เข้าใจใช้งานอยู่ร่วม“AI” ทักษะใหม่ต่อยอดได้ไม่สิ้นสุด

Loading

  • AI กับแรงงาน เป็น 2 ส่วน คือ แรงงานที่ใช้ AI เป็น และแรงงานที่สร้าง AI ได้ เท่าที่เห็นในตอนนี้ การสนับสนุนของภาครัฐ สถาบันการศึกษาจะพัฒนาคน Upskills/Reskills ให้ AI ได้เป็น แต่ไม่ได้สร้าง AI
  • สิ่งที่ควรสอนเด็กรุ่นใหม่ คือ การใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ควรวิ่งไล่ตามเทคโนโลยี และควรสอนให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา นิสิตนักศึกษามีทักษะในการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ
  • มหาวิทยาลัยมีการเติมเต็มทักษะทางด้าน AI ให้แก่นักศึกษา เพราะนั่นเป็นเสมือนทักษะ Soft Skill ใหม่ ในยุคดิจิทัล ที่เด็กต้องมีติดตัว และเป็นโอกาสให้แก่เด็ก

สวทช.สำรวจความต้องการและผลิตบุคลากรเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ AI ปี 2563-2567 พบว่าความต้องการกำลังคนด้าน Software & Data Analytic 38,465 คน ขณะที่ปัจจุบันผลิตได้ 15,671 คน จึงต้องมีแผนพัฒนากำลังคนด้านAI เพื่อป้อนภาคธุรกิจและภาครัฐให้ได้ 30,000 คน ภายในปี 2570

“สถาบันอุดมศึกษา” จึงต้องตื่นตัวปรับหรือเพิ่มหลักสูตร การเรียนการสอน เติมทักษะใหม่ๆ ให้แก่นิสิตนักศึกษา เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในโลกของการทำงาน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ

AI โจทย์ที่เป็นกับดักของไทย

“บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่าAI มีส่วนประกอบแรกที่เห็นชัดๆ จะเป็นซอฟต์แวร์ ระบบต่างๆ ในชีวิตประจำวันและทุกคนก็ใช้งานอยู่ทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว เพราะส่วนนี้จะอยู่ในรูปแบบบริการ อาทิ ธนาคาร หรือผู้ประกอบการที่มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการขึ้นใหม่ โดยนำ AI มาใช้เพื่อให้การบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนอีกมุมจะเป็น AI ที่ทำงานร่วมกับระบบฮาร์ดแวร์ ส่วนนี้จะเห็นในรูปแบบของหุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร และ AI อีกส่วนจะใช้ในโรงงาน หรืออุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งถ้าเป็นโรงงานขนาดใหญ่จะมีระบบ AI ในเทคโนโลยีการผลิต แต่ส่วนนี้ ประเทศไทยหลายๆ โรงงานยังไม่ถึง 3.0 ทำให้มีช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีค่อนข้างมาก

“ข้อมูล คือน้ำมันของ AI การจะทำให้ AI มีประสิทธิภาพสูง ต้องมีข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจการทำงานในระบบที่มีอยู่ ในไทย  AI เป็นโจทย์ที่เป็นกับดักของประเทศ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมอง AI กับแรงงาน เป็น 2 ส่วน คือ แรงงานที่ใช้ AI เป็น และแรงงานที่สร้าง AI ได้ เท่าที่เห็นในตอนนี้ การสนับสนุนของภาครัฐ  สถาบันการศึกษาจะพัฒนาคน Upskills/Reskills ให้ AI ได้เป็น แต่ไม่ได้สร้าง  AI  และหลายคนใช้ ChatGPT เพื่อโต้ตอบกับระบบเท่านั้นไม่ได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และในแง่การใช้งานหากไม่ใช่แรงงานสายเทคโนโลยี สายวิศวกรรม สายอาชีพอื่นก็ไม่ได้ใช้ ”บวรศักดิ์ กล่าว

เน้นทักษะ AI ตั้งคำถาม-ค้นหาคำตอบ

“บวรศักดิ์” กล่าวต่อไปว่า การสื่อสารกับAI มีสิ่งสำคัญ 2 อย่าง คือ การตั้งคำถามให้เป็น และการค้นหา-ตรวจคำตอบให้ถูกต้อง ซึ่ง AI เป็น Soft Skill ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการใช้งาน เพราะตอนนี้ทุกคนต่างเข้าถึง AI ได้โดยไม่มีอะไรขวางกั้น เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก การเรียนการสอน ฉะนั้น การพัฒนาคนรุ่นใหม่ต้องให้อยู่ร่วมและทำงานกับ AI ได้ ต้องทำให้นักศึกษาตั้งคำถามเป็น เรียนรู้ค้นหา ตรวจสอบคำตอบด้วยตนเอง

