โคราชสมาร์ทซิตี้ มุ่ง 7 เทคโนโลยี ยกระดับชีวิตคนเมือง

Loading

เทศบาลนครนครราชสีมา เร่งยกระดับเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเพิ่มคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมหนุน Thailand Smart City Expo 2024

นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการโคราชสมาร์ทซิตี้ ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2564 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 37.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่ง ในเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน ที่ได้ระบุไว้ในนโยบายและสอดคล้องกับกรอบตามที่ภาครัฐกำหนด เทศบาลนครนครราชสีมาจะเน้นในด้านการจราจรอัจฉริยะ , สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ และบริหารภาครัฐอัจฉริยะ เป็นตัวนำ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ จะช่วยผลักดันให้อีก 4 ด้าน เดินหน้าไปพร้อมกันทั้งด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ ด้านพลังงานอัจฉริยะ และด้านพลเมืองอัจฉริยะ โดยมีการเน้นย้ำถึง เมืองจะ SMART ต้องมี DATA ที่ชัดเจน ทั้งการจัดการ จัดเรียง และบูรณาการ ที่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับการดำเนินชีวิตของประชากรในเมืองทุกด้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และปรับตัวรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ในอนาคต

โดยหลังจากที่ได้รับเลือกเข้ามาบริหาร ทางทีมผู้บริหารได้มอบนโยบาย รวมถึงพยายามและผลักดันโครงการต่างๆ จนในปี 2566 ทางเทศบาลนครนครราชสีมาได้รับประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) โดยช่วงแรกได้มีพัฒนาแอปพลิเคชันโคราชสมาร์ทซิตี้ใน Line และ Applicationทำให้ประชาชนสามารถร้องเรียนเรื่องร้องทุกข์ได้โดยตรงและตรวจสอบสถานะร้องเรียนได้ มีสายด่วนถึงเจ้าหน้าที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของจุดต่าง ๆ ในเมืองผ่านกล้อง ซีซีทีวี การแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ สถานที่น่าสนใจ และจุดจำหน่ายสินค้า OTOP

ต่อมาในปี 2565 ได้จัดทำโปรแกรมจัดเก็บรายได้ค่าน้ำประปาอัจฉริยะ เพื่อความสะดวกในการชำระค่าน้ำประปา ตรวจสอบสถิติการใช้น้ำ ประวัติการจ่ายบิล ในปี 2566 จัดทำระบบร้องเรียนอัจฉริยะ และระบบกล้อง ซีซีทีวี เฟส 1 และในปี 2567 ได้จัดทำระบบเชื่อมต่อธนาคารและชำระค่าน้ำออนไลน์ , โคมไฟอัจฉริยะ ที่ช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบจุดที่เสาไฟเกิดขัดข้อง , ระบบตรวจสอบระบบน้ำอัจฉริยะ ทำให้ตรวจสอบสถานะระดับน้ำแบบเรียลไทม์ จัดเก็บสถิติ เพื่อป้องกันภัยพิบัติทางน้ำ , โปรแกรมวิเคราะห์ปริมาณน้ำสูญเสียและข้อมูลทางภูมิศาสตร์ประปาอัจฉริยะ , รวมถึงที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งระบบกรองน้ำคูเมืองอัจฉริยะ ที่ตรวจสอบคุณภาพของน้ำใน 6 ค่าที่สำคัญ และยังได้ศึกษาการจัดทำระบบจัดการโครงการไฟส่องสว่างอัจฉริยะ และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ GIS และบริหารข้อมูลกลางอัจฉริยะ

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการจัดทำในปี 2568 คือ ระบบบริการประชาชนอัจฉริยะ , ระบบการขอรับบริการภาคประชาชนออนไลน์ , ระบบจัดการเอกสารออนไลน์ , ระบบจัดการบุคลากรออนไลน์ , ระบบแสดงและวิเคราะห์ปริมาณน้ำเสียออนไลน์ และระบบสำรวจข้อมูลที่ดินและทรัพย์สินสำหรับการพัฒนาเมืองและพัฒนาการจัดเก็บรายได้อัจฉริยะระบบจัดการเมือง (city data platform)

“ระบบต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และจัดเก็บข้อมูลในทุกด้าน เพื่อให้เทศบาลสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจ วางแผนพัฒนาการให้บริการ การป้องกันภัยพิบัติ และเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในขณะที่ภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวางแผนจัดหาพื้นที่การลงทุน และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนทุกด้านในอนาคต”

นอกจากนี้ ทางเทศบาลนครราชสีมา ยังได้อัพเดทความรู้ด้านสมาร์ทซิตี้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเข้าร่วมงาน Thailand Smart City Expo 2024 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6–8 พฤศจิกายน 2567 ฮอลล์ 3–4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และพบปะกับซัพพลายเออร์ด้านสมาร์ทซิตี้ ทำให้ทางเทศบาลสามารถปรับปรุงระบบอัจฉริยะต่างๆ ให้สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างตรงจุด

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการจัดงาน Thailand Smart City Expo ในทุกปี อยากให้มีเวที หรือช่องทางที่เปิดให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเทศบาลเมือง ประชุมหารือและบูรณาการทำงานร่วมกัน เนื่องจากในขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะประสบปัญหาติดขัดในด้านกฎระเบียบของหน่วยงานต่างๆ อยู่มาก โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้ควบคุมการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ดูแลหน่วยงานดีป้า ที่เป็นเจ้าภาพหลักในการส่งเสริมด้านสมาร์ทซิตี้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยมีกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างหลายอย่างที่ยังไม่สอดประสานกับการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เช่น หากเทศบาลต้องการซื้อซอฟต์แวร์ที่มีความเฉพาะเจาะจงในบางเรื่อง หรือเป็นซอฟต์แวร์ที่มีคุณลักษณะพิเศษแต่ไม่ตรงกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ก็ยังไม่มีช่องทางเพื่อหาทางออก ทำให้เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินงานของสมาร์ทซิตี้

“ในปัจจุบันมีระบบเอไอ และซอฟต์แวร์เป็นจำนวนมากที่ใช้ในระบบสมาร์ทซิตี้ และมีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ดังนั้นกระทรวง ดีอี จึงควรเข้ามาอบรมให้ความรู้กับกระทรวงมหาดไทยอย่างต่อเนื่อง ให้ทั้ง 2 กระทรวงเข้ามาบูรณาการการทำงาน ซึ่งหากข้าราชการไม่แน่ใจ ข้อความในระเบียบไม่ชัดเจน ก็จะไม่ตัดสินใจอนุมัติ อนุญาตในเรื่องที่คลุมเครือเหล่านี้ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ออกกฎระเบียบแต่ไม่มีคู่มือการใช้หรือการตีความที่ละเอียด ในขณะที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้คำนิยามในข้อกำหนดเดิมตามไม่ทัน ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของเทศบาลเมืองต่าง ๆ ดังนั้นจึงอยากให้กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), ดีป้า, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาหารือเรื่องการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีการบูรณาการการทำงาน และมีความรู้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างราบรื่น”

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/technology/technology/610721


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210