่รวดเร็วยิ่งขึ้นต่อไป
ความฉลาด พร้อมใช้ ‘ซื้อได้’
ประเด็นที่น่าสนใจพบว่า “ความชาญฉลาดแบบพร้อมใช้” เป็นสิ่งที่สามารถซื้อได้ : ในอดีต ความชาญฉลาดหรือศักยภาพในการคิด วิเคราะห์ และเสริมสร้างฐานความรู้ขององค์กร เป็นสิ่งล้ำค่าที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นเวลาในการทำงาน แรงกาย หรือแรงใจ แต่ในยุค AI นี้ องค์กรระดับ Frontier Firm เริ่มมองเห็นแล้วว่าการมีเครื่องมือ AI หรือมีระบบ AI agent ทำงานแบบอัตโนมัติอยู่ภายในองค์กร
นับเป็นการเติมเต็มช่องว่างด้านขีดความสามารถขององค์กร เพิ่มศักยภาพการทำงานอัจฉริยะ ช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างคล่องตัวกว่าในอดีต
ผลสำรวจเผยว่า ผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 90% (ค่าเฉลี่ยทั่วโลก 82%) มีแผนที่จะนำ AI agent เข้ามาทำงานเคียงข้างพนักงานในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
เนื่องจาก AI agent สามารถทำความเข้าใจในเนื้องาน วางแผนงาน และทำงานบางส่วนโดยอัตโนมัติด้วยตัวเอง โดยมีพนักงานเป็นผู้ดูแลและตรวจสอบความถูกต้องในขั้นตอนที่สำคัญ หรือเท่ากับว่ามีแผนที่จะขยายองค์กรด้วย “ทีมงานดิจิทัล” ผ่าน AI นั่นเอง
แนวทางการสร้างทีมรูปแบบใหม่นี้ยังมีส่วนสำคัญที่จะช่วยปลดล็อคศักยภาพ และข้อจำกัดต่างๆ ในการเพิ่มปริมาณงานที่ทุกองค์กรทั่วโลกต่างเผชิญมาโดยตลอด
สอดคล้องกับผลการสำรวจที่บอกว่า 75% ของผู้บริหารไทย (เฉลี่ยทั่วโลก 53%) ต้องการให้องค์กรทำงานได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันพนักงานในองค์กรไทยถึง 88% (เฉลี่ยทั่วโลก 80%) รู้สึกว่าพวกเขาไม่มีแรงและเวลาเพียงพอที่จะจัดการกับงานที่มีอยู่ล้นมือ
‘เพื่อนคู่คิด’ ชาวออฟฟิศในไทย
เตรียมพลิกผังองค์กร เมื่อพนักงานจับมือ AI ทำงานเป็นทีม : ผู้บริหารองค์กรไทยราว 68% (เฉลี่ยทั่วโลก 46%) บอกกับเราว่าองค์กรของพวกเขาเริ่มนำ AI agent เข้ามาเปลี่ยนกระบวนการการทำงานบางส่วนให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติเต็มตัวแล้ว
นับเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดในทั้ง 31 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจ โดยเมื่อมองไปที่ภาพรวมระดับโลกแล้ว จะเห็นได้ว่าองค์กรเริ่มมีทีมงานลูกผสมระหว่างพนักงานและ AI มากขึ้น โดยเฉพาะในสายงานบริการลูกค้า การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์
เมื่อหันไปสอบถามพนักงานว่าพวกเขาเลือกขอความช่วยเหลือจาก AI ด้วยเหตุผลอะไรบ้าง พบว่าพนักงานไทยมีมุมมองแตกต่างจากคนทำงานทั่วโลกเล็กน้อย โดยเหตุผลอันดับหนึ่งคือสามารถเรียกใช้งาน AI ได้ทุกเวลา โดยพนักงานไทยเล็งเห็นคุณค่าของ AI ในการนำเสนอไอเดียและความคิดสร้างสรรค์มากกว่า ขณะที่คนทำงานในประเทศอื่นๆ ให้ความสำคัญกับความเร็วและคุณภาพของผลงานจาก AI มากกว่าความคิดสร้างสรรค์เล็กน้อย
พบด้วยว่า อัตราส่วนการใช้งาน AI agent ขององค์กรไทยที่สูงกว่าชาติอื่นๆ ทั้งยังสะท้อนออกมาในรูปของมุมมองที่พนักงานมีต่อ AI อีกด้วย โดย 56% ของพนักงานไทยมอง AI เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่แชร์ไอเดียกันในเวลาทำงาน ขณะที่ 43% มอง AI เป็นเครื่องมือที่ทำงานตามคำสั่งเท่านั้น (เฉลี่ยทั่วโลก 46% และ 52% ตามลำดับ)
ก้าวไปอีกขั้นกับ ‘AI agent’
พนักงานทุกคนเป็นหัวหน้างานได้ ด้วยลูกน้องพลัง AI : ข้อมูลทั้งหมดในสองประเด็นที่ผ่านมาล้วนแสดงให้เห็นว่าการใช้งาน AI agent ในองค์กรมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
โดยภายใน 5 ปีข้างหน้า ผู้บริหารไทยมองว่าทีมงานในองค์กรจะต้องมีบทบาทหน้าที่ต่างๆ เหล่านี้อยู่ในงานประจำวัน ทั้งการออกแบบระบบงานใหม่ด้วย AI (51%), การสร้างระบบอัตโนมัติสำหรับงานที่ซับซ้อน โดยมี AI agent หลายตัวทำงานร่วมกัน (51%), การฝึกสอน AI agent ให้เข้าใจเนื้องาน (56%) และการบริหารจัดการ AI agent ในภารกิจต่างๆ (46%)
แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น พนักงานยังคงต้องการแรงสนับสนุนในด้านทักษะและความเชี่ยวชาญ โดยผู้บริหารตอบว่าคุ้นเคยกับแนวคิดและการใช้งาน AI agentเป็นอย่างดี (ไทย 78% และทั่วโลก 67%) มากกว่าพนักงาน (ไทย 53% และทั่วโลก 40%) แต่องค์กรส่วนใหญ่ก็เข้าใจในความจำเป็นตรงจุดนี้แล้ว และยกให้การเสริมสร้างทักษะของพนักงานเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดขององค์กรในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
รายงาน Work Trend Index ประจำปีนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าองค์กรทั่วโลกกำลังก้าวไปอีกขั้น จากการทดลองใช้ AI สู่การใช้งานจริงและการปรับโครงสร้างองค์กรให้เข้ากับยุค AI มากยิ่งขึ้น
เราเชื่อว่าองค์กรและประเทศที่ปรับตัวให้ทำงานแบบ AI-first ได้ จะสามารถผสมผสานความสามารถของมนุษย์และ AI เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว และปลดล็อกโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตสู่ความสำเร็จได้มากกว่าที่เคย
สำหรับไมโครซอฟท์เอง พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทุกองค์กร ด้วยเทคโนโลยีระดับโลกและคำแนะนำที่ตอบโจทย์ในโลกยุค AI กับฟีเจอร์ใหม่ใน “Microsoft 365 Copilot” ที่จะเปิดโอกาสให้องค์กรทั่วโลกได้เข้าถึง AI agent ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น พร้อมด้วยโมเดล AI ที่มีความสามารถมากขึ้นในหลายด้าน
แหล่งข้อมูล