ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตรกว่า 40 องค์กร ขับเคลื่อนโครงการ Care the Whale การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ปฏิรูปกระบวนการจัดการขยะ แก้ปัญหาโลกร้อน ด้วยแนวคิด “ขยะล่องหน” ด้วยการชวนทุกคนปรับมุมคิดไม่มีอะไรเป็นขยะ คัดแยก ทิ้งให้ถูกที่ เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
ตั้งต้นสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนย่านรัชดาภิเษก ขยายสู่พื้นที่นอกย่านทั่วกรุงเทพฯ ถึงปัจจุบัน สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากการบริหารจัดการขยะและคัดแยกขยะแล้ว 10,218 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีของต้นไม้ใหญ่ 1,135,370 ต้น
โดยล่าสุดปีนี้โครงการเดินหน้าขยายพื้นที่ความร่วมมือสู่ชุมชนด้วยการร่วมกับวัดจากแดง และบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) นำร่องตั้ง “สถานีขยะล่องหน @ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า” มีเป้าหมายมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ด้วยการนำขยะมาสะสมแต้มเพื่อแลกของใช้อุปโภคบริโภค และนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์กลับคืนสู่ชุมชน
ซึ่งได้เริ่มเปิดบริการแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นำทีมบริหารจัดการโดยวัดจากแดง ซึ่งมีความใกล้ชิดกับชุมชนจะดำเนินงานในส่วนของสถานีขยะล่องหน อันเป็นจุดแลกขยะเป็นของและเชื่อมต่อการแปรรูปขยะเป็นผลิตภัณฑ์ โต๊ะ เก้าอี้ อิฐบล็อก และน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชน
เบื้องต้น “พระเมธีวชิรโสภณ (ประนอม ธมฺมาลงฺกาโร)” เจ้าอาวาสวัดจากแดง เล่าว่า วัดจากแดงเริ่มบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในวัดและชุมชนมาตั้งแต่ปี 2548 โดยได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน ทำให้ปัจจุบันวัดจากแดงเป็นศูนย์กลาง และเป็นแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการขยะของชุมชนทั้งในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ทั้งยังเป็นต้นแบบให้แก่พื้นที่อื่น ๆ ตลอดมา
“จุดเริ่มต้นการจัดการขยะมาจากวัดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พบขยะลอยผ่านหน้าวัดจำนวนมาก ครั้งหนึ่งเคยดักจับขยะเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ได้ขยะถึง 2 ตัน จึงหาทางออกแบบง่าย ๆ ด้วยการนำมาเผา ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วจึงเปลี่ยนมาคัดแยกขยะ แบ่งเศษอาหารออก แยกชนิดพลาสติก และชวนชาวบ้านร่วมทำด้วย”
“โดยมีเครื่องมือการคัดแยก เช่น ลวดพระทำ คือเอาเศษอาหารออกจากถุงและเอาลวดร้อยก้นถุงไว้ หลังจากนั้นจึงเอาถุงไปล้างทำความสะอาด และนำไปขายก็ได้เงินกลับมาหลายบาท จากนั้นจึงชวนชุมชนรอบ ๆ แยกขยะในครัวเรือนทำพลาสติกให้สะอาดและนำมาบริจาคให้วัด ส่วนวัดจะนำไปแปรรูปต่อ หรือชาวบ้านจะนำไปขายเองก็ได้”
“การชักชวนชุมชนมีการอบรมโดยใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือ เพราะพระธรรมคำสอนในพระวินัยปิฎกกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การไม่เก็บกวาดทำความสะอาดจะทำให้โดนปรับอาบัติทุกกฎ ซึ่งความหมายทางโลกคือถูกจับและปรับ ขณะที่พระสุตตันตปิฎกระบุว่า ถ้าไม่เก็บกวาดทำความสะอาด หรือทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ผลของการกระทำก็จะทำให้ป่วยเป็นโรคผิวหนัง แต่ถ้าเราเก็บกวาดทำความสะอาดเรียบร้อย”
“จะได้อานิสงส์ 5 ประการ ได้แก่ 1.มนุษย์รักใคร่ 2.เทวดารักใคร่ 3.มีความสุขใจ 4.ถือว่าได้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งการปฏิบัติธรรมหลายท่านนึกถึงการนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่การปฏิบัติธรรมไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้น เพียงแค่เราเก็บกวาดทำความสะอาดก็ถือว่าได้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนแล้ว และ 5.วิมานบนสวรรค์เกิดรอ ส่วนในพระอภิธรรมปิฎก ถ้าพระไม่เก็บกวาดทำความสะอาด จะมีเครื่องกังวลใจขวางไม่ให้วิปัสสนาญาณเกิดได้ง่ายและยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจผ่านธรรมะ”
