เทรนด์ Microlearning กับการนำไปปรับใช้ อัปทักษะจำเป็นในโลกยุคใหม่ สร้างสังคม Life long learning

Loading

เทรนด์ Microlearning ไม่ใช่เทรนด์การเรียนรู้แบบใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ทว่า เป็นการคิดโซลูชั่นที่นำเสนอทางออกให้กับบทเรียนที่ต้องเรียนรู้เป็นเวลานาน ซึ่งต้องอาศัยความตั้งใจของผู้เรียนมาก จึงมีการคิดค้นวิธีการแยกย่อยเนื้อหาและนำเสนอให้กับผู้เรียนแบบทีละน้อย ซึ่งช่วยทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ง่ายและส่งผลต่อเนื่องทำให้ผู้เรียนมีความมุ่งมั่นในการเรียนเพิ่มขึ้นและไม่หลุดออกจากการเรียนรู้ในเนื้อหาหลัก

โดยเฉพาะในการเรียนรู้จากการอบรมสัมมนา Microlearning เป็นการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก เพราะการเรียนรู้รูปแบบนี้ ช่วยให้ผู้เข้าอบรมสัมมนาสามารถเรียนรู้ได้ง่ายและได้รับความรู้ที่เหมาะสมอย่างครบถ้วน  โดยถ้าเทียบกับการอบรมสัมมนาที่ใส่เนื้อหาเต็มๆ แล้ว ผู้เข้าร่วมอบรมสัมมนาอาจเรียนรู้ได้น้อยกว่าและบางส่วนจะรู้สึกขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ เนื่องจากเนื้อหาที่ยากและมากจนเกินไป

และถ้าจะอธิบายถึงเรื่องของ Microlearning ให้เห็นภาพมากที่สุด คงต้องสมมุติให้เนื้อหาในการเรียนรู้นั้น คือ เค้กก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง ที่แม้จะอร่อยแค่ไหน ถ้าต้องทานทั้งก้อนในคราวเดียวนั้น คงเป็นเรื่องที่ยากและลำบากมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดพอดีคำ เพื่อให้สามารถทานได้ง่ายและไม่รู้สึกว่ามากเกินไป จนท้ายที่สุด กว่าที่จะทันรู้ตัวเค้กก้อนใหญ่ตรงหน้าก็อันตรธานหายไปแล้ว ซึ่งการตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ นั้น คือรูปแบบของการเรียนรู้ในลักษณะของ เทรนด์ Microlearning

เทรนด์ Microlearning กับข้อดี ที่ปรับใช้ได้กับการ E-Learning ในยุคดิสรัปเทคโนโลยี

สำหรับการจัดการเรียนรู้แบบ Microlearning นั้น อันดับแรกควรคำนึงในเรื่องของจุดประสงค์การเรียนรู้ คือ ควรจะมีการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ชัดเจนเพียงหนึ่งหรือสองข้อเท่านั้น โดยต้องผลิตสื่อการเรียนรู้ หรือ การออกแบบแผนการสอนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในรูปแบบ Microlearning

เช่น อาจใช้การสาธิตสำหรับเนื้อหาที่ต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน หรือ อาจใช้สถานการณ์จำลองในการอธิบายสถานการณ์ต่างๆ เป็นต้นเพื่อให้สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมในเวลาห้าถึงเจ็ดนาที

นอกจากนี้ในการนำเสนอเนื้อหากับผู้เรียนนั้น จะต้องทำให้เข้าใจได้ง่าย เหมาะสมกับวัยและบริบทของผู้เรียน รวมถึงสามารถดึงดูดให้ผู้เรียนสนใจได้ และควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ตอบสนองกับบทเรียน โดยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น หรือมีคำถาม ถามผู้เรียนหลังจากที่ผ่านการเรียนรู้แล้ว เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างของการเรียนรู้แบบ Microlearning ที่พบเห็นกันได้โดยทั่วไปได้แก่

  • ครูผู้สอนจัดทำคลิปวีดีโอสั้นๆ ในแต่ละส่วนของเนื้อหา เพื่อให้นักเรียนรับชม และตอบคำถามครูผู้สอนหลังจากที่รับชมแล้ว
  • ครูผู้สอนจัดทำบทความ หรือบทสรุปสั้นๆ ให้นักเรียนอ่านและทำความเข้าใจ โดยมีบทสอบให้นักเรียนได้ทำหลังจากอ่านบทความแล้วพร้อมเฉลย
  • ครูผู้สอนจัดทำบัตรภาพหรือบัตรคำส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน โดยสรุปจากเนื้อหาทั้งหมดหรือทีละส่วน และส่งให้นักเรียนศึกษาและทำความเข้าใจ   

Microlearning นอกจากจะได้รับความนิยมในการออกแบบแผนการอบรมต่างๆ แล้ว ในปัจจุบัน ด้วยความเติบโตของระบบ E-Learning ทำให้เรื่องของ Microlearning ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางสำคัญในการออกแบบสื่อการเรียนรู้ออนไลน์อีกด้วย เพราะแทนที่จะใส่เนื้อหาทั้งหมดลงในคลิปวีดีโอเดียว การแบ่งและแยกย่อยเนื้อหาเป็นหลายๆ คลิปวีดีโอ กลับส่งผลให้ผู้เรียนนั้นมีแนวโน้มที่จะสนใจการเรียนรู้และจดจำบทเรียนได้มากกว่า