“ฟีโป้จะสอนให้นักศึกษาเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ นั้นคือ เขาต้องสร้าง AI หุ่นยนต์ แบบเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว และองค์ความรู้เป็นสิ่งที่หาได้ง่าย การสอนให้ทุกคนเข้าใจ และสร้าง AIได้เป็นสิ่งจำเป็น ต้องให้รู้จักตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ และตรวจสอบคำตอบได้ พวกเขาจะได้เรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ ดังนั้น ต่อให้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา พวกเขาก็พร้อมจะปรับตัว และต่อยอดเกิดเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ”บวรศักดิ์ กล่าว

“บวรศักดิ์” กล่าวอีกว่าสิ่งที่ควรสอนเด็กรุ่นใหม่ คือ การใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ควรวิ่งไล่ตามเทคโนโลยี และควรสอนให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา นิสิตนักศึกษามีทักษะในการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ รู้จักพัฒนาวิธีการ เข้าใจ ทักษะในการใช้ และอยู่กับAIให้ได้ ขณะที่ ภาครัฐอย่าเพียง Upskills-Reskills เท่านั้น แต่ควรมีแผนระยะยาว และทุกภาคส่วนควรหารือร่วมกัน โฟกัส เชื่อมกันตามสายอาชีพ

เรียนรู้เพื่อสร้าง เพื่อใช้ AI -หุ่นยนต์

ด้าน “ดร.ภูมิ คงห้วยรอบ” หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า AI เข้ามามีบทบาทมากในไทย หลายบริษัทมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ มีการนำหุ่นยนต์ และระบบต่างๆ เข้ามาปรับใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานมากขึ้น อย่าง ธุรกิจ Health care มีหุ่นยนต์มาช่วยดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น เมื่อใช้งาน AI มากขึ้น แล้วคนไม่ปรับตัวอยู่ร่วมกับ AI เป็นไปได้ที่บางอาชีพ AIจะมาแทนในตำแหน่งงาน แต่หากคนปรับตัวเร็ว เข้าถึงเครื่องมือได้ดี ใช้งาน AI และรู้จักสร้างต่อยอดจากเทคโนโลยีที่ใช้ พวกเขาจะเป็นตัวเลือก และที่ต้องการของตลาดแรงงาน

“ตอนนี้ AI เข้ามาทุกอาชีพ ล่าสุด มีติวเตอร์ พูดโต้ตอบได้ แปลภาษาได้ หรือ คนที่ทำกราฟิก Artwork ถ้าไม่ปรับตัว AI จะมาแทนที่ได้หมด เมื่อรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป การผลิต พัฒนาคนในระบบการศึกษาก็ต้องเปลี่ยนไปจากเดิม หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ลาดกระบัง เน้นการเรียนรู้เพื่อการสร้าง และการใช้งานหุ่นยนต์ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องของซอฟต์แวร์อย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้ฮาร์ดแวร์ เขียนโปรแกรม AI ต่างๆ ได้อย่างเข้าใจ และนำไปสู่การใช้เครื่องมือ ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น”ดร.ภูมิ กล่าว

ต้องไม่ยึดติดทฤษฎี เรียนจากโจทย์จริง

“ดร.ภูมิ” กล่าวต่อว่าการปรับปรุงหลักสูตรด้าน AI ต้องปรับทุกปี เพราะหากรอปรับ 5 ปี/ครั้งอาจไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และต้องเชิญภาคอุตสาหกรรมเข้ามารีวิวหลักสูตร ควรเพิ่ม ลด หรือปรับตรงไหน เพราะภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นผู้ใช้บัณฑิตในอนาคต หลักสูตรของลาดกระบัง จึงมีรายวิชาใหม่ๆ เกี่ยวกับการใช้และสร้าง AI หุ่นยนต์ รวมทั้งต้องเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สร้างเน็ตเวิก เข้าใจกระบวนการคิด เบื้องหลัง AI และปีการศึกษา 2568 นี้ จะเปิดไมเนอร์โปรแกรม AI ในหลักสูตรวิชาโท เรียนรู้ AI และไม่ได้เปิดให้เฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เปิดกว้างกับทุกคน เป็นธนาคารหน่วยกิต

“การสอน AI เติมทักษะด้านนี้ควรสอนเป็นพื้นฐาน และที่สำคัญต้องไม่ยึดติด ทฤษฎี ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริง โจทย์ที่แตกต่าง สอนด้วย Project-Basedหากเติมทักษะ AI ในรูปแบบนี้ ไม่ว่าโลกจะเป็นอย่างไร คนรุ่นใหม่จะรับมือได้ และต้องทำให้คนรุ่นใหม่ แรงงานรู้จักใช้ AI บนพื้นฐานจริยธรรม ใช้อย่างถูกต้องและใช้ได้ถูกทาง” ดร.ภูมิ กล่าว