“พระเมธีวชิรโสภณ” กล่าวต่อว่า จากที่ดำเนินมาสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนจากการคัดแยกขยะ คือเศษอาหารเศษผักต่าง ๆ นำไปทำปุ๋ยได้หลาย 10 ตัน เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้ส่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาถึง 40 กว่าตัน นอกจากนี้ยังมีการนำขวดพลาสติกมาแปรรูปเป็นผ้าไตรจีวร ขณะที่ถุงพลาสติกที่สะอาดนำมาแยกประเภทผสมแกลบ และไปทำไม้กระดาน ฝ้าผนัง ออกมาสวยคล้ายไม้จริง
ที่สำคัญ ยังนำโฟมซึ่งไม่ค่อยมีใครรับซื้อมาผสมกับทินเนอร์ และกาวยางสำหรับติดฉนวนกันความร้อน ด้วยการเอาโฟมผสมซีเมนต์ทำอิฐตัวหนอน กล่องใส่ดินสอ กระถาง น้ำตกเทียม และล่าสุดได้นำขวดน้ำมาผลิตเป็นชุด PPE ถวายให้วัดที่สวดศพ เพื่อให้สัปเหร่อที่เผาศพ และคนเก็บขยะใช้ในสถานการณ์โควิด-19
“จะเห็นว่าพลาสติก หรือเศษอาหารสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ หากเรามองแบบไม่มีปัญญาก็จะมองว่ามันเป็นขยะ แต่ถ้าหากมองอย่างผู้มีปัญญาจะเห็นว่านั่นคือวัตถุดิบในการทำสินค้า ทางวัดนับหนึ่งให้ ญาติโยมนับสอง เดี๋ยวก็มีองค์กรมาช่วยนับสามนับสี่ต่อ ขยายวงออกไปสู่การเป็นขยะจะล่องหนจริง ๆ ในอนาคต”
“นพเก้า สุจริตกุล” ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า แคมเปญนี้เป็นโครงการลูกของ Care the Whale : ขยะล่องหน โดยใช้อีกโมเดลหนึ่งเพื่อปรับใช้กับชุมชน ไม่ให้เกิดเป็นร่องรอยขยะเหลือใช้ และเหลือทิ้งในสิ่งแวดล้อม
เพราะหากดูสถิติประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้น ๆ ที่ปล่อยให้ขยะหลุดลอยสู่ทะเลมากที่สุด เพราะเรามีจังหวัดที่ติดกับทะเลกว่า 23 จังหวัด ฉะนั้น การบริหารจัดการ หรือการที่เรามีโอกาสได้ทำโครงการจะเป็นการสร้างต้นแบบ เพราะพื้นที่วัดจากแดงก็อยู่ใกล้กับทางออกที่เป็นปากทางเจ้าพระยาลงสู่ทะเลอ่าวไทย
“เป้าหมายของโครงการคือต้องการนำของเหลือใช้กลับมาสู่กระบวนการสร้างสิ่งใหม่ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีแพลตฟอร์มกลางในการรับขยะไปรีไซเคิล และอัพไซคลิ่ง มีการบันทึกจำนวนขยะที่เข้าโครงการที่ชาวบ้านเก็บได้ มีข้อมูลการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ เป็นต้น คาดว่าจะเข้าถึงประชากรกว่า 40,000 คน 13,200 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ใน 6 ตำบล ได้แก่ ต.บางกะเจ้า ต.บางกอบัว ต.บางน้ำผึ้ง ต.บางกระสอบ ต.บางยอ และ ต.ทรงคนอง จังหวัดสมุทรปราการ โดยโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นมาจนถึงสิ้นปี และหวังว่าจะเป็นโมเดลต้นแบบในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป”
ขณะที่ “ผาสุข รักษาวงศ์” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการตอบสนองความต้องการและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค ซึ่งสิ่งหนึ่งที่บริษัททำควบคู่กับการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอดคือการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งสร้างจิตสำนึกในด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับพนักงานในองค์กร และชุมชนภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีการปลูกฝังพฤติกรรมการคัดแยกขยะให้แก่เยาวชนผ่านโครงการสหพัฒน์ให้น้องให้ความรู้การจัดการขยะแก่เยาวชน เพื่อให้โรงเรียนและภาคครัวเรือนสามารถนำขยะไปรีไซเคิลหรือกำจัดได้อย่างถูกวิธี
“สำหรับความร่วมมือกับวัดจากแดงและตลาดหลักทรัพย์ฯ นับว่าสอดคล้องกับความมุ่งหมายของสหพัฒน์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อม และการที่สหพัฒน์ได้ร่วมเป็นสปอนเซอร์ด้วยการนำสิ่งของอุปโภคบริโภคเพื่อให้ชุมชนนำขยะมาแลก อาทิ บะหมี่สำเร็จรูป แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ฯลฯ ซึ่งจะมีการกำหนดเป็นคะแนนว่าขยะ 1 กก.จะเป็นกี่คะแนน สามารถแลกอะไรได้บ้าง จากนั้นจะมีการนำส่งของไปให้วัด และวัดจะมีคลังสินค้าเก็บ วัดก็จะมีผู้นำดูแล และแจ้งเรา”
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชน ทำให้ชุมชนได้รับสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นที่จะช่วยลดค่าครองชีพในสถานการณ์โควิด-19
แหล่งข้อมูล