ทดสอบผลิต “อาหารตามสั่งบนอวกาศ” ลดต้นทุนขนส่ง ต่อยอดภารกิจพิชิตดาวอังคาร

Loading

หนึ่งในความท้าทายของการส่งมนุษย์เดินทางท่องอวกาศนาน ๆ เช่น การทำภารกิจสำรวจดาวอังคาร ที่อาจจะต้องใช้เวลาเดินทางทั้งไปและกลับนานนับปี ก็คือการหาวิธีแบกน้ำหนักบรรทุกทั้งอาหาร เชื้อเพลิง ที่ล้วนมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อแก้ปัญหานี้ ทีมนักวิจัยในสหราชอาณาจักรเลยเสนอไอเดีย เพาะเลี้ยงเซลล์ในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ เพื่อต่อยอดไปสู่การปลูกเป็นอาหาร ยา และแม้แต่เชื้อเพลิงบนอวกาศเองได้ และอาจจะทำให้นักบินอวกาศมีตัวเลือกในการสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ราวกับมีร้านอาหารตามสั่งบนอวกาศได้ด้วย

ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) ที่กล่าวว่า ปกติแล้วนักบินอวกาศมีอัตราการบริโภคอาหารระหว่าง 0.5-1.5 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งทุกกิโลกรัมมีค่าขนส่งที่ราว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 660,000 บาท ดังนั้นการที่เราสามารถผลิตอาหารที่ต้องการบนอวกาศเองได้ อาจจะช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ได้มากขึ้น

และด้วยเงินสนับสนุนจาก เบโซส เอิร์ธ ฟันด์ (Bezos Earth Fund) กองทุนการกุศลของ เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ทีมวิจัยจึงได้โอกาสศึกษาแนวทางการสร้าง “โรงงานชีวภาพ” ขนาดเล็กในอวกาศ เป็นเหมือนโรงงานจิ๋วที่ผลิตอาหารและสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์แค่กับนักบินอวกาศเท่านั้น แต่ยังอาจนำมาใช้บนโลกได้อีกด้วย

ปัจจุบันแนวคิดนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบจริงบนอวกาศ โดยส่งขึ้นไปทดสอบในห้องปฏิบัติการอัตโนมัติขนาดเล็ก สเปซแล็บ (SpaceLab) ภายในยานอวกาศ ฟีนิกซ์ วัน (Phoenix 1) ซึ่งถูกปล่อยขึ้นไปด้วยจรวดสเปซเอ็กซ์ ฟอลคอน ไนน์ (Space X Falcon 9) เมื่อ 22 เมษายนที่ผ่านมา

สำหรับ สเปซแล็บ (SpaceLab) เป็นเทคโนโลยี “ห้องปฏิบัติการในกล่อง” ที่ช่วยให้ทีมวิจัยทำการทดลองทางชีววิทยาในสภาพไร้น้ำหนักได้ง่ายขึ้น โดยลดอุปสรรคต่าง ๆ ที่มักจะมากับการวิจัยในอวกาศ ข้างในมีการติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งผลิตสารตั้งต้นของวิตามิน และอาจจะใช้ผลิตส่วนผสมของอาหาร เช่น โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต ได้ด้วย

ข้อมูลที่ได้จากการทดลองนี้ จะถูกนำไปปรับปรุงการออกแบบโรงงานชีวภาพสำหรับผลิตวัตถุดิบต่าง ๆ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อที่ในอนาคตมันอาจจะสามารถสร้างโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ไฟเบอร์ และนำมาผสมกันเพื่อทำอาหารต่าง ๆ ได้ หรือสั่งพิมพ์ออกมาเป็นเมนูต่าง ๆ ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

โดยทีมวิจัยหวังว่าในการทดลองเพาะเลี้ยงเซลล์ในสภาพไร้น้ำหนักแม้ในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ จะสามารถเปิดเผยได้ว่าเซลล์ที่เพาะเลี้ยง จะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะออกมาเป็นผลงานที่หลากหลายตั้งแต่วิตามิน ไอศกรีม หรือแม้กระทั่งเชื้อเพลิงไบโอดีเซล

แหล่งข้อมูล

https://www.tnnthailand.com/tech/196967/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210