ปั้น“Prompt Engineer”

“ผศ.ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่าหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการใช้งาน Generative AI (GEN-AI) แขนงหนึ่งของ AI ที่ใช้สำหรับสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ได้อย่างหลากหลายแบบอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาช่วย หรือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Chat Bot ช่วยให้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างรวดเร็ว กำลังเข้ามามีบทบาทในทุกสาขาอาชีพ

“เด็กยุคใหม่ควรเรียนรู้และใช้งาน AI ให้เป็นทักษะหนึ่งติดตัว เพื่อให้สั่งการ ใช้ประโยชน์ หรือเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของ AI ได้ CITE DPU ได้พยายามติดอาวุธให้นักศึกษา โดยอาจารย์ผู้สอนได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการใช้งานสั่งการหรือ prompt ตัว Generative AI ในทุกหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาใช้เป็น Soft Skill ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ อีกทั้ง มีการเปิดสอน Prompt Engineer รองรับตำแหน่งงานที่สามารถดึงประสิทธิภาพสูงสุดของ AI มาใช้ผ่านการป้อนคำสั่ง”ผศ.ดร.ชัยพร กล่าว

คนที่จะมาเป็น Prompt Engineer ต้องมีองค์ความรู้หลักที่ถูกต้องและมีความเชี่ยวชาญในการพูดคุยกับ AI ผ่านคำถามหรือคำสั่งที่ป้อนเข้าไป หากถามแบบไม่ชัดเจนไม่มีหลักการ ก็จะได้คำตอบกลับมาที่ไม่ตรงตามความต้องการหรือผิดพลาดไปเลย “Prompt Engineer” เป็นอาชีพที่ฮือฮาในต่างประเทศเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดและมีรายได้ค่อนข้างสูง

“คณบดี CITE DPU” กล่าวเพิ่มเติมว่า ChatGPT หรือ Bard เป็น AI ที่เป็น Chatbot ที่มีฐานความรู้มากมายมหาศาลจากการเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต และสามารถรวบรวมข้อมูลหรือความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นคำตอบให้เราได้ ส่วนคำตอบจะถูกต้องหรือตรงกับความต้องการของผู้ถามหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ป้อนคำถาม

รัฐต้องหนุนกลุ่มมหาวิทยาลัยให้ชัด

“ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน” รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา กล่าวว่า มทร.ล้านนา ให้ความสำคัญในการประยุกต์การใช้ AI กับการเรียนการสอน และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาให้กับนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพราะปัจจุบันและอนาคตทั้งการเรียนการสอน การทำงานย่อมต้องใช้ AI เรียกได้ว่าคนกับAI ต้องทำงานร่วมกัน

“มหาวิทยาลัยมีการเติมเต็มทักษะทางด้าน AI ให้แก่นักศึกษา เพราะนั่นเป็นเสมือนทักษะ Soft Skill ใหม่ ในยุคดิจิทัล ที่เด็กต้องมีติดตัว และเป็นโอกาสให้แก่เด็ก โดยปีการศึกษา 2567 นี้ จะมีการสอดแทรกทักษะAI เข้าไปในหลักสูตรต่างๆ  และมีการจัดทำ card to you ที่จะเปิดให้นักศึกษา ศิษย์เก่า อาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถเข้ามาUpskills และ Reskills และสามารถเก็บสะสมหน่วยกิต เป็นเหมือนคอร์สหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งคาดว่าจะเปิดระบบพัฒนาทักษะที่นักศึกษารุ่นใหม่ ศิษย์เก่า อาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยต้องการ ในเดือนมิ.ย. นี้”ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าว

“ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์” กล่าวทิ้งท้ายว่าเชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยต่างเพิ่มเติมทักษะ AI ให้แก่นักศึกษา แต่รูปแบบหรือแนวทางอาจแตกต่างกันออกไป เพราะข้อจำกัดของแต่ละมหาวิทยาลัย รวมถึงเงินลงทุน เนื่องจาก AI ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ในสถานศึกษาอาจจะไม่มีระบบ หรือเครื่องมือเท่าทันกับที่ผู้ประกอบการใช้ กลุ่มมทร. ได้สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมให้เด็กได้ไปเรียนรู้จากหน้างานจริงๆ ได้ฝึกปฎิบัติจริง ดังนั้น หากจะให้เด็กรุ่นใหม่มีทักษะ AI ที่ทั้งใช้เป็น ต่อยอดได้ สร้างได้ ภาครัฐอาจต้องมีนโยบายแนวทางในการสนับสนุนมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1127551


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210