สิ่งนี้แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปของคนรุ่นใหม่ในยุคที่การติดต่อสื่อสารมีความรวดเร็วผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาวิจัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การศึกษาแบบ Microlearning นั้นส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดีกว่า การเรียนรู้ตามปกติ

ข้อมูลจากวารสาร Journal of Applied Psychology ได้แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้แบบ Microlearning นั้นทำให้ผู้เรียนเกิดการถ่ายโอนการเรียนรู้จากห้องเรียนไปสู่การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึงกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ Software Advice ในหัวข้อที่ว่า The LMS Features that Drive Employee Engagement IndustryView  ที่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงาน 385 คนที่เข้ามามีส่วนในการสำรวจ ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาจะใช้เครื่องมือของบริษัทและทำงานในแต่ละวันได้ดีมากขึ้น จากการเรียนหลักสูตรระยะสั้น

นอกจากนี้การเรียนรู้แบบ Microlearning ยังเป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่ประหยัด และสอดคล้องกับการสนับสนุนระบบนิเวศ (Ecosystem) ตามที่ สถาปนิก Ray Jimenez, PhD ซึ่งได้อธิบายไว้ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า 3-minute eLearning ว่าการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้แบบ Microlearning นั้นสามารถลดต้นทุนการพัฒนาลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และมีอัตราความเร็วในการพัฒนาเพิ่มขึ้นถึง 300 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว ทำให้ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรและพลังงานในการดำเนินงานต่างๆ

ดังนั้น Microlearning จึงมีข้อดีซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าสามารถตอบสนองต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ได้ดี เพราะปกติแล้วการเรียนรู้ของมนุษย์จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในระยะเวลา 5-7 นาทีแรก จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งเป็นไปตามประสิทธิภาพการทำงานของสมองมนุษย์

ด้วยเหตุนี้ การที่ Microlearning ช่วยทำให้เนื้อหามีขนาดเล็กและเหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละครั้งในรูปแบบ “พอดีคำ” จึงทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ง่ายและดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงควรเอาแนวคิดเกี่ยวกับ การเรียนรู้แบบ Microlearning นั้นไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบแผนการเรียนรู้ต่างๆ สำหรับผู้เรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้สามารถถ่ายทอดเนื้อหาต่างๆ ไปสู่ผู้เรียนได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อัปเดตรูปแบบการเรียนรู้ ตอบโจทย์ เทรนด์ Microlearning ยุคนี้

ยิ่งในยุคดิสรัปเทคโนโลยี การเรียนรู้ผ่านเนื้อหาที่ผ่านการย่อยให้เหลือเพียงใจความสำคัญ มีความกระชับ สามารถทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว เน้นการพัฒนาทักษะใดทักษะหนึ่ง หรือเสริมสร้างองค์ความรู้ในหัวข้อนั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งรูปแบบของการเรียนรู้ ตอบโจทย์ เทรนด์ Microlearning ในยุคนี้มีลักษณะดังนี้

  • มักเป็นบทเรียนสั้นๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
  • ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากใช้ทรัพยากรน้อยกว่าและไม่จำเป็นต้องมีผู้สอน
  • มักนำเสนอในรูปแบบที่มีความน่าสนใจ และสะดวกสบาย สามารถเรียนที่ไหนหรือเมื่อไรก็ได้
  • ไม่เหมาะกับหัวข้อที่ซับซ้อนมาก ต้องระวังความสมบูรณ์และความเชื่อมโยงกันของเนื้อหาด้วย
  • ครอบคลุมเนื้อหาหลากหลายด้าน สามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ
  • ช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ดีขึ้นเพราะเป็นการแบ่งเป็นบทเรียนสั้นๆ สามารถทบทวนได้ตลอดเวลา
  • ไม่เหมาะสำหรับการเรียนรู้เชิงลึกที่เน้นให้เกิดความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ

ขณะที่ รูปแบบ เครื่องมือ หรือช่องทางที่เหมาะกับการสร้างการเรียนรู้ในแบบ Microlearning ซึ่งเหมาะสมกับยุคดิสรัปเทคโนโลยี คือ

  • Parallax Scrolling ผู้เล่นสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเว็บไซต์ผ่านลูกเล่นต่างๆที่ปรากฎขึ้นขณะเลื่อนไปตามเนื้อหา
  • Infographic ข้อมูลนำเสนอในรูปแบบภาพทำให้ทำความเข้าใจและจดจำเนื้อหาได้
  • Podcast ผู้เรียนสามารถฟังการพูดคุยแลกเปลี่ยนของผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อต่างๆได้
  • Gamification ข้อมูลถูกนำเสนอในรูปแบบเกมที่มีระดับขั้น มีการสะสมแต้มและการแข่งขันช่วยให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจ
  • Application สามารถอัปเดตข้อมูลความรู้ใหม่ได้ง่าย มีฟีเจอร์การแจ้งเตือนให้ผู้เรียนทราบถึงบทเรียนใหม่ๆได้

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/11/07/microlearning-trend-upskill-new-skill/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210